ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน

3 ฮีโร่ผู้ยิ่งใหญ่ ปลูกสีเขียวในหัวใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน

3 ฮีโร่ผู้ยิ่งใหญ่ ปลูกสีเขียวในหัวใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน

อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครคนหนึ่งจะตัดสินใจลุกขึ้นมา ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน แต่อาจเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เมื่อต้นไม้เหล่านั้นไม่ได้ปลูกในพื้นที่ของตนเอง หากแต่เป็นพื้นที่สาธารณะ…

 

ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน
คุณตาบุญเพ็ญ สุขเกษม

 

ความพยายามของคุณตากับบุษบาเริงระบำ

ดาวกระจาย ดาวเรือง บานไม่รู้โรย ชบา  พังพวยบานชื่น พวงแสด พุทธชาด ดอกรัก ที่เบิกบานเริงร่าอยู่บริเวณสองฟากถนนของหมู่ 3 เชื่อมหมู่ 8 ของตำบลหนองพระ จังหวัดพิษณุโลก คือฝีมือของคุณตาบุญเพ็ญ สุขเกษม คุณตาผู้มีเคียวเป็นอาวุธประจำกาย

“เห็นแล้วมันชื่นใจเนอะ…”  คุณตาบุญเพ็ญ ยิ้มกว้าง ก่อนจะเล่าว่า เมื่อก่อนคุณตาเคยเป็นลูกจ้างทำสวนที่โน่นที่นี่มาก่อน กระทั่งวันหนึ่งคิดได้ว่า ชีวิตตัวเองไม่ต่างอะไรกับขอทานที่เร่ร่อนไปมา ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ว่าแล้วคุณตาจึงหันมาปลูกผักสวนครัวจริงๆ จังๆ

“ตอนนั้นปลูกหลายอย่าง กะหล่ำปลี หัวหอม พริกหยวก…เอามาปลูกเพื่อส่งขายเข้าปากคลองตลาด สมัยนั้นแถวบ้านยังไม่มีใครปลูกผักสวนครัวขายเท่าไร เราทำก่อนเลยขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนมีเงินเก็บ หลังจากนั้นก็ซื้อนาได้ 100 กว่าไร่ เงินที่มีก็ส่งลูกเรียนจนจบ”

เมื่อลูกๆ ทำงาน คุณตาก็เริ่มมีเวลามาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างการถางป่า ขุดดินปลูกต้นไม้ จนสุดท้ายมาจบลงที่การออกกำลังกายด้วยการปลูกดอกไม้นับพันดอก…

“ปลูกดอกไม้ได้สุขภาพสองอย่าง…สุขภาพกายกับสุขภาพจิต สุขภาพกาย เราได้ความแข็งแรง เพราะออกแรงปลูกดอกไม้ตลอด ส่วนสุขภาพจิต พอได้ปลูกดอกไม้ ใจเราก็สดชื่น เบิกบาน เพราะเราชอบดอกไม้ ได้ดูแล ได้เห็นดอกไม้เติบโตขึ้นมาสวย เราก็ดีใจ

 

“ตาจินตนาการเอาไว้แล้วว่า  ถ้าตาย ทางเดินข้างหน้าของตาคงจะมีดอกไม้อยู่สองข้างทางเหมือนกับดอกไม้ที่ตาปลูกไว้สองข้างถนนนี้…

 

“ที่ตาทำนี่ ใครจะยึดเอาเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ได้นะ ต้องช่วยกันดูแล เพราะตาไม่ได้ทำให้เป็นของตัวเอง แต่เป็นของสาธารณะ ใครอยากมาดูก็ได้ มาขอดอกไม้ก็ได้ ไม่ต้องซื้อต้องขาย ตาให้ฟรีๆ”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันครู เด็กๆ จะรีบวิ่งมาเรียก“คุณตาๆ” เสียงดังที่หน้าบ้าน เพื่อขอดอกไม้ไปจัดพานหน่วยข้าราชการก็จะกริ๊งกร๊างมาขอดอกไม้ไปประดับศูนย์ราชการ ยามเมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาดูงาน

เป็นเวลากว่าสองปีที่คุณตาบุญเพ็ญลงมาดูดอกไม้ทุกวี่วัน แต่ปัจจุบันด้วยวัยที่ชราลงเรื่อยๆ  ส่งผลให้คุณตาไม่แข็งแรงเหมือนก่อน เดี๋ยวนี้จึงทำได้แค่ถางหญ้าหรือวัชพืชที่ขึ้นมารกรุงรังเท่านั้น ทว่าดอกไม้ที่คุณตาเคยปลูก ยังคงเริงระบำชูช่ออยู่เช่นเดิม ไม่ต่างกับความรักของคุณตาที่มีให้กับธรรมชาติ

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 100

ผู้เขียน/แต่ง : ณัฐนภ ตระกลธนภาส

ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี
0
ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน
คุณป้ามานี พิสูจน์

ต้อยติ่ง ความงามจากคนตัวเล็กๆ

ตลอดเวลากว่า 10 ปี คุณมานี พิสูจน์ พนักงานทำความสะอาด (กวาดถนน) ของกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตตลิ่งชัน รับผิดชอบดูแลถนนบริเวณหน้าบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) เธอไม่เพียงทำงานตามหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ยังทำให้ถนนเส้นเล็ก ๆ นี้มีสีสันสวยงามด้วยต้นต้อยติ่ง

สาเหตุที่เธอนำต้นต้อยติ่งมาปลูกทั้งที่ไม่ได้เป็นหน้าที่ ก็เพราะคิดว่าสองข้างทางริมถนนจะสวยขึ้นหากมีดอกไม้เรียงราย

ช่วงแรก ๆ ที่นำต้นต้อยติ่งมาปลูกบางจุดก็ถูกถอนออกไป เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบ ต่อมาเมื่อพบที่ดินรกร้างเธอจะถามเจ้าของพื้นที่ก่อนว่า

“ที่ดินตรงนี้ปลูกต้อยติ่งได้ไหมคะ”

ทุกวันนี้เธอมักจะได้ยินพ่อค้าแม่ค้าและผู้คนที่อาศัยอยู่สองข้างทางบอกว่า“ดอกต้อยติ่งสวยจังเลย” “ขยันจังเลย”“เอาต้อยติ่งมาปลูกหน้าบ้านด้วยได้ไหม”

ปัจจุบันคุณมานียังคงทำงานอย่างมีความสุข เธอบอกตัวเองทุกเช้าก่อนจับไม้กวาดว่า

“งานที่ทำอยู่มันง่าย ไม่ยากเลยแล้วเราก็ทำอยู่ทุกวัน แล้วมันจะมีเหตุผลอะไรที่เราจะทำให้ดีที่สุดไม่ได้ ทุกวันป้าคิดแค่นี้ คือทำให้ดีที่สุด”

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 159

ผู้เขียน/แต่ง : Ametal

ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี

 

 

ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน
คุณลุงจิตร บินหลา

 

ลุงจิตร บินหลา “คนบ้า” กวาดถนน

ทุกคนในตำบลบ้านหาร จังหวัดสงขลา รู้จักชายคนนี้ บ้างเรียกเขาว่า “หลวงจิตร” บ้าง“น้าจิตร บินหลา” บ้าง “ลุงจิตร บ้านหาร” ไม่ว่าจะเรียกเขาในชื่ออะไรก็ตาม แต่ทุกคนจำภาพชาย (เกือบ) ชราที่ก้มหน้าก้มตาใช้จอบขูดดินออกจากถนนได้ดี

“ลุงทำงานหนักมาตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะที่บ้านเป็นชาวสวนชาวนา ก่อนไปโรงเรียนเลยต้องไปนาก่อน มาโรงเรียนก็เรียนไม่เก่งเพราะไม่กล้าถามครู” นายจิตร สุวรรณชาตรี หรือ ลุงจิตร นั่งเล่าเรื่องย้อนวันวานให้เราฟัง

“โชคดีที่เก่งทางด้านวาดเขียน…พอจบ ป.4 เลยวาดหนังตะลุงไปขายตามงานวัดหาเบี้ยได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ก่อนจะเปลี่ยนไปกรีดยาง แต่พอพ่อเห็นเสื้อผ้าเลอะเทอะเลยให้เปลี่ยนไปเรียนเย็บผ้าแทน สุดท้ายเราก็เอาอาชีพเย็บผ้ามาส่งลูกเรียน” เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ลุงจิตรตัดสินใจสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คิดแค่ว่าอยากใช้ตำแหน่งนี้ช่วยเหลือคน

“ตอนนั้นไม่นึกว่าตำแหน่งนี้จะได้ค่าตอบแทน พอมารู้ว่ามีเงินให้เลยคิดว่าต้องออกแรงให้สมกับที่เขาให้…เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไปรับค่าตอบแทนมา…มันไม่สบายใจ”

เพราะเจ้าความไม่สบายที่ก่อเกิดในใจนี้เอง ส่งผลให้ลุงจิตรออกจากบ้าน เดินไปตามถนนหนทางเพื่อฟันกิ่งไม้ข้างทางที่จะเป็นอันตรายแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะเริ่มต้นจากตำบลบ้านหาร ไปตำบลบางกล่ำตำบลท่าช้าง แล้วเลยไปยังอำเภอใกล้เคียงอย่างอำเภอควนเนียงและอำเภอเมืองสงขลา

จากที่ไม่ค่อยมีต้นไม้ตามรายทาง ลุงจิตรก็จัดการปลูกมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ กล้วยและตะไคร้ ไม่เพียงเป็นที่สบายตาแก่ผู้พบเห็น แต่ต้นไม้เหล่านี้ยังช่วยลดอันตรายจากอุบัติเหตุได้ หากมีคนขับรถล้ม อย่างน้อยก็ได้ตะไคร้มารองไว้ ทำให้รถไม่หัก คนไม่เจ็บหนัก นอกจากนี้หากวัดไหนมีทอดกฐิน ผ้าป่า ก็เด็ดเอาไปทำเครื่องแกงได้ หรือมัสยิดไหนทำข้าวยำ ก็มาเด็ดเอาไปได้เช่นกัน

ลุงจิตรเริ่มสังเกตเห็นเส้นถนนสีขาวถูกดินกลบทับจนแทบไม่เห็นเส้น ซึ่งอาจเกิดอันตรายแก่ผู้สัญจรไปมาได้ จึงตัดสินใจกลับบ้านไปเตรียมอาวุธ ทั้งจอบเสียม และมีดพร้าขึ้นรถ เพื่อมาขูดเอาดินออกจากถนนแล้วโกยลงต้นไม้ข้างทาง กองแล้วกองเล่า จนผู้ใช้ถนนมองเห็นเส้นถนนสีขาวสะอาดตาตลอดเส้นทาง

“อย่าทำเลย เดี๋ยวรถเฉี่ยวชน” เหล่าผู้เป็นห่วงต่างเตือนลุงจิตรเสียงระงม แต่คุณลุงกลับตอบว่า

“ยังไงคนเราทุกคนก็ต้องตายอยู่แล้วฉะนั้นถ้าเราทำความดีแล้วต้องมาตาย ก็ไม่เป็นไร ช่างมัน…เราแค่อยากช่วยเหลือให้ถนนดูดี สะอาด ฝนตกทางน้ำไหลไม่ติดขัดเท่านั้น”

เพราะความดีของคุณลุงนี่เอง ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมา มักมอบน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ให้ ไม่ว่าจะด้วยขนม นม น้ำหรือเงินสำหรับค่าน้ำมันรถ

ลุงจิตรปันเงินที่ได้ส่วนหนึ่งไปจ่ายเงินค่าโทรศัพท์ เพื่อโทรไปยัง สวท.สงขลา ในรายการ “บินหลาหาข่าว” ทุกเช้า ก่อนแปลงร่างเป็นนักข่าวรายงานสภาพถนนหนทางไฟฟ้า สายไฟ โทรศัพท์ในชุมชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางหลวงเดินทางมาซ่อมได้ทันใจ

…ฉายา “จิตร บินหลา” จึงได้มาโดยการนี้…

“ลุงจิตรบ้าไปแล้ว” บางคนกล่าวหาลุงจิตรอย่างนั้น เมื่อเห็นเขาง่วนกวาดถนนกลางแดดจ้าตั้งแต่เช้ายันเที่ยง

“เราไม่ได้ทำชั่วอะไร ถ้าเราทำชั่ว ทำสิ่งผิดน่าอายกว่าเยอะ…ส่วนมากคนที่อ้าปากมักไม่ทำ คนที่ลงมือทำมักไม่อ้าปาก…ลุงไม่อยากเอาเวลามาอยู่เฉย ๆนั่งเล่นนั่งกินนั่งเล่าแบบเขา…เสียดายเวลา เวลามันผ่านไปแล้วเอากลับมาไม่ได้” ลุงจิตร ทิ้งท้าย

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 138

ผู้เขียน/แต่ง : ณัฐนภ ตระกลธนภาส

ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร

 

เรื่องราวของทั้งสามท่านนี้ นอกจากช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาสนใจสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยตอกย้ำประโยคที่ว่า “ไม่มีงานไหนต่ำ ถ้าทำด้วยใจสูง”

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

Lee  X Marvel Collection มูฟให้สุด มูฟไม่หยุดกับเหล่าซูเปอร์ฮีโร่

เปิดประวัติอีกหนึ่ง ฮีโร่ถ้ำหลวง Tim Acton นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาช่วยคนไทย

ใจกว้างกว่าแผ่นฟ้า! จากปากชาวนาฮีโร่ ยอมเสียข้าวเพื่อช่วย ทีมหมูป่า

ปลูกผัก ปลูกสติ “ทำสวนในใจตน” กิจกรรมดี ๆ ที่หมู่บ้านพลัม

Dhamma Daily: พักอยู่คอนโดสูง ควร กรวดน้ำ อย่างไรดี เพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.