ลืมไม่ลงสักที

สิ่งที่อยากลืม ก็ลืมไม่ลงสักที จะมีวิธีทำอย่างไร?

สิ่งที่อยากลืม ก็ ลืมไม่ลงสักที จะมีวิธีทำอย่างไร?

สิ่งที่อยากลืม ก็ ลืมไม่ลงสักที จะมีวิธีทำอย่างไร? – เวลาที่ได้รับข้อมูลใหม่ๆ สมองจะจัดความทรงจำออกเป็น 2 ส่วน คือ ระยะสั้นกับระยะยาว ความจำระยะสั้นนั้นอาจคงอยู่เพียงเสี้ยววินาที หรืออยู่ไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่เรายังดึงออกมาใช้ในขณะเดียวกันข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งไปบันทึกไว้เป็นความทรงจำระยะยาวด้วย ลืมไม่ลง

ความจำระยะยาว ได้แก่ ความจำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์เช่น เราเป็นใคร ชื่ออะไร ประวัติชีวิต ฯลฯ ความจำเกี่ยวกับนิสัยหรือทักษะ เช่น ความสามารถในการขี่จักรยาน การบวกเลข หรือว่ายน้ำ และสุดท้ายคือความจำด้านอารมณ์ คนขี้ลืมส่วนใหญ่คือคนที่ไม่สามารถเรียกความทรงจำระยะยาวกลับมาใช้ได้นั่นเอง

อันที่จริง การลืม เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ คนส่วนใหญ่จำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 3 – 4 ขวบไม่ได้ ทางการแพทย์เรียกว่า การสูญเสียความจำวัยเด็ก อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่เมื่ออายุมากขึ้น ความจำจะค่อยๆ เสื่อมลง โดยเฉพาะความสามารถในการดึงข้อมูลเก่ากลับมาใช้จะลดลงมาก อย่างไรก็ดีน่าแปลกที่บางเหตุการณ์แม้เราอยากลืมใจแทบขาด แต่เรากลับไม่สามารถลืมได้

การลืมไม่ลงทำร้ายเราได้อย่างไร และมีวิธีใดบ้างที่จะแก้ไข  นายแพทย์ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ  จิตแพทย์ชื่อดัง มีคำตอบ

 

 : จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีคนไข้ที่มีเรื่องลืมไม่ลงจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาขอรับคำปรึกษาบ่อยไหมคะ

คุณหมอ : มีครับ คนเหล่านี้มักมีปมในเรื่องของความสัมพันธ์ในอดีต เช่น เคยถูกใครทำให้รู้สึกเสียใจ เจ็บใจ หรือโกรธแค้นและไม่สามารถให้อภัยได้เป็นเวลานาน อาจทำให้มีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังได้ ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า ความโกรธผู้อื่นจะหันทิศทางกลับเข้าหาตัวเองเสมอ (Turning anger against the self)

นอกจากการโกรธผู้อื่นจะส่งผลลบต่อตัวเองแล้ว การโกรธ ตัวเอง ก็เป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ที่สำคัญ ความโกรธทั้งสองกรณีอาจเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดจากการรับรู้ที่บิดเบือน เช่น คนไข้บางคนรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักตัวเอง รักพี่น้องมากกว่า แต่เมื่อไปถามพ่อแม่จะได้คำตอบว่า พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่าๆ กัน ไม่เคยคิดลำเอียงเข้าข้างลูกคนใดคนหนึ่ง แต่ความรู้สึกน้อยใจก็ได้ตกตะกอนลงในจิตใจผู้นั้นไปเสียแล้ว

 

: บาดแผลทางจิตใจส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากคนใกล้ชิดหรือคะ

คุณหมอ : โดยส่วนใหญ่ใช่ครับ แต่ก็เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกรณีของเด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศจากคนนอกครอบครัว หรือการประสบอุบัติเหตุรุนแรง แต่น่าสังเกตว่า การประสบภัยจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันจะก่อให้เกิดบาดแผลทางใจมากกว่าภัยจากธรรมชาติ พูดอีกอย่างคือ ในด้านหนึ่งคนเราสามารถสร้างความรู้สึกดีต่อกันได้มาก แต่ก็สามารถสร้างความทุกข์ใจอย่างแสนสาหัสให้แก่กันและกันได้มากด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มากๆ

 

: คนที่ไม่ยอมลืม อาจไม่เคยผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรงถึงขั้นนั้น แต่เป็นคนปกติที่ยังมีความทุกข์ติดค้างในใจใช่ไหมคะ

คุณหมอ : ใช่ครับ แต่เราไม่สามารถลืมอดีตได้หรอกครับ สิ่งที่ควรเรียนรู้คือ รู้จักการก้าวข้าม ปล่อยวางจิตที่ยึดเกาะเรื่องราวนั้นๆ การก้าวข้ามได้ถือว่าเป็นสมรรถภาพขั้นสูงของจิตใจ และเป็นภาวะของจิตใจที่เติบโตแล้ว คนที่ไม่ยอมปล่อยวางคือคนที่จิตส่วนลึกของเขาได้เลือกให้ความคิดติดลบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่น “เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น ฉันจึงเป็นทุกข์เสียใจ ฉันคงไม่มีความหมาย ฉันไม่เป็นที่รักของใคร…” ฉันจึงอย่างนั้น ฉันจึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ดีหรือไม่ดีเกิดขึ้น เขาก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่ดีก่อน และอาจมองข้ามสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นไปโดยปริยาย เรียกว่าเป็น อาการเสพติดความทุกข์ ชนิดหนึ่ง เป็นจิตใจแบบเด็กๆ ที่ไม่ยอมโต และการมองโลกแบบนี้ไปนานๆ จะบั่นทอนกำลังใจในการใช้ชีวิต กลายเป็นคนที่มีความสุขไม่เป็นทั้งๆ ที่เขามีสิทธิ์ที่จะเป็นอิสระจากความคิดติดลบเช่นนี้ และเริ่มต้นชีวิตที่สร้างสรรค์ได้ทุกๆ วันทุกๆ เวลา

อันที่จริงมนุษย์เรามีความทุกข์เป็นธรรมชาติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์เกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตใจไม่สงบ หวั่นไหว หวาดกลัว กังวล โกรธฯลฯ ทว่าเวลาที่คนเรามีความทุกข์ บางครั้งเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับทุกข์ในใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา และเพื่อที่จะเข้าใจความทุกข์ของตัวเอง คนเรามักเลือกโยนความผิดให้เหตุการณ์ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาจราจร ฯลฯ ถ้าเรายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ตัวเองมีความอึดอัดใจ คับข้องใจ เครียด หงุดหงิด ผิดหวัง ก็จะสามารถแก้ไขได้ตรงจุดและมีความสุขมากขึ้น

 

 : คุณหมอมีข้อแนะนำเบื้องต้นอย่างไรบ้างคะ สำหรับคนที่เป็นทุกข์จากความจำของตัวเอง

คุณหมอ : การแก้ที่ตัวเองเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือให้เรากลับมาสงบนิ่ง เฝ้าดูความรู้สึกของตัวเอง เยียวยาให้ตัวเองมีความสุขก่อนด้วยการฝึกบ่มเพาะความสุขสงบ มีเมตตา และฝึกมองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามความคาดหวังของเรา ความคิดสร้างสรรค์เชิงบวกจะเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลนั้นพบความสุขสงบในใจแล้ว จากนั้นให้พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมสังคมให้เขาสามารถเยียวยาแก้ไขจิตใจตัวเองได้ ด้วยการให้คำปรึกษา แนะนำอย่างกัลยาณมิตร ส่งเสริมให้ได้อบรมธรรมะตามหลักศาสนาที่เชื่อและศรัทธาเมื่อเราสงบเย็นมีความสุขจากข้างใน คนรอบข้างและครอบครัวจะสงบเย็น และขยายเป็นสังคมที่เปี่ยมด้วยสันติสุขนั่นเอง

 

หวังว่าชาว Secret จะออกจากทุกข์ได้ในเร็ววันนะคะ

 

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต


บทความน่าสนใจ

เตือนตัวเอง ในวันที่เสียใจให้กับความรัก

วิธี ช่วยสร้างกำลังใจ ให้กับคนที่กำลังผิดหวังในความรัก

True Story : สึนามิ กับความทรงจำที่ไม่มีวันลืม

5 สิ่งที่ควร เลิก เพื่อ ลืมคนรักเก่า ที่แสนเจ็บปวดแล้วก้าวเดินต่อไปอย่างเข้มแข็ง

Dhamma Daily : เลิกกับแฟนหลายเดือนแล้ว ขอ วิธีตัดใจ ให้ลืมเขาเสียที

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.