‘ยอมรับและจัดการอารมณ์’ รับมือคำวิจารณ์แง่ลบด้วยแนวคิดเผชิญหน้าความตาย

คำวิจารณ์ : อารมณ์แง่ลบ

ถ้าพูดถึงคำวิจารณ์ หลายคนคงนึกไปถึงคำพูดในแง่ลบ เพราะถ้าเป็นคำพูดในแง่บวกส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นชินกับคำว่าคำชมมากว่า  โดยคำวิจารณ์ที่ผู้อื่นมักพูดถึงตัวเราหรือตัวงานที่เราทำมักทำให้เราตอบสนองแสดงอารมณ์และกิริยาในแง่ลบออกมา

เมื่อเราถูกวิจารณ์ ได้รับคำวิจารณ์ นั่นหมายถึงการถูกปฏิเสธตัวตนของเรา บั่นทอนตัวเรา โดยทั่วไปหากใครเจอถูกประเมินในแง่ลบแบบนี้ ก็คงรู้สึกประหม่าและสับสนไปหมด ทั้งร่างกายและจิตใจนอกจากคำวิจารณ์เหล่านั้นแล้ว ในหัวของเราก็คงมีแต่ความคิดวนเวียนไปหมดว่า คนพวกนั้นต้องไม่ชอบเราแน่ๆ

มนุษย์เราไม่ว่าใครก็อยากดูดีในสายตาคนอื่นเสมอ การได้รับน้ำใจจากอีกฝ่ายเพราะความประทับใจเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราก้าวหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น ได้รับการประเมินที่ดี หากข่าวลือดีๆ แพร่กระจายออกไป แม้กระทั่งคนที่ไม่รู้จักก็ยังรู้สึกประทับใจ เพราะแบบนี้คนทั่วไปเลยอยากเข้าสังคมเก่ง แม้แต่คนที่เงียบขรึมและสุขุมก็พยายามแสดงพฤติกรรมอย่างระมัดระวัง ไม่อยากให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียอารมณ์ แต่ถึงแม้จะรักษามารยาท เลือกแสดงพฤติกรรมที่ผู้คนทั่วไปชอบ แต่ท้ายที่สุดคนที่ไม่ชอบเรายังไงก็ไม่ชอบเราอยู่ดี ทั้งที่พยายามทุ่มเทขนาดนี้แล้ว แต่ยังมีคนคิดร้ายกับเรา ทำให้หัวใจยิ่งสับสนวุ่นวาย พยายามค้นหาสาเหตุว่าทำไมเขาถึงเกลียดเรา พยายามทำอะไรวุ่นๆ เพื่อหันเหความคิดไปทางอื่น

แต่เมื่อคิดว่า ‘ตอนนี้มีคนเกลียดเราอยู่’ เราก็จะรู้สึกหมดความเคารพต่อตัวเอง และเพื่อกอบกู้ความเคารพที่ตัวเองพังทลายลงและหลุดพ้นจากความคิดกังวลใจ เราจึงพยายามทำตัวให้เป็นปกติกับคนเหล่านั้น แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะถ้าความสัมพันธ์นั้นไม่กลับมาเป็นปกติ ความกังวลใจและความประหม่าจะยิ่งรุนแรงขึ้น ชีวิตของเราก็ยิ่งหดหู่ขึ้น

ในโลกนี้มีคนที่ไม่ชอบเราอย่างไร้เหตุผล ถึงแม้เราจะทุ่มเทแค่ไหนก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดที่เกลียดเราได้ เช่น บางครั้งเราเห็นนักแสดงที่เราไม่ชอบหน้า แค่เห็นหน้าเราก็อยากเปลี่ยนช่องแล้วทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากเราจะไม่ชอบใคร ไม่ถูกชะตากับใครตั้งแต่แรกพบ แม้กระทั่งตัวเรายังไม่คิดญาติดีกับคนที่เราไม่ชอบ แต่กลายเป็นว่าพวกเรากลับยึดติดกับคนที่ไม่ชอบเราเป็นพิเศษ คิดว่าถ้าพยายามก็น่าจะเปลี่ยนความคิดเขาได้ แต่ทั้งที่รู้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดความพยายามของตัวเองที่อยากเปิดหัวใจของอีกฝ่ายได้ ดังนั้น เราจึงทุกข์ใจ

เป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนบนโลกใบนี้จะชอบเรา ต่อให้พยายามแค่ไหนก็ต้องมีคนเกลียดเราอยู่ดี แต่เรากลับปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงนี้ ทั้งที่บางครั้งการยอมรับปัญหาช่วยให้เราสบายใจมากกว่าปฏิเสธมัน

รับมือคำวิจารณ์แง่ลบ : เผชิญหน้าความตาย’

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่รับมือคำวิจารณ์ในแง่ลบ คือ ลำดับขั้นทางจิตต่อความตาย หนึ่งในทฤษฎีที่โด่งดังที่สุดของอลิซาเบธ คุบเลอร์ รอสส์ (Elisabeth Kubler Ross) นักวิชาการดังผู้มีผลงานวิจัยโดดเด่นเกี่ยวกับความตาย

โดยรอสส์แบ่งลำดับขั้นปฏิกิริยาทางจิตของคนที่อยู่เบื้องหน้าความตายจากภาวะป่วยหนักหรือสาเหตุอื่นๆ ออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่ปฏิเสธ – โกรธ – เจรจาต่อรอง –  ซึมเศร้า – ยอมรับ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ คือ เมื่อคนเรารู้ความจริงว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความตาย ในครั้งแรกจะไม่ยอมรับ จากนั้นเริ่มรู้สึกโกรธ พยายามเจราจาต่อรองกับความจริงนั้น แล้วก็ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ท้ายที่สุดก็ยอมรับความจริงนั้นได้

เราสามารถนำหลกการนี้มาปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ เมื่อเรารู้ว่ามีคนไม่ชอบเราอยู่ สิ่งแรกที่เรารู้สึกคือเราจะปฏิเสธความคิดนั้น เริ่มโกรธ พยายามคิดถึงเหตุผลต่างๆ แล้วก็รู้สึกซึมเศร้า จากนั้นก็จะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

แม้ว่าเราจะวิ่งหนีไปไกลแค่ไหน แต่ความตายก็ยังตามปรากฏตัวขึ้นต่อหน้า แต่เมื่อเรายอมรับได้ ความตายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป ดังนั้น เราก็ต้องยอมรับให้ได้ว่ามีคนเกลียดเราเป็นธรรมดาอยู่แล้วเหมือนความตายนั้นแหละ แค่เราต้องยอมรับให้ได้

คนที่มักพบกับความเครียดจำเป็นต้องเปิดใจยอมรับความจริงให้ได้เพื่อปกป้องตัวเอง โดยการทำใจยอมรับให้ได้ว่ามีคนไม่ชอบเราจริงๆ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจในตัวเราได้ และไม่แปลกเลยหากเราจะรู้สึกโกรธอย่างไร้เหตุผล แน่นอนว่าคงไม่มีใครสุขใจ เมื่อรู้ว่ามีคนไม่ชอบเราอยู่ อาจรู้สึกขุ่นมัวหดหู่ ลุกลามไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งเราสามารถยอมรับอารมณ์ด้านลบแง่นี้ได้ด้วย ‘สติ’

สติและอารมณ์เป็นสิ่งที่อยู่คนละส่วน เราต้องยอมรับว่ามีคนไม่ชอบเราด้วยสติ  แต่สติไม่อาจควบคุมอารมณ์โกรธเกรี้ยวที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจกับคำวิจารณ์คืออารมณ์ ถึงแม้จะยอมรับความจริงด้วยสติ แต่อาจเป็นทุกข์เพราะอารมณ์ ต่อให้เลิกคิด บางครั้งร่างกายก็ยังตอบสนองอยู่

ที่สุดแล้วเราก็ต้องยอมรับให้ได้อยู่ดี จงยอมรับว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะถูกวิจารณ์เป็นอารมณ์ตามธรรมชาติโดยทั่วไป ไม่มีใครสามารถฝืนความรู้สึกได้อย่างแน่นอน เราต้องยอมรับและปลดปล่อยมันออกไปตามธรรมชาติ เป้าหมายของเราไม่ใช่การเก็บกดอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่คือการรู้ตัวและควบคุมมัน

เมื่อตัวเองกำลังโกรธอีกฝ่าย จงคิดว่า  “อืม ความโกรธกำลังเกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ ตอนนี้เรากำลังรู้สึกโกรธอยู่ต้องยอมรับมันไปตามธรรมชาติ”  ยิ่งเราคิดอยากควบคุมอารมณ์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะยิ่งตรงกันข้าม ท้ายที่สุดความโกรธที่เก็บไว้จะระเบิดออกมาจนเผลอแสดงอารมณ์รุนแรงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการยอมรับ เพราะเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการหลุดพ้นจากอารมณ์เศร้า เร็วกว่าหาทางกำจัดอารมณ์นี้ไปให้หมด

นอกจากนี้เราควรยอมรับให้ได้ว่าแต่ละคนรู้สึกกับเราแตกต่างกัน เมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริง ความทุกข์ใจทางอารมณ์ก็น่าจะลดลงได้ เราต้องระลึกไว้เสมอว่า “เมื่อมีคนชอบเรา ก็เป็นเรื่องปกติที่อาจจะมีคนไม่ชอบเราด้วย” ดังนั้น เมื่อถูกทำร้ายจิตใจ คนที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายไว้แล้วจะได้เปรียบกว่า และการรับมือกับคำวิจารณ์ที่ดีก็คือการจัดการกับอารมณ์อันหลากหลายที่เกิดขึ้นหลังถูกวิจารณ์

โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่หดหู่ แต่เกิดคนขึ้นกับคนที่ยอมรับความจริงไปอย่างหดหู่ ดังนั้น การจัดการอารมณ์ให้ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก

ข้อมูลประกอบจากหนังสือเราไม่จำเป็นต้องได้รับความรักจากทุกคน

เขียนโดย อีซึงมิน

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.