โกรธให้ดี

โกรธให้ดี อย่างนี้ก็มีด้วย เทคนิคการบริหารจัดการกับความโกรธ

โกรธให้ดี อย่างนี้ก็มีด้วย เทคนิคการบริหารจัดการกับความโกรธ

พูดถึงความโกรธใครๆ ต่างก็นึกว่าเป็นเรื่องไม่ดีทั้งนั้น เพราะเมื่อเรารู้สึกโกรธขึ้นมาแล้วล่ะก็เหมือนกับภูเขาไฟจะระเบิดเลยทีเดียว มองในอีกแง่นึงคนที่ไม่โกรธเลยก็พอมีอยู่บ้าง แต่กับสถานการณ์ในปัจจุบันหากอารมณ์เย็นอยู่ตลอด ก็อาจทำให้ขาดแรงกระตุ้นที่จะผลักดันในการเอาชนะสถานการณ์ที่เป็นปัญหา แล้วจะทำอย่างไรให้เราสามารถบริหารจัดการกับความโกรธ จนกลายเป็น โกรธให้ดี ได้ ลองมาติดตามกัน

ความโกรธ จะมีมากไม่หรือน้อยไปก็ไม่ส่งผลดีต่อเราทั้งนั้น ทางที่ดีควรปล่อยให้มีอารมณ์โกรธได้บ้าง แต่ไม่มากจนเกินพอดี ออกจะเป็นลักษณะของ “ความไม่พอใจ” แต่น้อยๆ พอที่จะเป็นยาชูกำลังหรือเป็นพริกป่น พอที่จะทำให้ชีวิตมีรสชาติบ้าง แล้วความโกรธที่ดีนั้นเป็นอย่างไร

1.ควบคุมได้

คำว่าควบคุมได้หมายความว่า ความโกรธนั้นต้องไม่มากจนเกินไป หากพบว่าตนเองกำลังโกรธมากไป ก็ต้องหลีกตนเองออกมาจากเหตุการณ์นั้นๆ เสียก่อน ควบคุมได้ นับว่าสำคัญที่สุด เพราะแม้ว่าจะโกรธอย่างมีเหตุผลแต่หากแสดงออกไปโดยขาดการควบคุม ก็อาจเกิดผลเสียอย่างไม่ได้ตั้งใจ การควบคุมจึงเป็นหัวใจหลักที่ต้องคำนึงถึง และสิ่งที่จะทำให้เราควบคุมได้หรือไม่นั้นอยู่ที่การรู้จักตนเอง คือรู้ว่าตนเองมีขีดจำกัดในเรื่องความโกรธเพียงไร สามารถเท่าทันตนเองว่านี่คือความโกรธที่มากเกินไปแล้ว สมควรพักสักครู่ให้เย็นลงสักหน่อย

2.มีเหตุผล

คนส่วนใหญ่โกรธในเรื่องที่ไม่มีเหตุผลหรือมีเหตุผลที่ไม่ดีนัก เช่น ขณะขับรถอยู่จู่ๆ ก็ถูกปาดหน้าอย่างกระชั้นชิด บางคนโกรธไขกระจกรถออกมาตะโกนด่า บางรายปาดหน้ากลับ บางรายชักปืนขู่ แต่ถ้าได้กลับไปทบทวนเหตุการณ์แล้วอาจจะพบว่ามีความน่าจะเป็นหลายอย่างในการถูกขับรถปาดหน้านี้ เช่น เขากำลังรีบเพราะกลัวไปทำงานสาย เขาเป็นมือใหม่ ไม่ทันได้ระวัง เขานึกว่าเราจะให้ทาง ฯลฯ จะเห็นว่ามีข้อน่าจะเป็นของเหตุการณ์มากมาย แล้วคุณเคยลองหยุดคิดถึงจุดนี้บ้างรึเปล่า

3.ก่อให้เกิดการกระทำในแง่บวก

หมายความว่าโกรธแล้วต้องไม่ทำลายตัวผู้โกรธเอง แต่จะทำให้มีแรงใจฮึดสู้หรือเกิดไฟที่จะเอาชนะปัญหาหรือคำสบประมาทของผู้อื่น เช่น ถูกสบประมาทเรื่องการเรียน เราก็ใช้แรงใจฮึดสู้ขยันอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัดจนคะแนนสอบเป็นที่น่าพอใจ คนที่ถูกดูถูกหรือยั่วให้โกรธแล้วโทษตนเอง ท้อแท้ หันเข้าหาเหล้าและยาเสพติดมีแต่จะทำให้ชีวิตของตัวเองตกต่ำลงไป

4.สามารถระบายออกไปอย่างถูกบุคคลและกาลเทศะ

ถ้าความโกรธไม่ได้ระบายออกอย่างถูกวิธีจะส่งผลเสียต่อร่างกาย เป็นที่มาของโรคเรื้อรังหลายชนิด ส่วนคนที่ระบายความเครียดผิดที่ก็จะสร้างปัญหาในการทำงานและครอบครัวได้ การระบายความโกรธทิ้งที่ง่ายที่สุดคือการออกกำลังกาย อาจไปวิ่งเร็วๆ จนเหงื่อออกก็ถือเป็นวิธีการลดความโกรธรูปแบบหนึ่ง วิธีต่อมาคือพูดระบายหรือบ่นให้เพื่อนฟัง แต่ต้องระวังอย่าให้บ่อยจนเขาเอือมระอา เทคนิคของการระบายความโกรธอยู่ที่ว่าควรระบายให้เสร็จไปในครั้งเดียว ไม่ควรขยักขย่อนหรือทำหลายครั้ง การทำเช่นนี้จะทำให้คุณเรียนรู้ว่าต้องเก็บความโกรธเอาไว้นานๆ เพื่อผ่อนออกมาเป็นระยะๆ

ในช่วงเริ่มต้นเราอาจลองมาวิเคราะห์ความโกรธครั้งก่อนๆ ดูว่า เข้าข่ายอะไรบ้าง เป็นความโกรธที่ “สมควร” หรือไม่ โกรธแล้วก่อประโยชน์ให้กับตัวเองหรือเปล่า

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือความฉลาดทางอารมณ์ โดยนพ.เทอดศักดิ์ เดชคง สำนักพิมพ์มติชน


บทความที่น่าสนใจ

7 วิธี สลายความโกรธ

โกรธอย่างไรให้เกิดปัญญา 10 เทคนิคดีๆ ในการฝึกสติละความโกรธ

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.