ดร.เทวฤทธิ์

พลิก “ชีวิตติดลบ” เป็นพลังสู่ “ความสำเร็จ” ดร.เทวฤทธิ์ สะระชนะ

พลิก “ชีวิตติดลบ” เป็นพลังสู่ “ความสำเร็จ” ดร.เทวฤทธิ์ สะระชนะ

ต้นทุนชีวิตของคนเราไม่เท่ากัน” เราคุ้นเคยกับคำพูดนี้ดีแต่สำหรับ ดร.เทวฤทธิ์สะระชนะอาจารย์ประจำภาควิชาเคมีคลินิกสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยมีต้นทุนชีวิต “ติดลบ” เข้าใจคำนี้อย่างลึกซึ้ง

ในวัยเด็กเขาเคยผ่านชีวิตลำบากถึงขั้นไม่มีเงินเรียน เป็นเหตุให้ชีวิตดำดิ่งสู่ความมืดมน สิ้นหวัง ไร้คุณค่า จนไม่อยากมีชีวิตอยู่

เบื้องหลัง “ความสำเร็จ” ของนักเรียนทุนภูมิพลและอาจารย์ที่จบดอกเตอร์จากอเมริกาผู้นี้ไม่ได้มาง่าย ๆ อย่างใครคิดเรื่องราวการต่อสู้กับความยากลำบาก ไปจนถึงการต่อสู้กับจิตใจตัวเองของเขา คงเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจให้คุณได้

ทราบว่าจุดพลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก เรื่องราวเป็นอย่างไรคะ

ตอนเด็ก ๆ จำความได้ว่า ครอบครัวของผมฐานะค่อนข้างดี คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจเสื้อผ้า มีร้านใหญ่โตอยู่ที่ประตูน้ำชีวิตความเป็นอยู่ของลูกทั้งสามคนคือผมซึ่งเป็นลูกคนเล็ก และพี่สาวอีกสองคนก็สบายแต่ละคนมีพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแล นี่คือภาพที่ผมจำได้

พออายุได้สัก 5 ขวบ คุณพ่อเริ่มติดเหล้า ทำร้ายคุณแม่ และพาภรรยาใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน คุณแม่ต้องพาผมและพี่สาวหนีไปนอนที่ห้องพระ คืนหนึ่งขณะที่เรากำลังนอนกันอยู่ คุณพ่อก็เข้ามาตีคุณแม่หนักมากครั้งนั้นพี่เลี้ยงกันตัวผมไว้ไม่ให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผมก็ได้ยินเสียงด่าทอและข้าวของตกหล่นกระจัดกระจาย ผมแอบเห็นเลือดของคุณแม่ ไม่นานนักตำรวจก็เข้ามาจับตัวคุณพ่อไป และไม่ได้เจอท่านอีกเลย

เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านั้น เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดครอบครัวของเราอีก เพราะต่อมาบ้านที่เราอยู่โดนเวนคืน ประกอบกับธุรกิจมีปัญหา คุณแม่มีหนี้สินมาก จึงนำเงินที่ได้จากการเวนคืนไปใช้หนี้จนหมดตอนนั้นเราต้องกลับไปเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องย้ายมาอยู่บ้านคุณตา จากนั้นสักหนึ่งปี พอตั้งหลักได้คุณแม่ก็หอบลูกทั้งสามคนแยกมาอยู่บ้านเช่า ซึ่งเป็นบ้านไม้หลังเล็ก ๆ แถวดินแดง ผมจึงอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ชั้น ป.2 จนจบมหาวิทยาลัย

พอมาอยู่บ้านเช่าคุณแม่ก็ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ท่านจบแค่ชั้น ป.4 ไม่มีความรู้อะไรมากมาย ท่านจึงทำงานที่ถนัดคือรับจ้างเย็บผ้า พวกแก้เอวกางเกง ได้เงินครั้งละยี่สิบบาท บางทีลูกค้าไม่มีให้ คุณแม่ใจดีก็ให้ติดไว้ก่อนได้ หลายครั้งจึงกลายเป็นไม่ได้รับค่าจ้างเลยก็มี (หัวเราะ) เมื่อรายได้ตรงนี้ไม่พอ คุณแม่จึงต้องขายไอติมกระบอกและขนมสาคูควบคู่กันไปด้วย ผมมีหน้าที่ช่วยท่านยกกระสอบน้ำแข็ง กระสอบเกลือและช่วยขาย พร้อมกับอ่านหนังสือข้างถังไอติมทุกวัน เพราะเวลานั้นพี่สาวคนโตแยกไปมีครอบครัวแล้ว ส่วนพี่สาวคนรองก็ออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้อีกทาง

จากเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่สมบูรณ์และมีฐานะดีต้องมาอยู่อย่างลำบากอาจารย์รู้สึกน้อยใจในโชคชะตาไหมคะ

ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกน้อยใจหรือแปลกแยกจากคนอื่นเลย เพราะเพื่อนแถวนั้นก็เป็นเหมือน ๆ กับเรา ที่สำคัญคือคุณแม่ไม่เคยทำให้ผมรู้สึกว่าบ้านเราจนหรือลำบากทั้งที่ความจริงเป็นตรงกันข้าม

ผมจำได้ดีว่า ทุกเย็นคุณแม่จะหุงข้าวจากข้าวสารที่แบ่งขายเป็นถุงเล็ก ๆ หน้าที่ของผมคือวิ่งไปที่ร้านกับข้าว เพื่อจำให้ได้ว่ามีอะไรบ้างแล้วมาบอกท่าน ท่านก็จะซื้อกับข้าวเพียงวันละหนึ่งถุงเท่านั้น และให้ผมกินก่อนเสมอ ทั้งยังบอกให้ผมกินเยอะ ๆ กินให้หมดเราเป็นเด็กกำลังหิวก็กินจนหมด ไม่ได้คิดเลยว่าแม่จะกินอะไร แต่คุณแม่ไม่เคยทำตัวให้สงสาร บางครั้งท่านหิวก็จะดื่มน้ำแทน แล้วท่านก็มีเหตุผลบอกผมตลอดว่า กินน้ำเยอะ ๆสุขภาพดี หรือแม่ถือศีล 8 ไม่กินข้าวเย็นเหตุผลของท่านไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่ การเลี้ยงดูของท่านก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามีน้อยกว่าคนอื่น ชีวิตเป็นอย่างนี้มาตลอด จนพบจุดเปลี่ยนใหญ่ตอนเรียนมัธยม

จุดเปลี่ยนนั้นคืออะไรคะ

พอเรียนจบ ป.6 คุณแม่จะให้เรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมแถวบ้าน แต่คุณครูประจำชั้นในตอนนั้นคือ คุณครูพิมพร อยู่ปรีซึ่งอยู่แถวบ้านของผมและทราบความเป็นอยู่ของผมอย่างดี มาคุยกับคุณแม่ และถามว่าจะให้ผมเรียนต่อ ม.1 ที่ไหน คุณแม่บอกว่าให้เรียนแถวบ้านนี่แหละ เพราะค่าเทอมไม่แพงเด็กแถวนี้ก็เรียนกันเยอะ แต่ครูไม่ยอม

ครูอยากให้ผมไปสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ครูจึงอาสาสอนพิเศษให้ผมทุกเย็นและวันเสาร์ - อาทิตย์โดยไม่รับสิ่งตอบแทนใด ๆ ผมซาบซึ้งในความเมตตาของครูมาก และครูถือเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบของ “การให้” ในชีวิตของผม ซึ่งในที่สุดผมก็สอบติดโรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งนั้น

การเข้าไปเรียนในโรงเรียนชื่อดังน่าจะเป็นความภูมิใจของตัวเองและครอบครัว

โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ดีมากครับอาจารย์ก็ดีมากจริง ๆ แต่พอเข้าไปเรียนผมกลับรู้สึกแตกต่างจากเพื่อน เพราะเด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนเป็นลูกคนมีฐานะดี มีความพร้อม ปิดเทอมเพื่อนก็ไปซัมเมอร์แคมป์ที่ต่างประเทศ ส่วนผมเงินเรียนพิเศษยังไม่มีเลย จากเดิมที่เราเคยเรียนได้ที่หนึ่งพอมาอยู่ในโรงเรียนมัธยมที่คัดแต่เด็กเก่ง ๆมาจากทั่วประเทศ เราก็ไม่ได้เป็นที่หนึ่งแล้วแต่ก็ยังตั้งใจเรียน และช่วยกิจกรรมของโรงเรียนมาโดยตลอด

ครั้งหนึ่งสมัย ม.ต้น ที่โรงเรียนจัดผ้าป่าการศึกษา ให้ผู้ปกครองช่วยกันบริจาคร่วมกับโรงเรียน คุณแม่ก็ใส่ซองให้ ผมก็เอาไปส่งครูปรากฏว่าที่โรงเรียนมีติดบอร์ดยอดทำบุญของนักเรียนแต่ละคน ไล่ตามเลขที่เลยเพื่อนคนอื่นมียอดเป็นแสน เป็นหมื่น น้อย ๆก็เป็นพัน แต่พอถึงชื่อผมมียอดเงินเพียง 150 บาท ตอนนั้นผมอายนะ เพราะมันต่างกันเยอะมาก หลังจากนั้นอาจารย์ก็เรียกไปคุยและถามประมาณว่าทำไมถึงบริจาคเท่านี้

ตอนนั้นผมรู้สึกแย่มาก ทั้งอาย ทั้งโกรธแม่ คือตอนนั้นเป็นช่วงวัยรุ่น เรื่องหน้าตาสำคัญ เราอยากดูดีในสายตาเพื่อน ๆ ไม่อยากดูเป็นเด็กจน ซอมซ่อ มันดูน่าอายโดยไม่ได้คิดเลยนะว่าแม่ลำบาก คิดแต่ว่าแม่ต้องรวยแน่ ๆ แต่แม่เก็บเงินไว้ กลับบ้านมาก็โวยวายใส่ท่าน ท่านก็บอกว่ามีแค่นี้จริง ๆ

ครั้งนั้นผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นที่รักของอาจารย์ จริง ๆ แล้วอาจารย์ท่านนั้นก็มีมุมที่ดีอีกมากมายนะครับ แต่ผมกลับรู้สึกน้อยใจและรู้สึกว่าทุกคนมองข้าม เหมือนเราไม่มีตัวตน

ความรู้สึกที่เป็นปมในใจตอนนั้นส่งผลต่อชีวิตอย่างไรคะ

ความรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นนี้อยู่ในใจอยู่ตลอด แต่ก็ไม่ได้บอกใคร จนกระทั่งวันหนึ่งตอนอยู่ ม.6 เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงคือ วันหนึ่งขณะที่ผมนอนอยู่ชั้นสองของบ้านก็ได้ยินเสียงพี่สาวคนรองทะเลาะกับคุณแม่ต้องบอกก่อนว่า พี่สาวคนนี้เก่งมาก ทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี กลางวันเรียน กลางคืนทำงาน และส่งตัวเองเรียนมาตลอดจนถึงปวส. อีกสองปีเขาก็จะได้รับปริญญาตรีแล้ว

ผมได้ยินคุณแม่กับพี่สาวทะเลาะกันสักพัก แล้วพี่สาวก็ตะโกนเสียงดังมากว่า “ทำไมต้องเป็นหนูทุกทีที่ต้องเสียสละให้น้อง”คุณแม่ก็เหมือนพยายามอธิบายว่า “ให้น้องมันเรียนก่อน อย่างไรน้องก็เป็นน้อง”

สักพักหนึ่งผมก็ได้ยินเสียงคนวิ่งขึ้นบันไดมา แล้วก็กระชากประตูออก พี่สาวลงไปฟุบนอนตรงพื้นซึ่งเป็นที่นอนของเขาและร้องไห้ผมคิดในใจว่า นี่เรากำลังจะตัดอนาคตของพี่นะ จึงลุกขึ้นไปแตะตัวเขาในขณะที่ตัวเองก็ร้องไห้ เพราะอยากเรียนเหมือนกัน แต่บอกพี่ไปว่า “เจ้เรียนเถอะ จบ ม.6 แล้วจะหางานทำเอง เรื่องเรียนค่อยว่ากัน” พี่สาวก็ร้องไห้อยู่สักพักหนึ่งแล้วก็หันมาบอกว่า “เจ้ไม่เรียนแล้ว แต่แกต้องตั้งใจเรียนนะ”

นี่คือเหตุการณ์ที่เสียใจที่สุดในชีวิตและเกิดอีกความรู้สึกขึ้นในใจว่า “หรือเราไม่ควรจะมีชีวิตอยู่”

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

อาจารย์จัดการกับความคิดที่น่ากลัวอย่างนี้อย่างไรคะ

ตอนแรกเพียงแค่คิดว่า หรือเราไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ แต่พอเวลาผ่านไป ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตนในสายตาคนอื่น และทำให้ชีวิตคนรอบตัวเดือดร้อนวุ่นวาย ซึ่งไปกระตุ้นให้ความรู้สึกอยากตายขยายตัว จึงต้องหาทางออก และทางออกเดียวนั้นก็คือ ความตาย

วันหนึ่งผมจึงขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึกสูงยี่สิบชั้น ด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความสุขเพราะหาทางออกได้ว่าจะไม่อยู่แล้ว ผมนั่งห้อยขาที่ขอบตึก ย้อนนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมาว่ามีใครบ้างที่อยู่กับเราจนถึงวันนี้ แล้วก็ขอบคุณหรือขอโทษเขาในใจ แต่วินาทีที่คิดว่าจะโดดลงมาแน่ ๆ กลับมีภาพที่ชัดเจนมากปรากฏขึ้นมา นั่นคือภาพถุงกับข้าวของแม่และภาพของแม่ที่เชียร์ให้กินข้าวให้หมด กับอีกภาพคือ ภาพของพี่สาวที่ร้องไห้ในคืนนั้น

ผมเกิดคำถามในใจทันทีว่า ถ้าเราตายไปตอนนี้แม่และพี่สาวจะมีชีวิตที่สบายขึ้นจริงหรือ หลังงานศพเรา พวกเขาก็ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม แล้วเราอยากให้พวกเขามีชีวิตเพียงแค่นั้นเองเหรอ คำตอบคือ ไม่ คำถามต่อไปคือ เราเปลี่ยนอนาคตของเขาให้ดีกว่าเดิมไม่ดีกว่าหรือ คิดได้เช่นนี้ผมจึงได้สติและไม่อยากตายแล้ว

ตอนนี้พอมองย้อนไปรู้สึกว่าตัวเองโง่นะทำไมเรื่องเล็ก ๆ แค่นี้หาทางออกไม่ได้เหรอแต่ถ้าคิดอีกมุมว่า ลองเป็นคนที่มีปัญหาดูสิปัญหาเล็ก ๆ ที่คนอื่นมอง มันคือปัญหาใหญ่ของเขานะ จึงบอกนิสิตที่สอนเสมอว่า อย่าดูถูกปัญหาของคนอื่น เพราะสถานการณ์เดียวกัน ปัญหาเดียวกัน สร้างความทุกข์ให้คนไม่เท่ากัน

หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นใช่ไหมคะ

เหตุการณ์นั้นทำให้ผมมองปัญหาเปลี่ยนไป และรู้ว่าจะมีชีวิตอยู่เพื่อใคร ผมจึงกลับมาตั้งหน้าตั้งหน้าเรียนและเดินหน้าตามความชอบวิทยาศาสตร์และการทดลองจนสุดท้ายสอบเอนทรานซ์ได้คะแนนสูงสุดของประเทศในสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต้องขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ช่วยติวด้วย เพราะผมไม่ได้เรียนพิเศษเลย

เมื่อสอบติด ถึงจะภูมิใจมาก แต่ก็กังวลใจเรื่องค่าเทอมอยู่ดี ตอนสอบสัมภาษณ์ก็เรียนอาจารย์ไปตามตรงว่า ถ้าผมไม่ได้รับทุนการศึกษา ผมคงไม่ได้เรียนหนังสืออาจารย์ก็บอกให้สบายใจว่า ที่นี่มีทุนการศึกษาหลายทุน พอเข้ามาเรียนผมก็ได้รับทุนคณะทุนมหาวิทยาลัย และสามารถกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งแบ่งเบาภาระที่บ้านได้ทั้งหมด แต่ที่รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากที่สุดคือการได้รับ “ทุนภูมิพล” ครับ

ทุนภูมิพล” มีความสำคัญต่ออาจารย์อย่างไรคะ

“ทุนภูมิพล” เปลี่ยนแปลงชีวิตและจิตใจของผมไปโดยสิ้นเชิง ทุนนี้ในหลวงรัชกาลที่ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นิสิตที่ยากจนแต่เรียนดีและมีความประพฤติดีทุนที่ได้รับมานี้แล้วแต่ว่าเราจะนำไปใช้ในเรื่องอะไร และไม่ต้องใช้ทุนคืนด้วย ตอนขึ้นปี 2 อาจารย์เสนอชื่อผม และคณะกรรมการพิจารณาให้ผมได้รับทุนนี้

สำหรับผมแล้ว สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานไม่ใช่แค่เงินเท่านั้น แต่ยังพระราชทานเกียรติและขวัญกำลังใจให้ผมตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองและคุณค่าที่เรามีต่อสังคม ผมได้รับพระราชทานทุนจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีซึ่งเสด็จฯแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยหลังจากที่พระองค์พระราชทานปริญญาบัตรให้แก่นิสิตทั่วไปและนิสิตที่ได้รับเหรียญทองแล้ว คณบดีได้ประกาศชื่อของผมช้า ๆ เพื่อให้ขึ้นไปรับทุน ตอนนั้นรู้สึกมีเกียรติมาก ได้ยินเสียงปรบมือดังกึกก้องไปทั้งหอประชุม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต

ผมได้รับทุนภูมิพลตั้งแต่ปี 2 จนถึงเรียนจบปี 4 ทุกครั้งที่ท้อแท้จะคิดเสมอว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระเมตตาพระราช-ทานทุนให้เราเรียน เราไม่คิดที่จะตอบแทนพระองค์บ้างเลยหรือ แม้ทุนภูมิพลไม่ใช่ทุนที่เป็นเงินจำนวนมาก แต่ผมคิดว่าเป็นอุบายของพระองค์ที่ไม่ประสงค์ให้ปลาแก่ผู้ที่หิวโหยสิ่งสำคัญที่สุดของเด็กยากจนคือ ความรู้สึกภูมิใจและกำลังใจที่จะผลักดันตัวเองให้ได้ดีซึ่งยิ่งใหญ่ต่อผมมาก เพราะในที่สุดผมก็เรียนจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง

หลังจากเรียนจบผมทำงานในโรงพยาบาลเอกชนอยู่สักพัก ต่อมามีโอกาสดีได้สอบชิงทุนรัฐบาล (ทุนการศึกษาขั้นสูงเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างเครือข่ายวิจัยระดับแนวหน้า สาขาชีวสารสนเทศศาสตร์) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านจีโนมิกส์ โปรติโอมิกส์ และชีวสารสนเทศศาสตร์ และระดับปริญญาเอกสาขาอณูทางการแพทย์ เอกประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีเงื่อนไขว่ากลับมาต้องเป็นอาจารย์ ผมตัดสินใจรับอย่างไม่ลังเล เพราะตรงกับใจที่อยากเป็นอาจารย์อยู่แล้ว

ทำไมถึงอยากเป็นอาจารย์คะ ทั้งที่น่าจะมีงานอื่น เสนอเข้ามา

ก่อนเรียนจบผมคิดว่า คนอย่างเรามาไกลได้ขนาดนี้ ไม่ได้มาเพราะตัวเอง แต่มาจากแรงส่งของหลายคน ตอนแรกลังเลในใจว่าอยากเป็นนักเทคนิคการแพทย์ เพราะรู้สึกว่าช่วยชีวิตคนไข้ได้ เวลาที่เราหาว่าเลือดของคนนี้มีอะไรผิดปกติบ้างแล้วส่งให้หมอหมออ่านผลก็จะหายาและทางรักษาคนไข้ได้ก็เหมือนเราได้ทำบุญอยู่ตลอด แต่การเป็นอาจารย์เราได้สร้างคนแบบเรามาอีกปีละร้อยคน ซึ่งมีผลต่อสังคมมากกว่าการที่เราทำงานนี้เพียงคนเดียว

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

การเป็นนักเรียนทุนไปเรียนต่างประเทศสวยหรูอย่างที่หลายคนคิดหรือไม่คะ

เทอมแรกที่ไปอยู่ต้องปรับตัวเยอะมากเพราะภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องเลย เราคิดว่าภาษาเราดีมากนะ สอบโทเฟลก็ได้คะแนนสูงแต่ความมั่นใจทั้งหมดพังทลายตั้งแต่ตอนขึ้นเครื่องบิน เพราะแอร์โฮสเตสถามแล้วเราฟังไม่รู้เรื่อง เวลาไปเรียนก็ต้องใช้ทักษะการฟังสูงมาก และต้องนำเสนอรายงานทุกสัปดาห์แรก ๆ เข้าห้องเรียนก็ฟังไม่รู้เรื่องเลย เหนื่อยและท้อมาก แต่ไม่คิดถอยหลังกลับ ในใจมีแต่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ ผมอาศัยการอ่านซึ่งช่วยได้เยอะมาก สักพักทักษะการฟังก็ดีขึ้น นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากคือการไปทำงานพิเศษ

ถึงแม้ทุนที่รัฐบาลให้มาจะพอสำหรับค่ากินอยู่ แต่ไม่เหลือพอจะส่งให้ที่บ้าน ผมคิดว่าเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ต้องดูแลแม่และพี่สาวได้แล้ว จึงไปสมัครงานที่ร้านอาหารเป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นบาร์เทนเดอร์ การทำงานทำให้ได้เจอและพูดคุยกับลูกค้าเยอะ ทำให้ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของเราดีขึ้นด้วย

ตลอด 7 ปีที่เรียน ผมไม่ได้กลับบ้านเลยสักครั้งเดียว เพราะคุณแม่กลัวจะเปลืองค่าตั๋วเครื่องบินที่มีราคาค่อนข้างแพง แต่ก็ใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารกัน ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ห่างไกลกันนัก

ตอนเรียนจบปริญญาเอก ในหน้ากิตติกรรมประกาศของดุษฎีนิพนธ์ของผมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9เป็นบุคคลแรกที่ผมเขียนถึง ลำดับต่อมาคือประชาชนชาวไทยผู้เสียภาษี เพราะทุกคนมีส่วนที่ทำให้ผมเรียนจบปริญญาเอก ผมรู้ว่าแต่ละปีทุกคนต้องเสียภาษีเยอะมาก แต่ก็ยอมจ่ายเงินตรงนี้ ผมจึงซาบซึ้งบุญคุณของทุกคน และอยากจะตอบแทนด้วยการทำงานอย่างเต็มที่

แม้หลังจากเรียนจบผมมีโอกาสได้ทำงานที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ซึ่งเขาเสนอเงินเดือนให้สูงมากขนาดที่สามารถใช้ทุนคืนได้ทั้งหมด แต่ผมไม่เคยคิดที่จะไม่กลับเมืองไทยมาใช้ทุน พอทำงานได้หนึ่งปีก็กลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาเคมีคลินิกสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสานต่อความตั้งใจที่อยากทำประโยชน์เพื่อคนอื่นและตอบแทนสังคม

ทราบว่าอาจารย์ยึดแบบอย่างการทำงานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย

ผมยึดถือในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ครั้งหนึ่งขณะเรียนอยู่อเมริกาผมมีโอกาสเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงเล่าให้ฟังว่าได้สไกป์กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะประทับที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทอดพระเนตรเห็นในจอคอมพิวเตอร์ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานขณะที่ทรงพระประชวร โดยทรงนำแผนที่มากางบนที่พระบรรทมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ นับเป็นความทุ่มเทและเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่ตราตรึงอยู่ในใจผมเสมอ

ถึงแม้ผมไม่เคยมีโอกาสได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์จริงสักครั้ง แต่พระองค์จะยังสถิตอยู่ในใจผมเสมอ การทำงานเป็นอาจารย์ถือเป็นการทำงานถวายพระองค์และตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างดีที่สุด สิ่งที่ผมทำคือการทุ่มเทกายใจสร้างคนดีคนเก่งสู่สังคม เพื่อต่อไปพวกเขาเหล่านี้จะสามารถช่วยประเทศชาติให้ก้าวหน้าได้

การที่เคยมีประสบการณ์การเป็นเด็กที่มีปมในใจซึ่งส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก เมื่อมาเป็นอาจารย์แล้วมีส่วนช่วยเหลือเด็กในเรื่องนี้บ้างไหมคะ

นอกจากเรื่องการสอนทางวิชาการที่ผมทุ่มเทเต็มที่แล้ว เรื่องที่ผมให้ความสำคัญมากคือจิตใจของเด็ก เพราะตัวเองเคยมีปัญหามาก่อน ตอนกลับมาที่ภาควิชาเปิดวิชาเลือกเสรีที่เด็กทุกคณะมาลงเรียนได้ ผมจึงเลือกสอนวิชาด้านสุขภาพจิต ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ แต่สิ่งที่ถ่ายทอดในห้องเรียนคือประสบการณ์ชีวิต พอสอนไปก็รู้สึกได้ว่าเด็ก ๆ ชอบ เพราะเวลาที่สอนจบแต่ละเทอม เด็กต่างคณะจะเดินเข้ามาหามาคุย มาปรึกษา หรือเข้ามาขอบคุณ

อุบายการสอนอย่างหนึ่งของผมคืออยากให้เด็กที่มาเรียนเป็นตัวแทนในการไปดูแลเพื่อนรอบตัวของเขา เพราะในแต่ละปีจะมีเด็กที่คิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งผมอยากลดให้เป็นศูนย์ให้ได้ ตอนนี้ทำมาได้ 3 ปีแล้วและยังคงมุ่งมั่นทำต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเป็นห่วงมากคือ เด็กยากจนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตอนนี้ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารคณะ สิ่งที่พยายามผลักดันคือ การดูแลเด็กกลุ่มนี้โดยเรื่องเงินต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนผมอยากให้เด็กทุกคนได้เรียนอย่างเต็มที่และนึกถึงเวลาที่ผมเป็นนิสิตก็ได้รับความเมตตาจากอาจารย์เช่นกัน วันนี้เมื่อเป็นอาจารย์ก็จะช่วยเหลือนิสิตเต็มที่

ผมบอกเด็กทุกคนเสมอว่า ถ้าใครมีปัญหาเรื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายอะไรให้มาบอก มาปรึกษา จะพยายามหาทุนให้หรือบางครั้งในช่วงรอรับทุน เด็กบางคนต้องใช้เงิน ไม่มีเงินกินข้าว หรือบางคนบ้านเริ่มมีปัญหา หาค่าเทอมไม่ทัน ขอทุนไม่ได้เพราะไม่มีประวัติเดือดร้อนมาก่อน ผมก็ออกเงินของผมไปให้ก่อนเลย และคิดเสมอว่าถ้าเงินออกจากกระเป๋าไปแล้ว มันจะไม่กลับมา (หัวเราะ) เมื่อคิดว่าให้ก็คือให้จริง ๆแต่ถ้าเด็กคนนั้นเป็นเด็กดี เขาจะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร เขาก็จะเอามาคืนเราเอง และเชื่อไหมว่า เด็กทุกคนเอาเงินมาคืนจริง ๆ (ยิ้ม)

นอกจากนี้ผมยังจัดตั้งทุน “เพชรชมพู MT พี่ช่วยน้อง” เพื่อช่วยเหลือนิสิตทุกคนโดยได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่าสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯจำนวนมาก ที่จัดตั้งทุนนี้เพราะรู้ว่านอกจากค่าเทอมแล้ว เด็ก ๆ มีค่าใช้จ่ายเยอะ อย่างค่าถ่ายเอกสาร หลายวิชารวมกันก็เยอะแล้วหรือค่ากิจกรรมต่าง ๆ ถ้าเขาไม่มีสามารถเข้ามาคุยกันได้เลยทันที

พอเป็นที่ปรึกษาให้เด็ก ๆ ได้ เขาก็จะเรียกผมว่า “พี่ฤทธิ์” บางท่านอาจคิดว่าไม่เหมาะสมที่เด็กจะมาเรียกอาจารย์ว่า “พี่” แต่ผมภูมิใจ เพราะเมื่อเขาเรียกว่าพี่ แสดงว่าเขาสนิทใจ กล้าคุย กล้าปรึกษาเรา แม้บางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัว ปัญหาทางบ้านเขาก็กล้ามาคุย ซึ่งผมรู้สึกว่าดีนะ อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยเขา และจะทำอย่างนี้ต่อไป (ยิ้ม)

มาถึงวันนี้ได้ตอบแทนบุญคุณคนสำคัญอย่างคุณแม่ พี่สาวและคุณครูพิมพรอย่างไรบ้างคะ

ตอนนี้คุณแม่มีความสุข ได้อยู่อย่างสบายเป็นคุณนายแล้ว (หัวเราะ) ท่านเดินสายทำบุญ เดินทางไปต่างจังหวัด ได้พักผ่อนได้ทำสิ่งที่ชอบ ส่วนพี่สาวก็ได้เรียนต่อจนจบปริญญาโท ซึ่งผมก็มีส่วนช่วยพี่อยู่บ้างตอนนี้พี่ก็ไปทำงานเมืองนอกแล้วส่งเงินกลับมา เรามีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว และอยู่กันอย่างมีความสุข ผมได้ทำหน้าที่ลูกและน้องอย่างดีที่สุด

แต่ที่เสียใจที่สุดคือ ผมยังไม่มีโอกาสได้ตอบแทนคุณครูพิมพร หลังจากเรียนจบประถม ผมก็ขาดการติดต่อท่านไปเลยจนกระทั่งใกล้จบปริญญาเอก ผมนั่งทบทวนว่ากว่าชีวิตมาถึงตรงนี้ได้มีคนสนับสนุนผมมากมาย หนึ่งในนั้นคือครูพิมพร ผมจึงพยายามหาเบอร์โทรศัพท์ติดต่อท่าน โดยได้น้อง ๆ ที่อยู่เมืองไทยช่วยเหลือ ในที่สุดก็ได้เบอร์จากน้องสาวของครู พอโทร.ไปครูก็จำได้วันนั้นจึงถือโอกาสขอบพระคุณครู และบอกว่ากลับไปผมจะนำชุดครุยไปถ่ายรูปกับครู

แต่พอกลับมา ผมทำงานหนักมากและผัดวันที่จะไปหาครูไปเรื่อย หนึ่งปีก็ยังไม่ได้ไป จนวันหนึ่งเพื่อนโทร.มาบอกว่า“ครูพิมพรจากเราไปแล้วนะ” ผมช็อกมากไม่อยากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง บทเรียนสำคัญที่ได้จากเรื่องนี้คือ อย่าพูดว่าไม่มีเวลา อยากทำอะไรเพื่อคนที่เรารักให้รีบทำทันที เพราะถ้ารอจนกว่าเราจะมีเวลา เวลาของคนที่เรารักอาจหมดแล้วก็ได้

จากเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา อาจารย์คิดว่าวิธีรับมือกับความทุกข์ที่ง่ายที่สุดคืออะไร

วิธีรับมือที่ง่ายที่สุดสำหรับผมคือยอมรับความทุกข์นั้น ถ้ายอมรับว่าความทุกข์คือเรื่องธรรมดา หาเหตุแห่งทุกข์ให้เจอแก้ปัญหาให้ตรงจุด ในที่สุดความทุกข์นั้นจะได้รับการแก้ไขและผ่านไป ปกติที่เราทุกข์หนัก เพราะเราไปขยายความทุกข์นั้นให้ใหญ่กว่าความเป็นจริง ลองคิดดูว่า เวลาที่คนอื่นทุกข์แล้วมาปรึกษาเรา เรายังแนะนำวิธีแก้ไขให้เขาได้ เพราะเรามองเห็นมันตามความเป็นจริง ดังนั้นเวลาที่เจอทุกข์ ผมจะถอยออกมาหนึ่งก้าว และมองว่ามันเป็นปัญหาของคนอื่น แล้วจะเห็นทางแก้ไขครับ

คลิกเลข 4 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

วันนี้อาจารย์ได้ทำงานตอบแทนสังคมในวงกว้างอย่างที่ตั้งใจหรือยังคะ

ตอนนี้งานหนึ่งที่ผมกำลังทำอยู่คืองานศึกษาวิจัยภาวะออทิซึม เพราะทุกวันนี้มีเด็กที่อยู่ในภาวะนี้ค่อนข้างมาก และแต่ละคนก็จะมีความผิดปกติที่แตกต่างกันไปในสหรัฐอเมริกามีสถิติว่าจะมีเด็กที่มีภาวะออทิซึม 1 คนต่อเด็ก 68 คน ในประเทศไทยยังไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังไม่มีการวินิจฉัยโรคในทางแล็บ เด็กกลุ่มนี้เหมือนกับถูกมองข้ามเมื่อเทียบกับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านอื่น ๆ

ผมจึงตั้งโครงการวิจัยวิจัยค้นหาสารที่ผิดปกติในเด็กที่มีภาวะออทิซึม เพื่อจะได้รู้ว่าสารใดในร่างกายที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เพื่อในอนาคตอาจสามารถนำสารนั้นมาวินิจฉัยหรือใช้เป็นสารเป้าหมายสำหรับการใช้ยารักษาเพื่อให้สารนี้เป็นปกติ รวมทั้งออกแบบยาให้เข้ากับเด็กแต่ละคนได้ หากสำเร็จก็จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้มาก นอกจากนี้เมื่อมีโอกาสผมก็จะทำงานจิตอาสาเสมอ ตอนนี้ก็เป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิ The Rainbow Room ซึ่งดูแลเด็กพิเศษด้วยครับ

คิดว่าความสำเร็จในวันนี้เกิดขึ้นจากอะไรคะ

จุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้ผมเดินมาถึงจุดนี้ได้คือ ความตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก หลายคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต คิดว่าหาทางออกไม่ได้ เพราะลืมไปว่าตัวเองมีความสำคัญอย่างน้อยที่สุดก็ในใจของคนที่รักเรา เรามีคุณค่า มีความสำคัญเสมอ นอกจากนี้เรายังสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้ แต่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง เพราะคุณค่าที่เราสร้างขึ้นนี้จะมีต่อเมื่อเราได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

อีกส่วนสำคัญที่ทำให้มีวันนี้ได้คือ คนรอบตัวที่คอยสนับสนุนผมเสมอ ผมพูดได้เต็มปากว่า หากปราศจากความรักและความเสียสละของคนรอบตัวแล้ว ผมคงไม่สามารถเดินมาไกลได้ถึงขนาดนี้

ดังนั้นผมอยากบอกทุกคนเหลือเกินว่าหากวันใดที่คุณรู้สึกท้อแท้ จงมองให้เห็นความรักและความเสียสละของคนรอบตัวคุณแม้คุณจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า แต่คุณมีค่าในใจพวกเขาเสมอ และจงมีชีวิตอยู่เพื่อพวกเขาครับ


Secret BOX

ความทุกข์ของเรามักใหญ่กว่าปัญหา หากถอยมาหนึ่งก้าว

เราจะเห็นความเป็นจริงและหาทางออกให้ทุกข์นั้นได้

ดร.เทวฤทธิ์ สะระชนะ


เรื่อง เชิญพรคงมาภาพวรวุฒิวิชาธรสไตลิสต์ณัฏฐิตาเกษตระชนม์

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.