พ้นทุกข์

ไม่มีถูกกับผิด มีแต่ ทุกข์กับพ้นทุกข์ – นิตยสาร Secret

ไม่มีถูกกับผิด มีแต่ ทุกข์กับ พ้นทุกข์

เรื่องดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง ใครจะ พ้นทุกข์ ได้เร็วกว่ากัน หรือ ใครจะพ้นทุกข์จากการมีมิจฉาทิฏฐิได้เร็วว่ากัน

คำถามจากผู้อ่าน

ดิฉันเป็นคุณแม่ลูกสองที่สามีนอกใจ มีผู้หญิงอีกคนค่ะ เราระหองระแหงกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ดิฉันยังไม่ยอมหย่าให้ เพราะดิฉันไม่ได้ทำผิดอะไร ตั้งแต่เกิดเรื่อง ดิฉันพยายามมีสติมากที่สุด ไม่โวยวาย ไม่ทะเลาะ ทั้งที่เป็นคนใจร้อน และเลี้ยงลูกอย่างดีที่สุด

ดิฉันมีหลักฐานทุกอย่างที่สามารถฟ้องหย่าเพื่อเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ แต่ดิฉันยังไม่ทำ เพราะตั้งใจจะให้โอกาสทั้งสองคนสำนึก กลับเนื้อกลับตัว  ตอนนี้ดิฉันพอทำใจได้ ทุกข์ที่เคยมีจึงน้อยลงมาก มีธรรมะเป็นที่พึ่ง หมั่นภาวนา แผ่เมตตาให้เขาทั้งคู่  มีความหวังว่าสามีจะตาสว่างเข้าสู่สัมมาทิฏฐิได้ในวันหนึ่ง ไม่อยากเห็นลูกๆ บอบช้ำ รวมทั้งพ่อแม่ทั้งของเราและเขาที่ต้องได้รับผลกระทบ หน้าที่การงานของทั้งสามีและผู้หญิงคนนั้นก็คงจะเสียหาย วนเป็นลูกโซ่ จึงตั้งใจให้การฟ้องหย่าเป็นทางเลือกสุดท้ายค่ะ

ปกติสามีเป็นคนรักลูกมาก แต่เขากลับบ้านบ้างไม่กลับบ้างตั้งแต่มีเรื่อง แต่ดิฉันก็ไม่เคยว่าเขาลับหลังให้ลูกฟัง แต่ลูกก็คงพอจะทราบบ้าง ผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่ม่ายลูกติดค่ะ ทราบดีว่าสามีมีครอบครัวอยู่แล้ว ดิฉันได้แต่สงสัยว่าเธอไม่ละอายใจบ้างเลยหรืออย่างไร ดิฉันอยากจะมีปัญญาในการคิดแก้ปัญหา รบกวนคุณแม่ชีได้ให้ข้อคิด เพื่อชี้ทางสว่างให้ดิฉันด้วยค่ะ

………………………………………………………….

เรื่องราวของคุณเป็นประโยชน์มากสำหรับการพยายามใช้ ‘ปัญญา’ ในการเรียนรู้กับ ‘ปัญหา’

และขออนุโมทนาที่คุณเองก็พร้อมที่จะแก้ปัญหาอย่างไม่ทำให้เรื่องกลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหาอยู่แล้ว

ถ้าคุณไม่ทำด้วยความโกรธ และตั้งใจที่จะมีสัมมาทิฏฐิกับเรื่องนี้ สัมมาทิฏฐิแรกคือคุณต้องให้อภัย การให้อภัยกับบุคคลที่อยู่ในเรื่องราวนั้นเป็นปัญญาอย่างยิ่ง ทว่าการให้อภัยโดยไม่มีการแก้ไขก็อาจไม่มีทางออกสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น

อีกหนึ่งสัมมาทิฏฐิที่ต้องมี คือการหาความเป็นไปได้ในการใช้บทบาทของแม่ที่แสดงธรรมให้ลูกเห็น และเป็นคนที่มีปัญญาในการแก้ปัญหา

ใครทำกรรมใด ผลกรรมย่อมเกิดกับผู้ที่กระทำกรรมนั้น ถ้าคุณยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ผิดศีล คุณทำกุศลกรรม คุณก็จะได้กุศลเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจ

คุณไม่จำเป็นต้องไปแตะบุคคลที่สามหรอกค่ะว่าทำไมเขาจึงไม่ละอายแก่ใจ เพราะถ้าเขามีหิริและโอตตัปปะ เขาก็คงจะละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่ทำเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว มันเกิดขึ้นแล้ว ‘การให้อภัย’ จะเท่านั้น สามารถช่วยให้คุณไม่มองเรื่องนี้อย่างหลงผิด และขอให้ยืนยันความสุจริตที่จะไม่ทำให้เรื่องนี้ให้รุนแรงขึ้นเพราะมีอกุศลในใจของคุณเป็นตัวผลักดัน

เรื่องนี้จะไม่จบแค่เพียงที่ใครถูกใครผิด ใครอยู่กับใคร หรือใครจะเป็นผู้ที่จากไป แต่มันจะมีคำถามที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือ

ใครจะพ้นทุกข์ได้เร็วกว่ากัน

ใครจะพ้นทุกข์จากการมีมิจฉาทิฏฐิได้เร็วว่ากัน

ถ้าคุณตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้อย่างคนที่มีสัมมาทิฏฐิ คุณก็ปิดประตูนรกไปเลย

ไม่ว่าสามีของคุณหรือบุคคลที่สามจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ใจของคุณก็รอดแล้ว

และคุณก็อยู่กับโลกอย่างที่โลกเป็น แต่ใจของคุณไม่เป็นทุกข์ตามไปด้วยได้

ถ้าคุณยังยืนยันว่าสามีเป็นคนรักลูก ก็ให้ใช้การเจรจากับเขาอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเขารักลูก เขาก็ต้องดูแลลูก การฟ้องร้องเป็นเรื่องของกฎหมาย กฎหมายมีไว้จัดการเพื่อความถูกต้อง แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้สร้างสำนึก คุณก็จะได้เพียงเงินเอาไว้เลี้ยงลูก แต่อาจไม่ได้หัวใจของพ่อที่รับผิดชอบลูก

กลับไปพูดกันเรื่อง ‘หัวใจ’   พูดด้วย  ‘หัวใจของแม่’ เพื่อให้ได้ ‘หัวใจของพ่อ’ ออกมาเพื่อรับผิดชอบ ‘หัวใจของลูก’ จะดีกว่าไหม

ส่วนคุณ ในฐานะที่จะใช้สัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว ก็ให้อภัยเถอะค่ะ แล้วอย่าทำอะไรเพื่อจะแลกกับอะไรที่อาจได้ความสะใจ แต่เป็นตราบาปไปตลอดชีวิตเลย


คอลัมน์ Family Issue นิตยสาร Secret

เรื่อง แม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต

ภาพ www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

“ให้” อะไรก็ไม่ดีเท่า “ให้อภัย” มาร์ก๊อต แวน สลอยท์แมน

เอาอย่างนี้ดีมั้ย บทความเพื่อ การให้อภัย โดย ครูหนุ่ย - งามจิต มุทะธากุล

บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

อายุ วรรณะ สุขะ พละ ก็ใช่ว่าจะไม่ทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

สูตรยาระงับสรรพทุกข์ สร้างสรรค์สูตรโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.