เจ้านายไร้เหตุผล

เทคนิคง่ายๆ สำหรับรับมือ ” เจ้านายไร้เหตุผล “

เทคนิคง่ายๆ รับมือ เจ้านายไร้เหตุผล

เราไม่ได้อาศัยอยู่บนโลกอุดมคติ ดังนั้น ในบางช่วงของการทำงาน เราอาจจะต้องตกที่นั่งลำบากจากการอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บริหารจอมเยอะ คนที่ทำงานบริหารได้ไม่ดีและ/หรือไม่น่าเข้าใกล้ ช่างโชคร้ายที่คุณไม่สามารถไล่เจ้านายที่ไร้ประสิทธิภาพหรือ เจ้านายไร้เหตุผล ออกไปได้ ถึงแม้ว่า คุณจะอยากมากแค่ไหนก็ตาม

เรามาสมมติกันว่า ถ้าคุณต้องทำงานกับผู้บริการที่รับมือได้ยากในระยะยาว คุณอาจจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมสถานการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้นมาได้ ถ้าทุกคนในบริษัทต่างก็รู้ว่าคนคนนี้ไม่น่าทำงานด้วยมากๆ แล้วทำไมทีมบริหารระดับสูงถึงปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้ดำเนินต่อไปล่ะ

ในทางกลับกัน ถ้าทุกคนในแผนกรู้สึกว่าผู้บริหารคนนี้ทำงานได้ดีมากๆ แต่คุณคือคนเดียวที่มีปัญหากับเขา นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วละ ถ้าคุณเพิ่งจะเข้ามาทำงานในแผนกนี้ คุณจะต้องใช้เวลาสักหน่อย อย่าได้รีบร้อนแสดงอาการออกไปเร็วนัก ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะหายไปเองถ้าคุณทำงานได้ดีเยี่ยมและไม่อ่อนไหวจนเกินไป คุณอาจจะได้พบว่านั่นคือสไตล์การทำงานของเขา และมันไม่ได้สำคัญอะไร

แต่ถ้าผู้บริหารของคุณสร้างปัญหาให้กับคุณและลูกทีมของคุณแล้วละก็ คุณก็ต้องทำอะไรสักอย่าง และคุณยังพอมีตัวช่วยสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้อยู่บ้าง ซึ่งบางตัวช่วยอาจจะใช้การได้ดีกว่าตัวช่วยอื่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเมืองและวัฒนธรรมภายในองค์กรของคุณด้วย

ในขั้นแรกสุด คุณควรพยายามสื่อสารกับเจ้านายตรงๆ บอกให้เขาได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อธิบายด้วยท่าทางที่เป็นมืออาชีพและประนีประนอมให้เจ้านายได้เข้าใจว่าพฤติกรรม นโยบาย และการกระทำของเขานั้นส่งผลกระทบต่อคนทำงานระดับล่างอย่างไรบ้าง โดยพูดให้เป็นไปในแง่ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ไม่ใช่โจมตีที่ตัวคน เริ่มต้นการพูดคุยด้วยคำพูดที่ให้ข้อมูลและไม่กล่าวโทษ อย่างเช่นว่า “ดูเหมือนว่าเราได้พลาดบางโอกาสที่จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น”

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้บริหารของคุณออกคำสั่งกับทีมงานของคุณแตกต่างไปจากคำสั่งที่คุณให้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งสินค้าและลูกค้าไม่พอใจ ซึ่งนั่นก็กลายเป็นความเดือดร้อนของพนักงานระดับล่าง ถึงแม้ว่าเจ้านายอาจจะไม่ชอบฟังสิ่งที่คุณบอก แต่เขาก็จะมองเห็นความตรงไปรงมาของคุณจากการที่คุณชี้ให้เห็นถึงปัญหา

พวกหัวหน้ามักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นมาเลยสักนิด พวกเขาต้องการเสียงสะท้อน คุณจึงควรต้องพูดคุยกับเจ้านายคุณอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้บอกเล่าถึงปัญหาที่จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข ถ้าผู้บริหารของคุณคิดว่าการประชุมพูดคุยแบบนี้เป็นสิ่งไม่จำเป็น คุณก็ต้องบอกเหตุผลให้ได้ว่าทำไมต้องมีการพูดคุย พยายามอธิบายให้เจ้านายเข้าใจว่า การสื่อสารกันเป็นประจำนั้นสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นได้ และยังช่วยให้ทั้งคุณและเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

อีกอย่างหนึ่ง หากคุณยังไม่มีพี่เลี้ยง คุณก็ต้องหาให้ได้สักคน คุณจำเป็นต้องมีใครในบริษัทที่เป็นที่ยอมรับนับถือและรับรู้เรื่องราวความเป็นไปทางการเมืองในบริษัทอย่างดี คุณจำเป็นต้องมีใครสักคนที่สามารถชี้แนะแนวทางให้และแบ่งปันความรู้ที่สั่งสมมานานให้กับคุณได้

แล้วถ้าคุณมีเจ้านายประเภทที่ไม่ชอบรับฟังความเห็นของพนักงานล่ะ คุณจะทำอย่างไร ตรงนี้แหละที่ความเข้าใจในเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมขององค์กรจะเข้ามามีบทบาท และพี่เลี้ยงของคุณก็สามารถช่วยได้อย่างมาก คุณอาจจำเป็นต้องให้ใครสักคนไปคุยกับเจ้านายคุณ อาจจะเป็นคนอยู่ในระดับเดียวกับเขา เพื่อนเขาที่เป็นเพื่อนคุณเช่นกันในองค์กร หรือคนในฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ได้รับการยอมรับและมีความยุติธรรม หรือคุณอาจจะต้องลองเสี่ยงข้ามขั้นไปขอให้เจ้านายของเจ้านายลงมาจัดการเองเลย แต่คุณต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า เมื่อคุณเลือกทำแบบนี้ คุณอาจจะทำลายสัมพันธภาพระหว่างคุณและเจ้านายไปตลอดกาล ซึ่งบางทีคุณก็อาจจะไม่มีทางเลือกอื่นเหลือแล้วก็เป็นได้ คุณจึงต้องทำแบบนี้เพื่อทีมของคุณหรือผลประโยชน์ของทั้งองค์กร

ยังเหลือทางเลือกสุดท้ายให้คุณเลือก นั่นคือ คุณอาจจะเลือกบอกกับตัวเองว่า “เจ้านายเป็นคนแย่มากและเธอก็แย่แบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจหรือเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเธอเลยสักคน ที่น่าอาจจะไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุดสำหรับฉันแล้วละ เพราะเจ้านายมีส่วนสำคัญอย่างมากในความสำเร็จของฉัน บางทีฉันอาจจะต้องลองหาตำแหน่งในแผนกอื่นหรือในองค์อื่นไปเลยน่าจะดีกว่า”

ขอบคุณ บทความ “วิธีรับมือกับหัวหน้า” จากหนังสือ “ยินดีด้วยครับ คุณได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแล้ว”

หากคุณกำลังอยู่ในตำแหน่งหัวหน้า หรือใฝ่ฝันจะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น สามารถอ่านเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและผู้ใต้บังคับบัญชา ได้ในหนังสือ “ยินดีด้วยครับ คุณได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแล้ว” เขียนโดย ลอเรน บี. เบลเกอร์, จิม แม็คคอร์มิค, แกรี เอส. ท็อปชิก แปลโดย ไอริสา ชั้นศิริ สำนักพิมพ์ Amarin How to สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/207462

บทความน่าสนใจ

มาวัดระดับ ความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของตัวเองกันเถอะ!

5 เทคนิค รับมือเจ้านาย ที่เป็นฝันร้ายของลูกน้อง!

แก้ไขปัญหา เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ธรรมะจาก ท่านว.วชิรเมธี

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.