ธนาคารจิตอาสา

ธนาคารจิตอาสา มากกว่าคำว่า “อาสา” คือ “การพัฒนาจิต”

ธนาคารจิตอาสา มากกว่าคำว่า “อาสา” คือ “การพัฒนาจิต”

จากแนวคิดสู่การปฏิบัติของ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถและคุณธีระพลเต็มอุดม 2 ผู้ก่อตั้งธนาคารจิตอาสา

หากคุณกำลังสนใจงานด้านจิตอาสา และค้นหาทางอินเทอร์เน็ตโดยใช้คำว่า “จิตอาสา” ก็จะพบเว็บไซต์ของธนาคารจิตอาสา www.jitarsabank.com อยู่ในอันดับต้น ของเสิร์ชเอนจินและเมื่อคลิกเข้าไปดูจะพบว่ามีงานจิตอาสาให้เลือกทำมากมายหากคุณสนใจช่วยงานด้านไหนก็สามารถเข้าไปฝากเวลาเพื่อทำภารกิจจิตอาสานั้น ได้

ปัจจุบันเว็บไซต์แห่งนี้มีคนสนใจฝากเวลาไว้แล้วกว่าสองล้านชั่วโมง ในขณะที่มีภารกิจที่ต้องการจิตอาสาเพียงสองแสนกว่าชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นว่างานจิตอาสากำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้คิดทำเว็บไซต์นี้คือ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ (อ.เอเชีย) และคุณธีระพล เต็มอุดม (อ.หนุ่ม) 2 หนุ่มไฟแรงจิตใจดี

ก่อนจะมาทำงานด้านจิตอาสา ขอย้อนไปถึงชีวิตในวัยเด็กของอาจารย์ทั้งสองท่านกันสักเล็กน้อยว่ามีความเป็นมาอย่างไรคะ

อ.เอเชีย :ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ ครับ มีพี่ 3 คน ผมเป็นลูกคนที่ 4 คนสุดท้อง เรียกได้ว่าผมเป็นซิตี้บอยมาก ๆตอนเด็กเรียนที่โรงเรียนเรวดี และต่อมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จากนั้นก็เข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมัยเรียนชั้นอนุบาลผมได้เป็นหัวหน้าห้อง ช่วงเรียนชั้นมัธยมได้เป็นประธานนักเรียน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นนายกสโมสรนักศึกษาดูแล้ว อ.เอเชียมีภาวะผู้นำสูงมาตั้งแต่เด็กนะคะ แล้ว อ.หนุ่มล่ะคะชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร

อ.หนุ่ม :ผมเป็นคนต่างจังหวัดครับบ้านอยู่จังหวัดนครพนม เป็นลูกคนโตและมีน้องอีก 2 คน ผมโตและเรียนที่จังหวัดนครพนมจนถึงชั้นมัธยมต้น พอชั้นมัธยมปลายก็ไปเรียนที่สาธิตมอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จากนั้นก็มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคม-วิทยาและมานุษยวิทยา การเรียนที่นี่ทำให้ผมมองเห็นพัฒนาการของสังคมในเชิงลึกและเห็นมุมมองวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคม จำได้ว่าสัปดาห์แรกของการเรียนในมหาวิทยาลัยมีรุ่นพี่ถามว่า ใครจะไปร่วมรณรงค์อะไรบ้าง เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยแรก ๆ ผมก็ไปกับเขา แต่ต่อมาผมเลือกทำงานที่ตัวเองถนัดและสนใจ คืองานด้านประชาสัมพันธ์และเป็นเหรัญญิกให้องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าของ อ.เอเชียมาสายผู้นำ ของผมก็คงเรียกได้ว่าเป็นสายซัปพอร์ต (หัวเราะ)

การที่ อ.เอเชียมีภาวะผู้นำค่อนข้างโดดเด่น ไม่ทราบว่ามีผลต่อความคิดของอาจารย์ตอนเลือกงานทำหลังเรียนจบไหมคะ

อ.เอเชีย :ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นพวกบ้าเรียนครับ และเวลาที่มีสอบแข่งขันอะไร ผมไม่เคยพลาด จนกระทั่งมีการสอบชิงทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(พสวท.) หลายคนรู้จักว่าเป็นโครงการช้างเผือกด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่งเสริมให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมเผอิญสอบได้ ทุนนี้ส่งเราเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนถึงปริญญาเอก ดังนั้นผมจึงรู้เส้นทางการทำงานของตัวเอง เพราะตั้งใจว่าเรียนจบแล้วจะกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแน่นอนฉะนั้นเมื่อเรียนจบผมก็ได้ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเวลากว่า 10 ปี

เนื่องจากเกรดตอนปริญญาตรีของผมอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ทำให้ผมไม่ต้องเรียนปริญญาโทและสามารถข้ามขั้นไปเรียนต่อปริญญาเอกได้เลย ผมเลือกเรียนคณะวนศาสตร์และสิ่งแวดล้อมศึกษาที่มหา-วิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา การเรียนครั้งนั้นระเบิดความคิดของผมจากความเชื่อเดิม ๆที่ว่าเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกสามารถอธิบายด้วยหลักการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นและการเปลี่ยนแปลงในโลกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลตัวเลข พอช่วงที่ผมกลับมาทำวิจัยที่เมืองไทย 2 ปีโดยได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาทำวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นโดยให้ครูและนักเรียนในท้องถิ่นนั้น ๆ สร้างความรู้ด้วยตนเองโดยใช้ความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ผมมีโอกาสได้ไปที่จังหวัดบุรีรัมย์โดยไปใช้ชีวิตอยู่กับปราชญ์ชาวบ้านซึ่งมีรากวัฒนธรรมของชนบทไทยที่ลุ่มลึก ทำให้ผมมีมุมมองชีวิตและความคิดที่เปลี่ยนไป เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชักชวน ให้โอกาสผมมาทำงานเรื่องส่งเสริมสุขภาวะและการพัฒนาจิตก็ยิ่งทำให้ผมได้มุมมองใหม่ ๆ

ตอนนั้นเป็นโอกาสที่ทำให้ได้เจอกับ อ.หนุ่มด้วยแล้วมุมมองในการเลือกงานของอ.หนุ่มเป็นอย่างไร

อ.หนุ่ม :เรื่องงานผมจะต่างจาก อ.เอเชียตรงที่อาจารย์รู้ว่าจบมาแล้วทำงานอะไร แต่ผมไม่รู้ว่าตัวเองจบมาแล้วจะทำงานอะไรดีดูจากรุ่นพี่ที่เคยทำงานในองค์การนักศึกษาฯว่าเขาไปทำอะไรกันบ้างก็พบว่า เมื่อจบจากคณะนี้เราสามารถทำงานได้หลากหลายมาก ผมจึงเลือกไปสมัครงาน 3 ที่ มีทั้งงานขาย งานนักข่าว และงานบุคคล ผมเลือกทำงานบุคคลระหว่างทำงานผมก็เรียนต่อปริญญาโทเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและสวัสดิการที่คณะสังคม-สงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ได้เปิดโลกการทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น จากนั้นก็ไปทำงานด้านการขายและการตลาดจนมีโอกาสเปลี่ยนงานอีกครั้งโดยมาทำเรื่องการพัฒนาจิต จึงได้มาร่วมทีมกับ อ.เอเชีย

อยากให้ช่วยอธิบายว่าการส่งเสริมสุขภาวะเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาจิตอย่างไรคะ

อ.เอเชีย :แนวคิดนี้มาจาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งท่านทำงานด้านนี้อยู่ครับ ท่านชวนว่าให้เรามาทำเรื่องพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพกันเถอะซึ่งผมมองว่าการทำงานเกี่ยวกับเรื่องด้านในมันเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แต่เป็นเรื่องที่ควรจะทำเพราะการพัฒนาจิตไม่ได้มีบริบทเกี่ยวกับเรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับคนทั่ว ๆ ไปด้วย ตอนนั้นเราตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งมีผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเช่นพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ศ.ดร.เอกวิทย์ ณ ถลางและอีกหลาย ๆ ท่านมาประชุมหารือกันทุกเดือนกลุ่มเราเชื่อว่าวิกฤติของโลกในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องวัตถุหรือเทคโนโลยี แต่เป็นวิกฤติทางจิตใจ ทางจิตวิญญาณ และวิธีที่จะออกจากปัญหาคือ การทำให้คนเปลี่ยนแปลงเติบโตทางจิตใจ ที่เราเรียกว่าจิตวิวัฒน์หรือการพัฒนาจิต

อ.หนุ่ม :ตอนที่รู้ว่ามีโปรเจ็กต์นี้ หากเขาบอกว่าจะพัฒนาจิตโดยการเอาธรรมะเข้าสู่สังคม ผมอาจจะปฏิเสธไม่ทำ แต่พอมองว่าการพัฒนาจิตเป็นเรื่องที่ทำได้กับทุกคน คือทุกคนมีโอกาสพัฒนาจิตของตนเองให้ดีขึ้นได้หมดโดยไม่จำกัดเฉพาะคนที่มีปัญหาและสิ่งที่สำคัญคือมันทำได้หลายช่องทางหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา การใช้ศิลปะ การสนทนา หรือการทำงานจิตอาสาซึ่งถือเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนนุ่งขาวห่มขาว ผมจึงรู้สึกว่า นี่ละคือสิ่งที่เราทำได้ และพอเข้ามาทำแล้วก็ไม่ได้ผิดจากความคาดหวังเลย เพราะทำให้ทุกคนมีช่องทางในการพัฒนาจิตด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความสนใจของตนเองโดยไม่มีข้อจำกัด

จากแนวคิดนี้นำมาสู่การตั้งธนาคารจิตอาสาใช่ไหมคะ

อ.เอเชีย :ด้วยความเข้าใจวิกฤติของโลกในปัจจุบันว่ากำลังเผชิญปัญหาในเชิงจิตวิญญาณ เราจึงคิดว่าถ้าจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นจะมีวิธีเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไรบ้าง เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างความสุขภายในจิตใจอันหมายถึงการมีชีวิตอย่างมีความสุขอันประณีต เข้าถึงความดีงามของชีวิต เราพบว่าการจะเข้าให้ถึงความสุขเช่นนี้ได้มันเข้าได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยทำให้เรามองเห็นว่าตัวเราเป็นเพียงแค่ชีวิตเล็ก ๆ อันจะนำไปสู่การละอัตตาตัวตน เป็นต้น และช่องทางที่เราตัดสินใจเลือกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาจิตก็คืองานอาสาสมัคร เพราะเป็นงานที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย และสามารถแตกแขนงออกไปให้ครอบคลุมความสนใจของคนในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเกษตรงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน งานเกี่ยวกับสตรีผู้สูงอายุ และครอบครัว งานเกี่ยวกับผู้พิการงานด้านศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ดนตรีกีฬา นันทนาการ และอื่น ๆ เป็นต้น

จุดประสงค์หลักก็คือ ผมอยากให้คนที่เข้ามาทำงานอาสาทุกคนได้พัฒนาจิตของตนเองไปด้วย ไม่ใช่แค่ได้ทำงานเสร็จ เช่นการไปอาสาปลูกป่า ก็ขอให้เขาได้ปลูกต้นไม้ในใจตนเองด้วย หรือถ้าอาสาสร้างบ้านดินก็อยากให้เขาได้สร้างความมั่นคงแข็งแรงสร้างกำลังใจให้กับจิตใจของตัวเองด้วย ซึ่งช่วงที่เราทำโครงการนี้คือประมาณปี พ.ศ. 2546ซึ่งเป็นช่วงที่งานอาสาในเมืองไทยกำลังอยู่ในจุดที่ตกต่ำที่สุด เพราะขณะนั้นคนมองว่าคนที่ทำงานอาสาเป็นคนโง่ ไม่รู้จักดูแลตัวเองมัวแต่เอาเวลาไปให้คนอื่น เรารู้สึกว่าเราต้องให้ภาพ (rebranding) งานอาสาสมัครเสียใหม่ เราจึงคิดคำใหม่ขึ้นมา คือคำว่า “จิตอาสา” เพราะเห็นว่ามันมีความสอดคล้องที่จะทำให้คนเข้าใจว่า เมื่อทำงานอาสาก็จะได้พัฒนาจิตไปด้วย นอกจากนี้การที่ธนาคารจิตอาสาได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ก็เท่ากับเราได้รับความสนับสนุนจากคนทั้งประเทศเพราะเป็นเงินภาษีของประชาชน เราจึงตั้งใจทำโครงการนี้ออกมาให้ดีที่สุด

ความคิดในการทำออกมาให้เป็นธนาคารฝากเวลามีความเป็นมาอย่างไรคะ

อ.หนุ่ม :ความคิดนี้เกิดมาจากการเรียนรู้ที่เราได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องครับเพราะเราเห็นว่า เรื่องงานจิตอาสาและอาสาสมัครยังขาดสื่อกลางที่จะช่วยให้คนที่สนใจทำงานจิตอาสากับงานที่ต้องการอาสาสมัครมาเจอกัน เราจึงคิดว่าควรมีระบบที่เป็นตัวกลางรองรับเหมือนตลาดนัดออนไลน์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้และสมัครทำงานได้ทันทีและสิ่งสำคัญที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาจิตก็คือเรื่องเวลา ที่ทำให้เห็นว่าคนเรามีเวลาเท่ากันคือ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเพศไหนหรืออายุเท่าไหร่ เราต่างมีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และการที่ใครสักคนเอาเวลาที่มีค่ามาฝากเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีคนอีกเยอะแยะมากมายที่ตั้งใจทำความดี มันเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าในประเทศของเรามีความหวังเสมอเพราะฉะนั้นคำว่าธนาคารจิตอาสาก็คือแหล่งรวมเวลาที่บอกถึงต้นทุนทางใจในสังคมของเรา เป็นต้นทุนของพลังใจ ต้นทุนทางจิตวิญญาณของสังคมที่พร้อมจะช่วยเหลือกันในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาตนเองด้วยครับ

อาจารย์ทั้งสองได้อะไรจากการทำงานนี้คะ

อ.หนุ่ม :สิ่งที่เราได้คือการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน ได้เห็นโลกดีขึ้นเห็นคนมีชีวิตดีขึ้น จากชีวิตที่ดูเหมือนเกือบจะสิ้นหวังก็กลับมาเดินหน้าต่อได้ เห็นเครือข่ายของเพื่อนและคนรู้จักมีพลังเข้มแข็งขึ้น ผมคิดว่าในโลกนี้คงหางานที่จะทำให้พบสิ่งเหล่านี้ได้น้อยมาก งานพัฒนาทักษะต่าง ๆ เราอาจหาได้จากที่อื่น แต่งานพัฒนาจิตที่เอื้อให้เราทำเพื่อผู้อื่นหาได้ยาก เมื่อเราได้เห็นสิ่งเหล่านี้ก็เหมือนเราได้รางวัลชีวิต ไม่เฉพาะผมเท่านั้นแต่เป็นรางวัลชีวิตสำหรับทุกคน

อ.เอเชีย :ผมก็คิดคล้าย ๆ กัน เปรียบได้กับเราเปิดร้านอาหาร โอกาสหนึ่งของคนทำร้านอาหารคือได้ชิมอาหารที่ตัวเองปรุงขณะเดียวกันก็ได้บริการผู้อื่น เช่นเดียวกันถ้างานของธนาคารจิตอาสาเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้พัฒนาจิต ผมก็มีโอกาสได้มีประสบการณ์เช่นนั้น เพราะถ้าจะเจาะเรื่องการพัฒนาจิตให้ลึกลงไปสักหน่อยก็หมายถึงการได้ขัดเกลาฝึกฝนตนเองขณะเดียวกันก็ได้ช่วยผู้อื่นโดยไม่ตัดสินเขา

การชวนคนอื่นให้ทำงานจิตอาสาทำให้เรามีโอกาสทบทวนตัวเองจากการที่เราได้พบอาสาสมัครมากหน้าหลายตา แม้เขาจะสมัครผ่านระบบดิจิทัล แต่เมื่อมีโอกาสได้พบเจอตัวจริง ๆ ก็ทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ได้รู้ว่างานนี้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาอย่างไร ชีวิตเขายากลำบากอย่างไร ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตเขาเป็นอย่างไร คือเราได้สัมผัสทั้งที่เป็นความสุขและความทุกข์ในชีวิตของคนเหล่านั้น ทำให้รู้ว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่จะคอยสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันนี่แหละครับที่เป็นโอกาสทำให้เราได้รู้จักตัวเองขัดเกลาตนเอง ได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับโลก ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ในชีวิตที่มีโอกาสได้ทำงานนี้

 

เมื่อลงมือทำงานด้านนี้ ไม่ทราบว่าเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างคะ

อ.เอเชีย :อุปสรรคที่แท้จริงคือความคาดหวังของเราเอง เช่น เราอาจไปทำงานอาสาแล้วพบว่า คนไทยไม่มีระเบียบวินัยยกเลิกงานโดยไม่แจ้ง หรือไปทำงานแล้วขอกลับก่อน นี่คือปัญหาที่หลาย ๆ คนเจอซึ่งเขาบอกว่ามันคืออุปสรรค แต่ถ้าเราเข้าใจรากวัฒนธรรมว่าทำไมสังคมเราจึงเป็นเช่นนี้เราก็จะไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาหรืออุปสรรคอะไร แต่มันเป็น “เช่นนั้นเอง” ในด้านหนึ่งเมื่อเราเข้าใจคนอื่น อีกด้านหนึ่งเราก็จะเข้าใจตนเอง เมื่อเราเซ็ง โมโห โกรธหรือคาดหวัง เราก็จะรู้เท่าทันว่ามันเกิดจากความคาดหวังของเราเอง ทำให้เราทำงานเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างแจ่มใส นี่คือผลพลอยได้จากการเข้าใจคนอื่นและนำมาขัดเกลาตนเองที่ทำให้เรามองเห็นว่าจริง ๆ แล้วปัญหาทั้งหลายทั้งปวงมันเริ่มจากตัวเราที่เข้าใจโลกคลาดเคลื่อน จึงทำให้มองตัวเองคลาดเคลื่อนไปด้วย ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้เราก็จะรู้ว่าควรปรับตัวเองให้เข้ากับโลกความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

อาจารย์คิดว่างานอาสาสมัครสอดคล้องกับมุมมองในพระพุทธศาสนาอย่างไรคะ

อ.หนุ่ม :ผมนึกถึงพรหมวิหาร 4

อ.เอเชีย :ผมก็นึกถึงเหมือนกัน (หัวเราะ)

อ.หนุ่ม :เหตุผลคือ เวลาที่มีงานจิตอาสาเพื่อไปช่วยเหลือคน มันจะอยู่บนพื้นฐานของเมตตาและกรุณา แต่พอถึงเวลาไปช่วยจริง ๆ มันต้องมีมุทิตาและอุเบกขาด้วย โดยเฉพาะเรื่องมุทิตานี่เป็นธรรมะที่ท้าทายมาก เป็นธรรมะขั้นสูงอีกขั้นหนึ่งเช่นเราอาจมีงานอาสาที่เราอยากไปช่วยแต่พอไปถึงกลับมีคนช่วยอยู่แล้ว เราจะมีวิธีวางใจอย่างไร หรืออย่างมีเคสช่วยสุนัขโดนรถชนที่มีคลิปออกทีวีมีชื่อเสียงโด่งดังเราทำเหมือนกันแต่ไม่ได้ออกทีวี อย่างนี้เราจะทำใจอย่างไรที่จิตจะไม่ตกไปสู่ความอิจฉาและชื่นชมในกุศลที่คนอื่นทำ

เรื่องอุเบกขาก็เหมือนกัน เช่นเราไปช่วยคนที่กำลังลำบาก แล้วช่วยได้ไม่เต็มที่ก็ทำให้เราเป็นทุกข์ มันเป็นเรื่องวางใจได้ยากคือเราต้องดูแลจิตใจของตัวเราเองด้วยให้มีความสมดุล มั่นคง ไม่หวั่นไหวเมื่อรู้ว่าสิ่งที่เราอยากช่วยนั้นเกินความสามารถ เกินกำลังของเรา

อ.เอเชีย :ผมขอเสริมว่า ในการทำงานแต่ละอย่างเพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีก็ต้องอาศัยอิทธิบาท 4 ด้วย คือเราต้องมีฉันทะวิริยะ จิตตะ และวิมังสา คือมีความตั้งใจจดจ่อเอาใจใส่ว่าจะพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร และศึกษาดูเหตุและผลว่าทำไมงานจึงสำเร็จ อีกอย่างเราต้องรู้หลักอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มี จึงมีสิ่งนี้เกิดขึ้นเราต้องทำงานตามเหตุปัจจัย ไม่คาดหวังกับผลที่จะได้รับ และมีโยนิโสมนสิการตรึกตรองพิจารณาอย่างแยบคายและละเอียดถี่ถ้วนด้วยเหตุและผล เวลาเราทำงานอาสาเราจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ชุดนี้อยู่ เพียงแต่เวลาที่เราคุยกับคนอื่น เราจะใช้ภาษาธรรมดาโดยไม่ได้บอกว่ากำลังสอนเรื่องศาสนาให้เขา

รู้สึกอย่างไรที่ธนาคารจิตอาสามีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้น

อ.เอเชีย :ผมมองว่าสังคมให้โอกาสเราในการพาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของเขา ผมรู้สึกว่ามันเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของชีวิต มีคนจำนวนมากที่อยากทำอะไรดี ๆ ให้สังคม แต่จะมีสักกี่คนที่สังคมให้โอกาส และเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างความสุขภายในจิตใจกลับคืนให้คนในสังคม ซึ่งก็คือการทำเพื่อผู้อื่น มันพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณทำอะไรเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน คุณจะได้ความสุขกลับมา คุณจะรู้สึกถึงการระลึกคุณรู้สึกขอบคุณคนรอบข้าง ขอบคุณที่สังคมยังมีโอกาสและมีสิ่งดี ๆ ให้ทำ รู้สึกขอบคุณตัวเองที่ได้มีโอกาสมอบความรู้สึกดี ๆ สิ่งดี ๆ ให้คนอื่น มันเป็นความสุขง่าย ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยเงินทองซื้อหา แต่ว่าสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง

อ.หนุ่ม :ผมมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งคือช่วงปีใหม่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากช่วงหยุดยาวและเปิดทำงานวันแรก ระหว่างนั่งประชุมกันอยู่ ก็มีเสียงออดดังขึ้น เราก็คิดว่าเราไม่ได้นัดใคร พอเปิดประตูออกไปก็พบคุณน้าท่านหนึ่งถามเราว่าที่นี่ธนาคารจิตอาสาหรือเปล่า เราก็งงเพราะปกติเราทำงานออนไลน์ ไม่มีใครมาที่นี่ แต่ปรากฏว่าคุณน้าบอกว่าจะมาหางานอาสาทำ วันนี้คือวันแรกของการเกษียณอายุของท่าน ซึ่งผมว่านี่แหละคือบทบาทของชีวิตที่สำคัญ เพราะหลาย ๆ คนหลังเกษียณย่อมวางแผนว่าเขาจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร การที่คุณน้าเจาะจงมาหาเราเพื่อจะได้ทำงานอาสาจึงเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก

คุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานอย่างอาจารย์ทั้งสองมีอะไรบ้างคะ

อ.เอเชีย :จริง ๆ แล้วมีคุณสมบัติอยู่หลายข้อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่เขาต้องเห็นความสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเติบโตของตัวเอง เป็นการใช้ชีวิตเพื่อทำงานช่วยเหลือคนอื่นและดูแลตัวเองได้ คุณจะได้เห็นทั้งสิ่งที่ดีงามและไม่ดีงามในตนเองในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกชื่นชมแง่มุมที่ดีงามที่เกิดขึ้นในตัวเอง การทำงานตรงนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเห็นโลกมามากกว่าคนอื่น เพราะเมื่อเขาได้เข้ามาทำก็จะได้เรียนรู้และเห็นโลกมากขึ้นด้วยตัวเอง

อ.หนุ่ม :อีกอย่างที่สำคัญคือ เขาต้องมีความพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้ เพราะการไม่เปิดใจทำให้เขาอยู่ยาก เขาต้องรู้จักการให้คุณค่าความสำคัญและสนใจอย่างแท้จริง

อยากฝากอะไรถึงคนที่ทำงานจิตอาสาบ้างคะ

อ.หนุ่ม :ความตั้งใจดี ความหวังดีของเขามีค่ามาก จึงอยากให้รักษาเอาไว้ การเป็นจิตอาสาไม่จำกัดแค่เพียงว่าฉันต้องให้ต้องดูแลช่วยเหลือคนอื่นเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมไปถึงการชื่นชมคนอื่น ชื่นชมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเกินกำลังที่จะทำได้ การวางใจให้เป็นถือเป็นธรรมะอีกข้อหนึ่งของการเป็นจิตอาสา เพราะบางทีถ้าไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจก็ทำให้เกิดการทะเลาะกันขึ้นมาง่าย ๆ อย่างเช่นการไปทำสวน คนอยู่กลางแดดก็บ่น คนอยู่ในร่มก็สบาย ทำให้ทำงานไปด้วยความเครียและไปกดดันอาสาสมัครคนอื่น ๆ ทำให้ไม่เข้าใจกัน

อ.เอเชีย :ผมอยากให้มองว่า การมาทำงานอาสาคือการให้โอกาสตัวเอง ทำให้เข้าใจตนเอง เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตและธรรมชาติ เพราะสิ่งที่ได้มันไม่ใช่ความสุขแบบผิวเผิน แต่คือการขัดเกลาตนเอง เรียกว่าให้งานอาสาช่วยพัฒนาจิตอันเป็นเป้าหมายสูงสุดนั่นเอง

หากวันนี้คุณยังต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมวัตถุนิยมที่วุ่นวายจนลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาจิตใจของตนเองให้มีความสุขธนาคารจิตอาสาก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบเพื่อการสร้างสุข

ขอแค่เพียงคุณมีเวลาและมีใจ ความสุขของการได้ให้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม 


ที่มาจากนิตยสาร Secret เรื่อง ธันยาภัทร์ รัตนกุลภาพ วรวุฒิวิชาธร


บทความที่น่าสนใจ

ความสุขจากคำขอบคุณ บทความที่คนกำลังเหนื่อยล้าจากการทำงานควรอ่าน

วิธีรับมือ จัดการ และอยู่ร่วมกับ เพื่อนร่วมงาน นิสัยไม่ดี เพื่อการทำงานที่มีความสุข

มีแฟนแล้วทุกข์ ความสุขอยู่ตรงไหน? เก็บมุมคิดจาก พศิน อินทรวงค์ (ชมคลิป)

ความรัก และสุขที่แท้ ข้อคิดจาก วิลล์ สมิธ คนที่ทำให้คุณมีความสุข

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.