หาเพื่อนใหม่

หาเพื่อนใหม่ สร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคการชวนคุย เริ่มต้นบทสนทนา 

หาเพื่อนใหม่ สร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคการชวนคุย เริ่มต้นบทสนทนา 

หาเพื่อนใหม่ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงแค่คุณจริงใจ และมีความตั้งใจที่จะสร้างความสัมพันธ์ดีๆ ให้เกิดขึ้น เพียงเท่านี้คุณก็สามารถทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ได้แล้วค่ะ

 

::: สบตา และยิ้ม :::

การสร้างเพื่อนใหม่ หรือสานความสัมพันธ์ระหว่างกันคงทำได้ยาก หากคุณเขินอายที่จะส่งยิ้มให้กับเขา หรือสบตาเขาอย่างจริงใจ เพราะแม้ว่าคุณจะไม่รู้ว่าจะพูดคุยอะไร หรือจะยกประเด็นขึ้นมาเป็นบทสนทนากับเขาดี แต่แค่คุณสบตาและยิ้มให้เขา เขาก็รู้แล้วว่าคุณกำลังแสดงท่าทีเป็นมิตรให้ จะเริ่มพูดคุยอะไรกันต่อก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย และราบรื่นมากขึ้น

หาเพื่อนใหม่

::: เป็นตัวของตัวเอง:::

หลายครั้งที่คุณอาจนึกกังวลว่าจะเริ่มเปิดบทสนทนาอย่างไรดีจึงจะดีที่สุด บางครั้งถึงกับต้องคิดบทพูดมาจากที่บ้าน แต่ที่จริงแล้วต่อให้คุณฝึกซ้อมมาอย่างดีแค่ไหน สุดท้ายแล้วในสถานการณ์จริง เราไม่สามารถจะซักซ้อมเตรียมพร้อมทุกอย่างเอาไว้ล่วงหน้าได้หมด ในที่สุดคุณก็ต้องเจอกับบทสนทนาที่ไม่คาดคิด ในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงอยู่ดี

 

ดังนั้นการเป็นตัวของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เพื่อนของเราเห็นไปเลยว่าเราเป็นคนอย่างไร เขาจะได้รู้จักเราแบบที่เป็นตัวของเราจริงๆ เราเองก็ไม่ต้องเหนื่อยกับการพยายามเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา

 

::: ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด :::

เมื่อเริ่มเปิดบทสนทนาแล้ว อย่าพูดอยู่คนเดียว เปิดโอกาสให้เขาได้พูดบ้าง และเมื่อเขาพูดอะไรก็อย่าลืมตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูดด้วยเช่นกัน ให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูดเพื่อที่จะได้สามารถคุยในประเด็นนั้นต่อไปได้ ไม่มีสะดุด 

 

หาเพื่อนใหม่

 

::: ตั้งคำถามเพื่อทำความรู้จัก :::

หากคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มเปิดสนทนาระหว่างเขาอย่างไร อาจลองเริ่มจากการถามคำถามง่ายๆ ที่เขาสามารถตอบได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณพบกันในสถานที่ท่องเที่ยว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ออฟฟิศ ที่ทำงาน ฯลฯ แล้วคุณเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก หรือเพิ่งเคยเห็นเขาที่นี่เป็นครั้งแรก ลองชวนเขาคุยด้วยการถามว่า เคยมาที่นี่มาก่อนหรือไม่ ที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง ขอคำแนะนำแบบเล็กๆ น้อยๆ หรือลองเล่าให้เขาฟังสั้นๆ ว่าคุณเคยมาที่นี่มาก่อนหรือไม่ มาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ยกเรื่องดีๆ ที่เป็นแง่บวกขึ้นมาพูดคุยกัน แบ่งปันประสบการณ์หรือความคิดเห็นกันบ้างเล็กน้อย คราวนี้บทสนทนาของคุณก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วค่ะ

 

::: มองหาความชอบความสนใจของเขา :::

ใครๆ ก็ชอบพูดเรื่องที่ตนเองชอบและสนใจด้วยกันทั้งนั้น ลองมองหาสิ่งที่เขาชอบและสนใจดู หรืออาจเริ่มต้นจากการถามไปตรงๆ ว่า “คุณชอบทำอะไรในยามว่าง” “คุณสะสมอะไรบ้างไหม” “คุณชอบอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ หรือรับชมรายการอะไรบ้าง”

หากสิ่งที่เขาชอบและสนใจเป็นสิ่งที่เราเองก็ชอบและสนใจเช่นกัน คุณกับเขาก็จะสามารถคุยในประเด็นนี้ต่อไปได้อีกยาวเลย แต่ถ้าหากสิ่งที่เขาชอบหรือสนใจเป็นสิ่งที่คุณไม่รู้จักหรือไม่มีความเข้าใจเลย นี่ก็เป็นโอกาสอันดีที่คุณจะชวนเขาพูดคุยต่อ โดยอาจขอให้เขาช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าสิ่งที่เขาชอบนี้คืออะไร ดีอย่างไร น่าสนใจอย่างไรบ้าง เผื่อว่าคุณจะไปตามหา ตามอ่าน ตามดูได้บ้าง

ไม่แน่นะ คุณอาจจะฟังเขาเล่า จนตัวคุณเองก็ชื่นชอบสิ่งเดียวกับเขาไปด้วยอีกคน!

หาเพื่อนใหม่

 

::: พูดคุยต่อจากประเด็นที่กำลังคุยกันอยู่ :::

การพูดคุยเรื่องหนึ่ง แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นทันที ทำให้บทสนทนาไม่มีความต่อเนื่อง บางครั้งเพื่อนของคุณอาจกำลังคุยประเด็นหนึ่งอย่างสนุกสนานอยู่ แต่เมื่อคุณพูดตัดบทหรือเปลี่ยนเรื่องกระทันหัน อาจทำให้บทสนทนาขาดตอน เพื่อนรู้สึกไม่สนุกกับการคุย และดูเหมือนคุณไม่ให้ความสำคัญกับบทสนทนาของเพื่อน

คุณสามารถทำบทสนทนาให้ต่อเนื่อง ลื่นไหลได้ด้วยการคุยต่อจากประเด็นที่กำลังคุยกันอยู๋ เช่น หากคุณเริ่มจากการพูดคุยเรื่องภาพยนตร์ อาจพูดคุยต่อไปถึงเรื่องผู้กำกับ นักแสดง บทภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ที่ใกล้เคียงกัน ต่อเนื่องกันไป ไม่ขาดตอน

 

::: สังเกตท่าที :::

ถ้าเขาเริ่มมีท่าทีอึดอัด ไม่สนใจ หรือพยายามตัดบทการสนทนาของคุณ อย่าพยายามฝืนคุยต่อ เปิดพื้นที่ให้กับความเงียบบ้าง อย่าพยายามยื้อบทสนทนาต่อไป หรือถ่วงเวลาเอาไว้ให้นานที่สุด เพราะจะยิ่งทำให้การพูดคุยของคุณกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและดูไร้มารยาทในการสื่อสาร และอย่าถามจี้ เซ้าซี้ ซักไซ้ในเรื่องที่เพื่อนพยายามหลีกเลี่ยงไม่ตอบจนเกินไป เพื่อไม่ให้เพื่อนรู้สึกอึดอัดกับการสนทนา จนไม่อยากจะพูดคุยกับคุณอีกต่อไป

 

::: หลีกเลี่ยงประเด็นที่อ่อนไหว :::

หัวข้อการสนทนาบางประเด็นเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ซึ่งแต่ละคนมีประเด็นที่อ่อนไหวแตกต่างกัน ต้องระมัดระวังในการพูดถึง แสดงความคิดเห็น หรือหยอกล้อในเรื่องที่เพื่อนฟังแล้วไม่ขำตามไปด้วย เช่น เรื่องรูปร่าง ผิวพรรณ ฐานะทางบ้าน ความเชื่อ ศาสนา การเมือง เป็นต้น

 

::: ชมให้มากกว่าตำหนิ :::

ไม่มีใครชอบถูกตำหนิ ต่อให้เป็นการติเพื่อก่อ ติด้วยความหวังดี สำหรับคนที่ยังไม่สนิทหรือไม่รู้จักรู้ใจกันมากพอก็ต้องระมัดระวัง การกระทำที่ปลอดภัยกว่าคือ “การชม” แต่ต้องเป็นการชมที่มาจากใจจริงๆ แสดงออกด้วยสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ไม่ใช่การชมอย่างเสแสร้ง การชมที่มากเกินพอดีหรือชมในเรื่องที่เกินจริงจะทำให้คำชมนั้นดูไม่น่าเชื่อถือ เมื่อชมไปแล้ว อย่าลืมสังเกตท่าทีว่าเพื่อนของเรามีท่าทีอย่างไรต่อคำชมนั้น

 

 

::: เป็นผู้ให้ มากกว่าผู้รับ :::

หากเราแสดงท่าทีว่าต้องการผลประโยชน์จากเขา เขาจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จริงจัง ฉาบฉวย หวังผลประโยชน์จากเขา แต่ถ้าหากคุณแสดงท่าทีที่จริงใจ ไม่หวังผลประโยชน์จากเขา เต็มใจ ยินดี และอยากจะมอบสิ่งดีๆ ให้กับเขา ต่อให้สิ่งที่คุณมอบหรือเสนอให้นั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เขากำลังต้องการ แต่เขาก็รับรู้ได้ถึงความจริงใจของคุณ

หากสิ่งที่คุณเสนอให้ เป็นสิ่งที่เขากำลังต้องการ หรือกำลังสนใจอยู่พอดี เช่น ถ้าเขากำลังเครียดเรื่องงาน แล้วคุณมีกำลังใจหรือคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับการทำงานอยากช่วยแนะนำเขา อยากเห็นเขาหายเครียด อยากเห็นเขามีความสุข เขาก็จะยิ่งสนใจที่จะพูดคุยกับคุณมากยิ่งขึ้น

 

บทความที่น่าสนใจ

5 นิสัยของการเป็นเพื่อนที่ดี

6 เหตุผลสำคัญของการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา

สังเกตลักษณะ “เพื่อนร้าย” ที่ไม่ควรกลายเป็นเพื่อนรัก

5 สัญญาณเตือน จาก “เพื่อนรัก” กลายเป็น “เพื่อนร้าย”

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.