บังคับใจตัวเอง

ทำไมเราถึง บังคับใจตัวเอง ยากนัก

ทำไมเราถึง บังคับใจตัวเอง ยากนัก

ถาม: ทำไมเราถึง บังคับใจตัวเอง ยากจังคะ อยากปล่อยวางแต่ก็ยังคิด อยากรักษาศีลห้าให้ครบ แต่ก็มีเหตุมาทดสอบเสมอ สิ่งง่ายๆ ที่อยากทำให้ได้ทุกวันคือสวดมนต์ แต่ก็ทำไม่ได้ แสดงว่าใจเราแพ้กิเลสใช่มั้ยคะ ถึงได้ทวนกระแสยากนัก ยิ่งอยากให้ใจเป็นอย่างโน้น ทำอย่างนี้ ก็เหมือนยิ่งทวนกระแสยากขึ้น มีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้ใจหายดื้อ

 

พิทยากร ลีลาภัทร์ เจ้าของเฟซบุ๊กธนาคารความสุข (Happiness Bank) ตอบปัญหานี้ว่า

ถ้าหากง่ายโลกนี้คงมีแต่คนดีมีศีลธรรม แต่ความจริงเราก็เห็นอยู่ว่าไม่ใช่ เพราะการทวนกระแสกิเลส ก็เหมือนพายเรือทวนน้ำ ที่เหนื่อยและไม่ค่อยมีใครอยากทำ แต่ต้องทำถ้าไม่อยากโดนกระแสโลกพัดเราหายไป

พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าความดี คนดีทำง่าย คนชั่วทำยาก แต่ความชั่วน่ะ คนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก

สำหรับมือใหม่ ไม่เคยชินก็รู้สึกยากเป็นปกติในช่วงแรกๆ แต่ถ้าทำไปจนชิน เราจะรู้สึกเองว่ามันง่ายขึ้น ยากน้อยลงเพราะความเคยชินมันถูกเปลี่ยน จากไหลตามกระแสเป็นทวนกระแส

เราเคยนั่งเรือที่ใช้แรงคนพาย เขาพายไปเท้าก็บังคับหางเสือไป ดูแล้วเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความชำนาญมาก ให้เราไปพายคงไม่ง่าย แต่ถ้าเราจะฝึก มีเวลาฝึก อาจสักเจ็ดวันก็พอเริ่มพายได้ ฝึกทุกวันจนครบเดือนหนึ่งคงเริ่มชำนาญ และชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ได้ฝึก

ความชำนาญที่ว่ามาพร้อมกับความเคยชินที่จะทำอะไรสักอย่าง ความเคยชินที่จะทำสิ่งดีนี่แหละ ท่านเรียกว่า “บารมี” บารมีเป็นสิ่งที่มีพลังได้ เพราะมันพัฒนาจากอาสวะ คือความเคยชินที่จะไหลตามกระแสหลักของโลก

ปลาที่ว่ายทวนน้ำได้จึงเป็นปลาที่แข็งแรงโดยไม่ต้องมีใครสั่งหรือมีใครทำให้

พยายามเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เช่น ขอแค่ห้านาทีทุกวันในการนั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือเดินจงกรม แต่ทำไปสักระยะจนชิน พอรู้สึกดีที่ได้ทำก็อยากทำเพิ่มเวลาเอง อย่าไปเริ่มต้นด้วยการทำวันละเป็นชั่วโมงๆ เพราะจะเครียดเกินไปสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่คุ้นชิน เมื่อทำไม่ได้แล้วความรู้สึกดีที่ได้ทำก็จะหายไปหมด

การภาวนาหรือปฏิบัติธรรมต้องทำด้วยความสุข ท่านว่าการภาวนาเป็นงานประณีตเหมือนงานศิลป์ ต้องค่อยๆ ทำ เราสั่งจิตให้ดีอย่างใจในบัดดลไม่ได้หรอก ถ้าสั่งได้คงสั่งให้จิตบรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ไปนานแล้ว

เพราะอะไร เพราะจิตเป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นอัตตา จิตไม่ใช่ตัวตน เราถึงสั่งให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตามความชอบความอยากของเราไม่ได้ แต่ถึงจะสั่งจิตไม่ได้ จิตก็สามารถฝึกได้ พัฒนาขึ้นได้ด้วยสติ อย่างที่บอกไว้ให้หมั่นฝึกทำทีละน้อยทุกๆ วันก่อน

เวลาลงมือทำไม่ว่าอะไรก็ตามอย่าทำเพื่อจะเอาอะไร ให้วางใจว่าเราทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า บูชาพ่อแม่ครูอาจารย์เรา เอาตัวนี้เป็นฉันทะเป็นตัวนำ อย่าเอาโลภาะเป็นตัวนำ

จะสวดมนต์ก็สวดด้วยสติ ไม่ใช่ว่าท่องจำให้จบๆ ไป สวดมนต์ไปใจอยู่ที่บทสวดก็รู้ ใจหนีไปคิดก็รู้ ใจสบายก็รู้ ใจฟุ้งก็รู้ เมื่อทำเป็นแล้วอยู่ที่ไหนก็ทำได้ นั่งรถไฟฟ้า นั่งเรือไปทำงานก็สวดในใจ

จะเดินจงกรมก็เดินด้วยสติ คอยมีสติรู้สึกถึงร่างกายที่เดิน แปลว่าเมื่อไหร่มีการเดินที่ประกอบด้วยสติ รู้สึกตัว เห็นร่างกายเดิน มีใจเป็นคนรู้คนดู นั่นก็คือจงกรม

ส่วนสมาธินี่ต้องระวังนิดนึง ส่วนมากเราฝึกสมาธิซึมกัน ไปลองสังเกตดูว่าทำสมาธิออกมาแล้วจิตซึมหรือสว่าง จิตอ่อนโยน คล่องแคล่วควรแก่การทำงาน หรือหนักแน่น ทึบ ซึม

ถ้าทำสมาธิแล้วจิตซึม แน่น ทึบ ถึงจะนิ่งก็เป็นมิจฉาสมาธิ ให้ลองปรับแก้โดยทำสมาธิในชีวิตประจำวันแทน เช่น เมื่อไหร่ที่จิตสนใจอะไรสักอย่างเพียงอย่างเดียวอย่างต่อเนื่องแล้วจิตมีความสุขกับสิ่งนั้น นั่นแหละสมาธิจะเกิด

จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น หลักการมีเท่านี้เอง

 

ข้อมูลจาก

ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม สำนักพิมพ์อมรินทร์


บทความที่น่าสนใจ

ฝึกสมาธิในโรงเรียน ช่วยคลายเครียด+ฉลาด

ประโยชน์ 6 ประการของการสวดมนต์ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

 

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.