ถอดรหัสความเชื่อ คลายข้อสงสัย ทำไม “ ห้ามนอนทับตะวัน ”

ถอดรหัสความเชื่อ คลายข้อสงสัย ทำไม “ ห้ามนอนทับตะวัน ”

หลังจากสะสางภาระงานอันเหน็ดเหนื่อยวุ่นวายมาทั้งวัน เชื่อว่า หลายคนคงหมดเรี่ยวแรง อยากล้มตัวลงนอนทันทีที่ถึงบ้าน แต่ก็ต้องห้ามตัวเองเอาไว้ทุกครั้ง เพราะเคยได้ยินมาว่า การนอนช่วงเวลาโพล้เพล้นั้นไม่ดี หรือ ที่ปู่ย่าตายายกำชับนักหนาว่า “ ห้ามนอนทับตะวัน เด็ดขาด ! ประเดี๋ยวได้หลับตายกันพอดี ”

ว่าแต่ … เคยสงสัยกันไหมคะว่า ความเชื่อแบบนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้านอนทับตะวันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ … เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับการนอนทับตะวัน

จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน ต่างบอกคล้ายๆ กันว่า สาเหตุที่ห้ามนอนหลับในช่วงเวลาเย็น เลยไปจนถึงหัวค่ำนั้น เพราะเชื่อกันว่า โลกมนุษย์กับโลกวิญญาณมีเวลาแตกต่างกัน ช่วงเวลามืดของโลกนี้ เป็นช่วงเวลาสว่างของโลกนั้น และช่วงเวลาโพล้เพล้นี่เอง ถือเป็นช่วงเวลาที่โลกวิญญาณใกล้สว่าง หากเรานอนหลับ วิญญาณในร่างกายของคนเราก็จะมีสิทธิที่จะล่องลอยออกจากร่าง แล้วเผลอหลุดเข้าไปในโลกวิญญาณได้ง่าย

ฟังๆ ดูแล้วเป็นเหตุผลที่เข้าใจยาก (และทำใจให้เชื่อยาก) พอสมควร เราจึงลองค้นหาสาเหตุต่อไปจนกระทั่งพบว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่คนโบราณสั่งสอนกันมา ไม่ได้เกี่ยวกับวิญญาณออกจากร่างเหมือนที่บอกไปในข้างต้น แต่เป็นเพียงกุศโลบายสอนลูกหลานต่างหาก…

นอนทับตะวัน

ถอดรหัสความเชื่อ #1

คนเฒ่าคนแก่หลายคน เฉลยให้ฟังว่า สาเหตุหนึ่งที่คนโบราณนำเรื่องราวโลกวิญญาณมาขู่ลูกๆ หลานๆ แท้จริงนั้นก็เพื่อต้องการสอนเด็กๆ ให้รับผิดชอบงานบ้านงานเรือน ไม่ให้นอนหลับในช่วงเวลาเย็นๆ เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องช่วยกวาดถูบ้านและเตรียมอาหารไว้สำหรับรอคนในครอบครัวกลับมาจากทำไร่ทำนา เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการสอนไม่ให้ลูกหลานติดนิสัยขี้เกียจสันหลังยาวนั่นเอง

ถอดรหัสความเชื่อ #2

หากว่ากันตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว สามารถอธิบายได้ว่า โดยปกติระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายจะมีการปรับเปลี่ยนตามอุณหภูมิและแสงภายนอกตลอดเวลา หากสายตาเรามองเห็นว่าแสงเริ่มอ่อนลง (เท่ากับว่าอุณหภูมิกำลังเริ่มลดลง) สมองก็จะสั่งงานให้หลอดเลือดขยายตัวขึ้น เพื่อให้เลือดที่ส่งไปเลี้ยงร่างกายมีอุณหภูมิที่พอดี ซึ่งการหดขยายตัวของหลอดเลือดเช่นนี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นแต่ว่า หากเรานอนหลับช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ที่แสงแดดยังจ้า แล้วลืมตาขึ้นมาอีกทีตอนค่ำๆ ที่แสงเหลือน้อย ร่างกายก็ต้องรีบปรับโทนของหลอดเลือดแบบทันทีทันใด การที่เส้นเลือดขยายตัวแบบปุบปับเช่นนี้ จึงเป็นสาเหตุให้เมื่อตื่นขึ้นมาหลายคนมักจะมีอาการปวดหัว มึนงง อ่อนเพลีย ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว หรือบางคนอาจถึงกับเป็นไข้เลยก็ได้

เห็นไหมคะว่า กุศโลบายของคนโบราณแยบยลมากจริงๆ รู้อย่างนี้แล้ว หลีกเลี่ยงการนอนตอนเย็นกันเถอะนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.) / คุณหมอเกาลัด 

บทความที่น่าสนใจ

ชวนคุณมาไขข้อสงสัย ผีอำ คืออะไรกันแน่ ?

5 ตำนานและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด

คาถาปราบวิญญาณ ที่สถิตอยู่บนเก้าอี้ทำงาน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.