เมื่อดอกไม้บานในกาฬทวีป

เมื่อ ดอกไม้บาน ในกาฬทวีป

ดอกไม้บาน ในที่นี้คือความรักและความเมตตาที่งดงามไม่ต่างจากดอกไม้ได้เบ่งบานในกาฬทวีป ดินแดนของคนผิวสีที่่เราเรียกว่า “ทวีปแอฟริกา”

0

ผู้หญิงมักได้รับการเปรียบเทียบว่า “บอบบาง อ่อนโยน น่าทะนุถนอม” ไม่ต่างจากดอกไม้ ทว่าสำหรับมวลหมู่ดอกไม้ในดินแดนกาฬทวีปอันไกลโพ้นนั้น พวกเธอกลับมีฐานะไม่ต่างไปจาก “สมบัติ” ของผู้ชาย ที่ผู้เป็นพ่อบังเกิดเกล้าสามารถเอาตัวเธอไปให้ใครในฐานะใดและเมื่อไรก็ได้

0

ด้วยธรรมเนียมเช่นนี้ ทำให้เด็กหญิงจำนวนไม่น้อยมีโอกาสตั้งครรภ์ เร็วกว่าวัยอันควร โดยที่ผู้เป็นพ่อและสามีของเธอไม่เคยใส่ใจเลยว่า การตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยเด็กนั้นจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับเด็กหญิงมากเพียงใด

0

พวกเขารู้แต่เพียงว่า “หากเด็กหญิงหรือหญิงสาวในครอบครองเจ็บป่วยถึงขั้นกลั้นปัสสาวะ – อุจจาระไม่ได้ และไร้เรี่ยวแรงแม้แต่จะลุกขึ้นยืนหรือเดิน สิ่งเดียวที่ควรทำคือ ไล่เธอออกจากบ้าน”

0

อาการป่วยที่แปลกประหลาดและพฤติกรรมอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ คือผลพวงจากโรคเงียบอันน่ากลัวที่ชื่อว่า “ฟิสตูล่า” (Fistula)

0

ภัยเงียบนี้กำลังคุกคามหญิงสาวทั่วแอฟริกาและไม่มีทีท่าจะเบาบางลง ในที่สุดรัฐบาลเอธิโอเปียจึงว่าจ้าง แพทย์หญิงแคเทอรีนและ นายแพทย์เรจินัลด์ แฮมลิน (Dr.Catherine – Dr.Reginald Hamlim) สองสามีภรรยาซึ่งเป็นสูตินรีแพทย์ฝีมือดีจากออสเตรเลียมาประจำการที่โรงพยาบาลแห่งกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย เพื่อตรวจรักษาและฝึกสอนบุคลากรทางนรีเวชวิทยาเป็นเวลา 3 ปี

0

ขณะที่การทำงานกำลังไปได้ด้วยดี รัฐบาลกลับขอยกเลิกสัญญาจ้างทั้งหมด เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ ส่งผลให้โครงการฝึกสอนต้องปิดตัวลงทันที แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า บทบาทการเป็นหมอของแพทย์หญิงแคเทอรีนและสามีจะปิดตัวลงไปด้วย ตรงกันข้ามทั้งสองกลับมีความเห็นตรงกันว่า

0

ถ้ามนุษย์ต้องอยู่อย่างไร้ตัวตน ไม่มีคุณค่า ก็ไม่ต่างไปจากสัตว ์ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ป่วยฟิสตูล่าควรจะได้ร่างกายที่เป็นปกติ ชีวิตที่มีค่ามีความหวัง และชีวิตครอบครัวของพวกเธอคืนกลับมาเสียที

0

แพทย์หญิงแคเทอรีนและสามีจึงตัดสินใจทำงานที่เอธิโอเปียต่อไป เพื่อศึกษาอาการของโรคฟิสตูล่า ภัยเงียบที่แม้แต่การแพทย์ในแอฟริกาก็ยังไม่รู้จัก…ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมกับพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดรักษาควบคู่กันไป ไม่นานนักทั้งสองก็สามารถรักษาผู้ป่วยฟิสตูล่าได้หายเป็นปกติถึงร้อยละ 93

0

เมื่อข่าวการรักษาโรคฟิสตูล่าสำเร็จแพร่กระจายออกไปผู้หญิงเอธิโอเปียและประเทศใกล้เคียง ต่างหลั่งไหลมาที่โรงพยาบาลกลางไม่ขาดสาย จนโรงพยาบาลไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยอีกต่อไป แพทย์หญิงแคเทอรีนและสามีจึงตัดสินใจออกหาทุนสนับสนุนด้วยตนเอง เพื่อจะได้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นใหม่ให้ได้

0

ด้วยการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและการพยายามทำทุกวิถีทางของคุณหมอทั้งสอง ในที่สุด โรงพยาบาลแอดดิสอาบาบา ฟิสตูล่า ศูนย์กลางการรักษาโรคฟิสตูล่าครบวงจรก็เปิดตัวขึ้นอย่าง
เป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1974 และสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 2,750 คนต่อปี

0

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสองยังสร้างหมู่บ้านพัฒนา (Desta Mender) ขึ้นเพื่อเป็นที่พักฟื้นคนไข้หลังผ่าตัดและฝึกอาชีพ จัดตั้งวิทยาลัยผดุงครรภ์แฮมลินขึ้นเพื่อฝึกสอนบุคลากรและพยาบาลแผนกนรีเวชวิทยาอย่างครบวงจร

0

สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่ดีสำหรับ “การยกระดับคุณภาพชีวิต” ของหญิงสาวในเอธิโอเปียต่อไป

0

ปัจจุบันแม้นายแพทย์เรจินัลด์ แฮมลิน จะจากโลกนี้ไปหลายสิบปีแล้ว แต่แพทย์หญิงแคเทอรีน แฮมลิน ในวัย 86 ปียังคงมุ่งมั่นทำตามฝันของเธอและสามีต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย…ด้วยความรู้สึกที่ว่า

0

“ฉันภูมิใจที่ได้ทำงานในดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้าเลือกให้ดินแดนที่ทำให้ฉันได้รู้จักกับความหมายของคำว่า ‘ให้’…สิ่งที่มีความหมายมากกว่าสิ่งใดในโลก ยิ่งไปกว่านั้น ฉันยังหวังลึกๆ ว่าถ้าหากโรคฟิสตูล่าหมดไปจากแอฟริกา ดอกไม้แห่งกาฬทวีปจะกลับมาเบ่งบานสดใสได้อีกครั้ง”

0

ที่มา : นิตยสาร Secret ปีที่ 3 ฉบับที่ 62 (26 ม.ค. 54) หน้า 81 (ปี 2554)

คอลัมน์ : Inspiration

ผู้เขียน/แต่ง : ปาปิรัส

ภาพ : http://sayfty.com

Secret Magazine (Thailand)

0


0

บทความน่าสนใจ

มงกุฎดอกไม้ทิพย์ของเทวดากับปุโรหิตขี้โกหก

ดอกมณฑา ดอกไม้แห่งวันอัฏฐมีบูชา

ประสบการณ์ ลัด สั้น ถูก ตรง สู่การบรรลุธรรม โดย คุณเมตตา อุทกะพันธุ์

“มีเมตตา…จนมหานิยม” เรื่องเล่าของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตแห่งวัดระฆัง

ส่งความปรารถนาดี ด้วยการแผ่เมตตา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.