ธรรมะจากก้นครัว ของ ขาบ – สุทธิพงษ์ สุริยะ (1)

“ความเรียบง่ายของอาหารสะท้อนความงดงามของชีวิต” แท้ที่จริงแล้ว อาหารที่อร่อยดูเรียบง่ายและแสนธรรมดานั่นแหละ คือสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตนของเราได้ดีที่สุด

แม้ผม (ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ) จะมีอาชีพเป็นฟู้ดสไตลิสท์ (FoodStylist) หรือนักออกแบบตกแต่งอาหารให้ดูสวยงาม แต่สำหรับผมการเป็นฟู้ดสไตลิสท์ที่ดีจะต้องทำงานที่สามารถตอบโจทย์ 4 ข้อได้อย่างครบถ้วน นั่นคือ หนึ่ง อาหารที่ทำออกมาต้องกินได้ สอง รสชาติต้องอร่อย สาม วัตถุดิบที่นำมาปรุงต้องดีต่อสุขภาพ และสี่ จะต้องดูสวยงาม

ผมมองว่าความสวยงามของอาหารไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย ไม่ใช่เรื่องแฟชั่น แต่ความงดงามของอาหารมาจากการเข้าใจถึงธรรมชาติของวัตถุดิบแต่ละชนิดที่นำมาใช้ ทั้งสีสัน รสชาติ รูปทรง และฤดูกาลที่วัตถุดิบแต่ละชนิดให้ดอกออกผล ดังนั้นการตกแต่งอาหารให้สวยงามของผมจึงมีหลักว่า “โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ของความเรียบง่าย คือความงดงามที่แท้จริง” อาหารที่ผมทำจะต้องสวยด้วยตัวของมันเอง สวยด้วยวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการปรุงอาหาร ต้องคงไว้ซึ่งความคลาสสิก และมีความพิเศษในตัวเอง

ปรัชญาชีวิตเริ่มต้นจาก “ก้นครัว”

กว่า 39 ปีที่ชีวิตของผมผูกพันกับการทำอาหารเหมือนดั่งลมหายใจเข้า – ออก จนวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างลงตัวผมจึงเปิดบริษัทขาบสไตล์จำกัด ภายใต้ชื่อ ขาบสตูดิโอ (KARB STUDIO) บริการรับออกแบบสร้างภาพลักษณ์ให้ธุรกิจประเภทอาหารอย่างครบวงจร อาทิ ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหาร จัดแสดงวิธีการทำอาหารในงานอีเว้นต์และงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหาร เปิดสอนหลักสูตรฟู้ดสไตลิสท์แบบมืออาชีพ ออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับอาหารทุกชนิด ฯลฯ เรียกได้ว่างานของผมคือ การทำให้อาหารมีศิลปะและรสนิยม เพื่อยกมาตรฐานสู่ความเป็นสากลนั่นเอง

ผมเป็นคนที่ทำอะไรแล้วมุ่งมั่นอยากประสบความสำเร็จ อาจเรียกว่าเป็นคนประเภท “สุดขั้ว” ก็ว่าได้ จากเด็กเรียนดี แต่เมื่อเอนทรานซ์เข้าคณะที่ต้องการไม่ได้ ผมก็บอกตัวเองว่า ต่อจากนี้ไปผมจะกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง จากนั้นผมจึงไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงคณะบริหารธุรกิจ (การตลาด) จบแล้วทำงานที่บริษัทในเครือซิเมนต์ไทยทำอยู่สองปี ผมก็ลาออกมาทำงานที่บริษัทเอเจนซี่โฆษณา ทำได้เกือบปีผมจึงลาออกจากงานประจำ มาทำงานด้านธุรกิจประกันจนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลระดับโลก ที่เรียกว่า MDRT (Million Dollar Round Table)

จะว่าไปแล้วปรัชญาในการใช้ชีวิตของผมคือ “สู้และสร้างความสุขให้กับชีวิต” ผมเข้าใจสัจธรรมที่ว่า คนเราทุกคนเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาหากใครแก้ได้ดีก็จะประสบความสำเร็จ ผมเองได้ใช้ความมานะอดทนที่ได้รับถ่ายทอดจากแม่มาเป็นแบบอย่างในการต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาที่เข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะจากความเจ็บป่วย ซึ่งครั้งหนึ่งทำให้ผมเกือบหมดอนาคต

ยิ่งขับเคี่ยวกับปัญหามากเท่าใด ผมก็ยิ่งมองเห็นว่าการใช้ชีวิตกับการทำอาหารไม่ต่างกันเลยสักนิด หลักสำคัญที่เหมือนกันคือ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” สุดท้ายคนเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรเลิศหรู สิ่งที่เรียบง่ายต่างหากคือความสุขที่แท้จริง และความสุขของผมก็เริ่มต้นจากก้นครัวนี่เอง

ตัวตนของผม

ผมเกิดและเติบโตที่จังหวัดหนองคาย แต่มีบรรพบุรุษเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ ผมไม่เคยลืมรากเหง้าของตัวเอง ผมยังคงพูดภาษาลาว ยังกินส้มตำปลาร้าได้เหมือนเดิม และยังนึกขอบคุณครอบครัวที่ช่วยหล่อหลอมความรักในการทำอาหารจนซึมซับเข้าไปถึงจิตวิญญาณของผมเพราะโดยธรรมชาติของคนลาวแล้วเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่

ผมเป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 6 คน พ่อมีอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อพืชผลทางการเกษตรและมีไร่นาให้เขาเช่า ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน ท่านทั้งสองชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ ด้วยความเป็นเด็กเมื่อพ่อแม่เข้าครัว ผมก็เข้าไปเป็นลูกมือช่วยสับนั่นหั่นนี่ และช่วยชิมอาหารจนกลายเป็นความเคยชิน บ่อยครั้งที่ผมต้องเดินตามแม่ไปจ่ายตลาด นอกจากนั้นยังมีพี่สาวซึ่งเรียนด้านอาหารโดยตรงและเปิดร้านอาหารด้วย จึงทำให้ผมคุ้นเคย รู้จักข้าวปลาอาหารที่มีตามฤดูกาล ส่วนวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ผมก็ตามพ่อไปรับซื้อพืชไร่พืชสวน นอกจากจะรู้สึกสนุกสนานตามวัยแล้ว ผมยังได้เรียนรู้ว่าฤดูกาลใดจะมีพืชชนิดไหน ผลไม้อะไรจะมีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ เพราะได้สัมผัสลองลิ้มชิมรสจนคุ้นเคย

อาจเรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมของครอบครัวทำให้ผมตกหลุมรักการทำอาหารไปโดยปริยาย เหตุการณ์ประทับใจเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ประเทศลาวเกิดสงครามกลางเมือง ราวปี พ.ศ. 2518 ตอนนั้นคนลาวจำนวนมากหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำโขงมาที่จังหวัดหนองคาย ครอบครัวของผมช่วยเหลือชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่อพยพข้ามฝั่งมาด้วยการทำอาหารเลี้ยงพวกเขา เพราะเห็นว่าเขาเดือดร้อนลำบาก อะไรที่พอจะช่วยได้ก็ทำ เรามองว่าไทย – ลาวก็พี่น้องกัน ต้องมีอาหารอิ่มท้องไว้ก่อน ส่วนจะคิดอ่านอย่างไรต่อไปก็ค่อยว่ากัน

นอกจากพ่อกับแม่จะชอบช่วยเหลือคนแล้วยังชอบทำบุญอีกด้วยตอนเด็กๆ ตั้งแต่เรียนชั้นประถม ทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน แม่จะทำอาหารใส่ปิ่นโตให้ผมนำไปถวายพระ หลังฟังพระสวดมนต์เสร็จ ผมก็จะไปโรงเรียนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ผมทำอย่างนี้สม่ำเสมอ ช่วงไหนมีงานบุญงานกฐินแม่ก็จะรับเป็นเจ้าภาพ แล้วเกณฑ์คนในบ้านทั้งลูกหลานและญาติพี่น้องให้มาช่วยกันทำกับข้าวเลี้ยงพระและคนที่มาช่วยงาน ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพ่อกับแม่เป็นสิ่งที่ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็ก จำได้ว่านอกจากที่บ้านจะมีห้องพระแล้ว ทุกวันพระผมยังต้องทำหน้าที่สอยดอกจำปาลาว (ลั่นทม) ให้พ่อ เพื่อนำไปไหว้พระในห้องพระด้วยกัน

วิถีชีวิตของผมดูเหมือนจะเรียบง่ายและมีความสุขสงบ แต่ความจริงแล้วครั้งหนึ่งในชีวิตผมเคยเผชิญกับความเป็นความตายของแม่ จนทำให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของการเป็น “ผู้ให้” มาตั้งแต่นั้น

เรียนรู้ที่จะเป็น “ผู้ให้” อย่างแท้จริง

ตอนที่ผมอายุ 10 ขวบ แม่แท้งและมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงถ้าไม่ได้รับเลือดทันเวลาแม่อาจเสียชีวิตได้ คุณหมอที่รักษาพยายามเสาะหาเลือดกรุ๊ปเดียวกันกับแม่ คือ AB หมู่เลือดพิเศษ แต่ลองเจาะจากญาติพี่น้องและคนรู้จักเท่าไรก็ไม่พบ ในขณะที่พวกเราเกือบจะสิ้นหวังแล้วนั้น มีลุงซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อเดินทางมาเยี่ยมญาติและได้ข่าวพอดี บังเอิญลุงมีกรุ๊ปเลือดเดียวกับแม่ คุณหมอจึงจัดการถ่ายเลือดให้ทันที

ภาพที่เห็นในตอนนั้นยังติดตาและฝังลึกอยู่ในใจผม…แม่นอนในสภาพที่มีเลือดเปรอะเต็มตัว มีสายยางให้เลือดห้อยระโยงระยาง นอกจากความกลัวตามประสาเด็กว่าแม่กำลังจะตายแล้ว ผมก็ได้รู้ว่าการให้เลือดสามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้ด้วย ช่างน่ามหัศจรรย์จริงๆ

ยิ่งเมื่อโตขึ้นผมอ่านหนังสือพบว่า การบริจาคเลือดเนื้อจากร่างกายของเราให้คนอื่นเป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ เป็นสุดยอดของการให้ จึงตั้งใจไปบริจาคเลือดตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่ทางโรงพยาบาลปฏิเสธเพราะอายุของผมยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (17 ปี)

อีกสองปีต่อมาผมจึงได้บริจาคเลือดเป็นครั้งแรกสมใจโดยไม่มีความกลัวใดๆ แต่กลับรู้สึกอิ่มเอิบใจ เพราะเป็นสิ่งที่ผมรอคอยอยากจะทำมานานแล้ว เมื่อได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้จึงรู้สึกมีความสุขเป็นอย่างมาก และความสุขที่ได้รับนี้ทำให้ผมตัดสินใจบริจาคเลือดทุกๆ 3 เดือนติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 22 ปี จนถึงวันนี้เป็นจำนวน51 ครั้งแล้ว

ทุกครั้งที่บริจาคเลือดผมจะคิดเสมอว่า เราอาจช่วยชีวิตใครบางคนได้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเพื่อนของพ่อได้ช่วยชีวิตแม่ไว้ และคิดต่อว่าถ้าได้บริจาคดวงตาด้วยก็คงจะดี แต่ครั้งแรกที่นำเรื่องนี้ไปปรึกษาแม่ ท่านกลับต่อต้านอย่างรุนแรง

คนไทยสมัยก่อนเชื่อกันว่า ถ้าบริจาคดวงตา ตายไปชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ แต่ผมอธิบายให้แม่ฟังว่า เราเป็นชาวพุทธ ตายไปก็ต้องเผา เมื่อเผาแล้วร่างกายสูญสลาย คนอื่นนำไปใช้อีกไม่ได้ แต่ถ้าเราตายแล้วคนอื่นได้นำอวัยวะของเราไปใช้ประโยชน์ย่อมจะดีกว่า ที่สำคัญ ผมคิดว่าไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้าหรอกครับ เพราะชาตินี้ยังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกมาก

แม่ฟังแล้วไม่ได้ว่าอะไร แต่หลังบริจาคดวงตาไปได้ไม่นาน ผมก็บอกแม่ว่าจะบริจาคตับ ไต ปอด หัวใจอีก คราวนี้ท่านเริ่มไม่เห็นด้วยมากขึ้น ผมจึงพาพ่อและแม่ไปโรงพยาบาล ไปดูว่าคนที่เจ็บป่วยต้องฟอกไตเขาทรมานแค่ไหน เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงและสัมผัสด้วยตาตัวเอง หลังรับรู้ความจริง แม่จึงเข้าใจและยินยอมด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของลูก

นอกจากจะบริจาคเลือด บริจาคดวงตา อุทิศร่างกายและอวัยวะต่างๆ แล้ว ผมยังได้นำโบรชัวร์แผ่นพับที่ให้หยิบฟรีตามโรงพยาบาลมาให้คนรอบข้างอ่านอยู่เรื่อยๆ เผื่อสักวันหนึ่งพวกเขาอาจจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้อง “ให้” สิ่งเหล่านี้

ผมเชื่อว่าชีวิตคนเรามีความไม่แน่นอน เหมือนที่ครั้งหนึ่งในวัยเบญจเพส ผมต้องต่อสู้กับโรคกล้ามเนื้อเสื่อมที่ทำให้ร่างกายเป็นกึ่งอัมพาต ต้องนอนรักษาตัวนานกว่า 3 เดือน กินยาวันละกว่า 40 เม็ด

ตอนนั้นแขนขาผมอ่อนแรง แม้แต่ใส่เสื้อด้วยตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ความฝันมากมายที่เคยวาดไว้พังทลายไปต่อหน้าต่อตา โดยที่ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.