HEARTIST ก้าวแสนพิเศษของแบรนด์ที่มองลึกเข้าไปในตัวตนและความเท่าเทียม

“แบรนด์เราชื่อ Heartist ค่ะ ความหมายก็คือ heart บวกกับ artist เพราะเราเป็นpureheartand intuitiveart ที่มากกว่าศิลปะแแบpure art มันคือศิลปะที่มาจากสัญชาตญาณของเขา  และเราไม่มีการบังคับ ลวดลายต่างๆ ที่เห็นเกิดจากที่เขาอยากทำ มาจากใจล้วนๆ ไม่ได้บังคับเรื่องสีหรือแม้แต่เรื่องลวดลายการทอ ทอได้นิดนึง อยากไปวิ่งเล่นหรืออะไรก็ห้ามบังคับน้องกลับมาทำ ทุกอย่างมาจากธรรมชาติของเขา”

 

คุณโปสเตอร์ผู้หญิงตัวเล็กๆ เจ้าของโครงการ ‘Heartisrt’ เล่าถึงแนวคิดของโครงการให้ฟังทั้งรอยยิ้ม

 

จุดเริ่มต้นประกายความคิดนี้มาจากที่เธอได้ไปเป็นอาสาสมัครโครงการอณุโรทัย ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเด็กพิเศษ ตอนนั้นแม่เด็กในกลุ่มพูดว่าการมาทอผ้าที่นี่ทำให้ลูกของเขามีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ประโยคนี้เองที่ทำให้คุณโปสเตอร์ฉุกคิดและอยากจะทำอะไรสักอย่างให้ผู้คนได้เข้าถึงและรับรู้คุณค่าของเด็กๆ กลุ่มนี้มากขึ้น

 

เมื่อถามถึงวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าโครงการ คุณโปสเตอร์บอกว่าสิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์ของผู้ปกครองเป็นหลัก

 

“เราเชื่อว่าคนทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันหมด มีศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่พอทำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาจะทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลยถ้าผู้ปกครองไม่ช่วย ไม่เห็นคุณค่าของเขาแล้ว ใครก็ไม่สามารถช่วยได้ คือเราจะไม่รับคนที่เอาลูกมาทิ้งไว้กับเรา แค่เพราะอยากให้เราดูเด็กให้”

 

กว่าจะได้ผ้าทอสักผืน บางชิ้นใช้เวลานานถึง 6 เดือน

 

“เพราะทุกขั้นตอนขึ้นอยู่กับอารมณ์ของน้องๆ ณ ขณะนั้นบางชิ้นเล็กเกินกว่าจะเอามาทำสินค้า เราก็ไม่ทิ้ง เพราะถือว่าทุกชิ้นสวยหมดและเรารับซื้อทุกชิ้น รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ในระยะเริ่มต้น แต่ถ้าน้องๆ และผู้ปกครองคนไหนอยากสานต่อในเชิงอาชีพ จุดนี้เราก็จะให้เขาจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายกันเองแล้ว หรือถ้าคนไหนไม่มีจริงๆ เราก็ยินดีช่วยในส่วนนั้น”

 

ลวดลายและการทออาจจะไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่มันคือศิลปะที่ออกมาจากหัวใจ
คือตัวตนข้างในของน้องๆ แต่ละคน

 

การทอผ้ามันคือการบำบัดทั้งกับเขาและเรา

 

คุณโปสเตอร์เสริม เพราะยุคนี้เราใช้ชีวิตอยู่ในความวุ่นวายและความเร่งรีบ การได้เข้าไปนั่งทอผ้ากับน้องๆ จึงช่วยให้เราได้เข้าสู่ช่วงที่จิตใจสงบ ตอนแรกอาจจะมีวอกแวกไปสนใจมือถือบ้าง แต่นานเข้าก็ดีขึ้น อย่างว่ามันคือการบำบัดจิตใจให้ว้าวุ่นน้อยลง ส่วนน้องๆ ก็ได้บำบัดเรื่องสมาธิ เหมือนเรามานั่งทำกิจกรรมแบบเดียวกัน บางคนเขาไม่ได้มองหรอกนะว่าเรานั่งทอผ้าอยู่ แต่แค่ได้ทำร่วมกัน เขาก็นั่งอมยิ้มแล้ว ว่ามีคนนั่งทำบางสิ่งกับเขา

 

กระแสตอบรับเริ่มมากขึ้นเมื่อโครงการได้ออกสู่สายตาสื่อ

 

“หลังจากได้รับโอกาสจนได้ออกรายการต่างๆ ก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามามากขึ้น case ที่เราอยากแชร์ คือน้องอายุ 11 ปีที่เป็นมะเร็งสมอง อาการของเขาคือเดินไม่ได้ ขยับได้แค่ครึ่งตัว แล้วเขาเห็นเราจากรายการปากลำโพง พอได้เห็นกี่ทอผ้า แม่ของน้องเขาก็อยากให้น้องได้มีกิจกรรมทำทุกวัน แต่คือคุณแม่ของน้องเขาไม่ได้ต้องการรายได้มากอะไรนะ เขาแค่คิดว่าถ้าทำแล้วมีคนชอบสินค้าของน้อง มันจะเป็นกำลังใจให้น้องมีชีวิตอยู่ต่อไป กี่ตัวหนึ่ง มันคือกำลังใจในการมีชีวิตของคนๆ หนึ่ง”

 

 

นี่คือจุดที่ทำให้คุณโปสเตอร์เริ่มมั่นใจว่าโครงการของเธอสัมฤทธิ์ผล แต่ผลพวงเหล่านี้ไม่ได้มาง่ายดาย

 

คุณโปสเตอร์เล่าให้ฟังว่ากว่าโครงการของเธอจะเป็นรูปเป็นร่างขนาดนี้ เธอผ่านการต่อสู้ ผ่านการเดินสายออกบูธต้องผิดหวังกับกระแสตอบรับที่น้อยกว่าที่คิด และเธอโชคดีมากที่ได้รับโอกาสจากตลาดหลักทรัพย์ (SET) คือได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคม ได้รับการบ่มเพาะ ได้ไปเข้า workshop ต่อ ดังนั้นเธอจึงยิ่งให้ความสำคัญกับคุณค่าของ ‘โอกาส’ และไม่ว่าจะเป็นใคร ‘ทุกคน’สมควรได้รับสิ่งนี้

 

“เรารู้ว่าการขาดโอกาสมันเป็นยังไง จากประสบการณ์ที่เคยถูกมองข้าม ถูกมองเป็น no oneเป็นหลุมอากาศ เนี่ยมันแย่มาก กว่าจะผ่านจุดนี้มาได้รู้เลยว่าโอกาสมันสำคัญ”

 

ก้าวต่อไปของ Heartist

 

คุณโปสเตอร์เล่าในเดือนมิถุนายนนี้ตั้งใจจะทำ concept‘worth to’ ก็คือการเอาผลงานทุกชิ้นที่น้องทำได้มาแปะรวมกัน หยิบชิ้นนั้นขึ้นมาไม่ว่ามันจะยาวหรือสั้นแค่ไหน เพราะเธอมองว่าทุกผลงานที่ออกมาจากใจน้องๆ มันสวยทั้งหมด ไม่ต้องตัดแต่ง ไม่ต้องทำเพิ่ม เป็น natural ของมันอยู่แล้ว นอกจากนี้ เธอยังคิดกิจกรรมเสริมเพิ่มเติมที่สามารถร่วมกันทำได้หลายคน เช่นการย้อมสีด้ายกันเอง เพราะอยากให้เด็กๆ รู้สึกสนุกและแปลกใหม่กับกิจกรรมเหล่านั้น

 

 

 

เราอยากเป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปะแห่งความเท่าเทียม

 

“เพราะเรามองว่าสินค้าของเรา มันคือศิลปะทุกชิ้น HEARTIST ไม่ได้ขายกระเป๋า เราขายคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความเท่าเทียมของคน ให้เห็นว่าเขามีตัวตน มีคุณค่าและเขาทำได้ น้องๆ เขารู้นะเวลาที่มีคนชม เขาก็ยิ่งมีความสุขที่จะทอ มันคือความภาคภูมิใจ คือทุกอย่างที่เราอยากจะส่งต่อ เราอยากจะทำ heartist model อย่างนี้ขึ้นมาและส่งต่อไปยังจังหวัดต่างๆ”

 

สิ่งสำคัญที่อยากได้รับคือ ให้สังคมรับรู้เรื่องราวของน้องกลุ่มนี้มากขึ้น ให้คนเปิดรับและสัมผัสได้ถึงตัวตนรวมถึงความเท่าเทียมกันที่เด็กๆ กลุ่มนี้ควรจะได้รับ

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.