เชฟบุญธรรม

เชฟบุญธรรม ภาคโพธิ์ ยอดเชฟอาหารญี่ปุ่น ผู้ “ปั้น” ความฝันด้วยสองมือ

เชฟบุญธรรม ภาคโพธิ์ ยอดเชฟอาหารญี่ปุ่น ผู้ “ปั้น” ความฝันด้วยสองมือ

เชฟบุญธรรม ภาคโพธิ์สุดยอดเชฟอาหารญี่ปุ่นที่เหล่านักชิมต้องรู้จักแต่กว่าที่เขาจะกลายเป็นเชฟอาหารญี่ปุ่นแถวหน้าของเมืองไทย “ปั้น” ซูชิรสเลิศให้เราลิ้มลองเขาต้องมุมานะ ฟันฝ่าอุปสรรคนับไม่ถ้วนเพื่อ “ปั้น” ความฝันในการเป็นยอดเชฟให้เป็นจริง

วัยเด็กของนักปั้น (ซูชิ) มือทอง

ผมเกิดที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ครอบครัวมีอาชีพทำนา พอหมดหน้านาก็รับจ้างทั่วไป ตั้งแต่จำความได้ทุกเช้าประมาณตีสามกว่า ๆ แม่จะอุ้มผมไปตำข้าวด้วยทุกครั้ง เมื่อโตอายุถึงเกณฑ์ผมก็เข้าโรงเรียน

ตอนนั้นผมคิดว่าตัวเองมีชีวิตปกตินะเพราะเรายังเด็ก ไม่รู้ว่าอะไรคือความลำบากโตขึ้นถึงรู้ว่านั่นมันลำบากมากนะ (หัวเราะ)บ้านเรายังไม่เจริญ ไม่มีหมอ ไม่มีโรงพยาบาลรถยนต์เข้าไม่ถึง ต้องเดินไปโรงเรียน ไป -กลับวันละ 6 กิโลเมตรทุกวัน

ใครไม่สบายก็ไปโรงพยาบาลไม่ได้ต้องรักษากันด้วยวิธีโบราณ เช่น เวลาใครกินเห็ดพิษ คนเฒ่าคนแก่ก็จะให้ไปขุดดินแล้วเอาตัวฝังลงไปจนเหลือแค่คอ ให้ดินดูดสารพิษออก ถ้าใครตกต้นไม้แขนหัก ก็ทาด้วยน้ำมันว่าน แล้วเอาไม้ดามให้ติดกัน เรียกว่ารักษาตามความเชื่อ ตามภูมิปัญญาชาวบ้านกันไป

สามเณรบุญธรรม ตั้งใจบวชเรียนเพื่อเป็นนาคหลวง

หลังจากเรียนจบชั้น ป.6 ผมไม่ได้เรียนต่อ ทั้งที่ผมอยากเรียนมาก แต่เพราะพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ผมยังอยู่ในท้องแม่มีสามีใหม่ ท่านเกรงใจพ่อเลี้ยง จึงไม่กล้าขอเงินมาส่งผมเรียนต่อ พอดีช่วงนั้นมีพระรูปหนึ่งมาชวนเด็กในหมู่บ้านไปบวชสามเณรภาคฤดูร้อนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ผมจึงใช้โอกาสนี้บวชเพื่อเรียนหนังสือต่อ

การบวชเรียนมีสองสาย คือ เรียนทางโลกกับเรียนทางธรรม ใจจริงผมอยากเรียนต่อทางโลก แต่พระอาจารย์ที่ผมไปอาศัยอยู่ด้วยท่านเน้นทางธรรมมากกว่า ผมจึงต้องเรียนทางธรรมแทน พระอาจารย์บอกว่า ถ้าตั้งใจเรียน สอบเปรียญธรรมได้ 9 ประโยคก่อนอายุ 21 ปี ผมจะได้เป็นนาคหลวง ผมจึงตั้งใจว่าจะต้องเป็นนาคหลวงให้ได้

การสอบเปรียญธรรมคล้ายกับการสอบเลื่อนชั้นของนักเรียนทั่วไป ที่จะเลื่อนชั้นได้ปีละครั้ง ตอนบวชสามเณรผมอายุ 12 ปีถ้าสอบเปรียญธรรมครบ 9 ประโยค ผมจะอายุ 21 ปีพอดี ฉะนั้นผมจะสอบตกไม่ได้เลยผมตั้งใจเรียน เอาจริงเอาจัมาก ขยันอ่านหนังสือ กระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 2 ประโยคและเตรียมตัวสอบเปรียญธรรม 3 ประโยค

ตอนทำข้อสอบผมคิดว่ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรง น่าจะสอบผ่าน สอบเสร็จผมจึงเดินทางกลับบ้าน เมื่อถึงวันประกาศผลสอบ ผมเดินทางมาที่วัดปทุมวนารามเพื่อตรวจดูรายชื่อ แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอจึงรู้แล้วว่าคงสอบตกแน่ ๆ ตอนนั้นผมเสียใจและผิดหวังมาก เป้าหมายการเป็นนาคหลวงของเราจบลงแล้ว จึงฝากสามเณรที่รู้จักกันให้ไปบอกหลวงพ่อว่าผมไม่กลับไปแล้วนะ ขอกลับไปสึกที่บ้าน

ทิดหนุ่มนักมวย

หลังสึก ผมกลับไปอยู่บ้านกับแม่และพ่อเลี้ยง ช่วงที่สึกตรงกับหน้าแล้งพอดีที่บ้านไม่ได้ทำนา ผมจึงต้องรับจ้างทั่วไปทั้งดายหญ้า ขุดตอไม้ เลี้ยงวัว แต่เมื่อมีเวลาว่างผมมักแอบไปซ้อมมวย

ผมชอบมวยมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอมีงานวัดก็ตามไปดู หรือเมื่อมีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ก็นั่งเชียร์อยู่ที่บ้าน ผมชอบมากจนคิดว่าจะเป็นนักมวยให้ได้ พอดีช่วงนั้นแถวบ้านจัดงานวัดและมีเวทีมวยด้วย จึงแอบซ้อมเองที่บ้านเพื่อไปลองชกสักครั้ง

ผมตื่นตั้งแต่ตีสี่มาวิ่ง เอากระสอบปุ๋ยใส่ทรายผสมแกลบแขวนกับต้นไม้แล้วฝึกเตะ ซ้อมได้สิบกว่าวันก็ถึงวันงาน ผมไปสมัครแต่เช้า แต่เจ้าภาพกลับไม่ให้ขึ้นชกเพราะผมเป็นนักมวยไม่มีชื่อเสียง เรียกคนดูไม่ได้ ผมขอร้องอยู่นานจนเขาอนุญาต แต่ให้ผมชกเป็นคู่สุดท้ายและไม่มีค่าตัว ตอนนั้นผมอยากขึ้นเวทีมาก จึงคิดว่า เอ้า! ชกก็ชกพอดีมีนักมวยคนหนึ่งไม่มีคู่ ผมจึงไปชวนเขาชก วันนั้นผลออกมาเสมอ หลังจากนั้นผมขึ้นชกอีก 4 ครั้ง ชนะรวด จนครั้งที่ 6ถึงแพ้ ประกอบกับช่วงนั้นเข้าฤดูทำนาพอดีงานวัดไม่ค่อยมี ผมจึงไม่มีโอกาสชกมวยอีก

ระหว่างที่ชกมวยผมรับจ้างทำอย่างอื่นไปด้วย ครั้งหนึ่งเคยไปเป็นกรรมกรก่อสร้างด้วยความที่ผมยังเด็ก อายุ 14 - 15 ปี แต่ต้องแบกหาม งานหนักมาก ผมทำได้ไม่นานก็ลาออก กระทั่งมีญาติมาชวนให้ไปทำงานในร้านอาหารญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ผมจึงไปกับเขา โดยหวังว่าถ้าเข้ากรุงเทพฯ ผมอาจได้ชกมวยก็ได้ เพราะที่กรุงเทพฯมีค่ายมวยเยอะ

ก้าวสู่วงการอาหารญี่ปุ่นด้วยตำแหน่งเด็กล้างจาน         

เมื่อเข้ามาทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นเขาบอกว่าผมอยู่ตำแหน่งผู้ช่วยกุ๊ก แต่หน้าที่จริง ๆ คือเด็กล้างจาน เพราะเรายังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่มีพื้นฐาน บอกตรง ๆ ว่านอกจากตำส้มตำ ต้มไข่ ผมทำอย่างอื่นไม่เป็นเลย (หัวเราะ)

หลังล้างจานได้เดือนกว่า ๆ เริ่มรู้งานขึ้นบ้าง รุ่นพี่ในครัวเริ่มสอนว่าผักชนิดนี้ชื่ออะไรต้องล้าง เก็บอย่างไร ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่มาก แครอตผมก็ไม่รู้จัก ผักกาด หัวไช้เท้านี่เรื่องใหม่มาก เมื่อทำงานได้ 5 - 6 เดือนจึงได้เรียนรู้ชื่อวัตถุดิบเป็นภาษาญี่ปุ่น ช่วงพักผมมักถามรุ่นพี่ว่าผักแต่ละชนิดเรียกว่าอะไรเวลาเชฟญี่ปุ่นสั่ง เราจะได้หยิบให้ถูก

ช่วงแรกที่ทำงาน ผมยังอยากเป็นนักมวยอยู่ จึงแอบไปค่ายมวย ยืนดูเขาซ้อมและคิดเอาเองว่า ถ้าไปให้เขาเห็นหน้าบ่อย ๆ เดี๋ยวเขาคงเรียกไปซ้อมเอง (หัวเราะ) แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีโอกาสสักที จึงค่อย ๆล้มเลิกความคิดไป

ทดสอบฝีมือเพื่อเลื่อนขั้น

ร้านที่ผมทำงานมีเชฟใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นซึ่งดุมาก ถ้าใครทำไม่เป็น เขาไม่ปล่อยให้ทำเองเด็ดขาด ทุกอย่างต้องเป็นขั้นเป็นตอนความรู้พื้นฐานต้องแน่นเป๊ะ แต่ด้วยความที่ผมอยากรู้อยากเห็น อยากทำ จึงแอบจำ แอบถามรุ่นพี่ที่เป็นเชฟคนไทย เขาก็ใจดีช่วยแนะนำ ช่วยสอน แต่เฉพาะเวลาเชฟญี่ปุ่นไม่อยู่นะครับ (หัวเราะ)

ปกติร้านอาหารญี่ปุ่นมีเบรกช่วงบ่าย 2 - 5 โมง ผมอาศัยเวลาว่างช่วงนั้นฝึกทำนั่นนี่ไปเรื่อย จนเริ่มทำอาหารเป็นหลายอย่างกระทั่งวันหนึ่งผมมาทำงานแต่เช้าตามปกติไม่นานเชฟใหญ่ก็เข้ามา ผมช่วยหุงข้าวจัดเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบเพื่อรอเปิดร้านตอน 11 โมงครึ่ง แต่รอจน 11 โมงก็ยังไม่มีเชฟคนอื่นเข้ามาเลย เมื่อถึงเวลาเปิดร้าน คนเข้าร้านเยอะมาก เชฟใหญ่ทำอาหารไม่ทัน ผมจึงเข้าไปช่วย ด้วยความที่เขาไม่มีทางเลือก ทำเองก็ไม่ทัน ผู้ช่วยคนอื่นก็ไม่มี จึงต้องยอมให้ผมช่วย

เขาเห็นว่าผมทำได้หลายอย่าง หน้าตาใช้ได้ จึงปล่อยให้ผมทำ ผ่านไปสักพักลูกค้าเริ่มซาลง เขาจึงเดินมาบอกว่า เดี๋ยวเบรกบ่ายมาคุยกันหน่อยนะ ตอนนั้นผมนึกขึ้นมาเลย ตายแน่ ๆ โดนด่าแน่เลย (หัวเราะ)ผมไม่รู้ว่าเราไปทำอะไรให้ไม่ถูกใจหรือเปล่าเพราะแกเป็นคนดุ

เมื่อถึงเวลาเบรก ผมก็เข้าไปในห้องเหงื่อแตก หน้าซีด ตื่นเต้นมาก เขาถามผมว่า เคยทำอาหารมาก่อนหรือเปล่า ผมตอบไปว่าไม่เคยครับ เขาถามต่อว่า อย่างนั้นทำเป็นได้อย่างไร ผมบอกว่าเรียนรู้จากรุ่นพี่ อาจารย์คนไทยสอนและให้ลองทำเองบ้าง เขาก็พยักหน้าแล้วบอกว่า คุณทำดีนะ สวย อร่อยเลย

ตอนนั้นดีใจมาก โล่งไปหมดเลย คือโดยธรรมชาติเขาเป็นคนดุ ปากร้าย ไม่ชมใครง่าย ๆ แต่ลึก ๆ แล้วใจดี เขาคงเห็นว่าเราทำได้จริง ๆ ผมภูมิใจมากที่เขายอมรับจากนั้นบรรยากาศก็ผ่อนคลายขึ้น เชฟชวนคุยอยู่นานแล้วบอกว่า หลังจากนี้ผมจะให้คุณช่วยงาน ไม่ต้องไปล้างจานแล้วนะวันรุ่งขึ้นเขาประชุมคนทั้งร้านแล้วบอกว่า ผมต้องรับผิดชอบงานเพิ่มขึ้นนะ

ผมมารู้ทีหลังว่า สาเหตุที่พวกเชฟรุ่นพี่ไม่มาทำงาน เพราะพวกเขาไปดื่มเหล้าแล้วมีเรื่องทะเลาะวิวาท จึงต้องไปอยู่โรงพักมาทำงานไม่ได้ (หัวเราะ) ผมเลยได้รับโอกาสให้แสดงฝีมือ

ยอมลดเงินเดือนเพื่อประสบการณ์

ผมทำงานที่ร้านอาหารนั้นอยู่นานจนอิ่มตัวและเริ่มอยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆจึงย้ายร้านไปเรื่อย ๆ จนได้ขึ้นเป็นหัวหน้าเชฟด้วยวัยเพียง 24 ปี ได้เงินเดือน 12,000 บาทผมแต่งงานช่วงนั้นพอดี จึงอยากเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพแต่ร้านที่ผมทำงานไม่มีคนญี่ปุ่นเลย ความรู้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ผมปรึกษาเพื่อน ๆ และภรรยาว่าจะลาออกไปอยู่ร้านที่มีคนญี่ปุ่นแต่ไม่มีใครเห็นด้วยเลย เพราะร้านแห่งใหม่ให้เงินเดือนผมเพียง 9,000 บาท

ผมบอกภรรยาว่า ขอไปเถอะ เพราะร้านนี้เป็นร้านใหญ่ มีเชฟญี่ปุ่นหลายคน ผมจะได้เรียนรู้เรื่องอาหารใหม่ ๆ ที่สำคัญ ผมอยากพูดภาษาญี่ปุ่นได้ สุดท้ายภรรยาก็ยอม

ผมได้ความรู้จากร้านนี้เยอะมาก ด้วยความขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ทำให้เชฟชาวญี่ปุ่นไว้ใจ เปิดโอกาสให้ผมทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยให้ใครทำ เช่น เวลามีวัตถุดิบมาส่ง ผมไปช่วยเขาเช็กของทุกครั้ง โดยที่เขาไม่ต้องเรียกเลย หลัง ๆ เขาจึงวางใจให้ผมเป็นคนเช็กของเอง หรือเรื่องการลับมีดคนที่อยู่มาก่อนผมรู้ดีว่าเชฟคนนี้หวงมีดมากไม่ให้ใครแตะ แต่เขากลับยอมให้ผมลับมีดให้ ถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง เขาสอนเทคนิคการทำอาหารหลายอย่าง ซึ่งปกติเขาไม่สอนใครง่าย ๆ เช่น การขึ้นปลาไหลสอนตั้งแต่การล้าง วางมีด และการแล่เรียกว่าแทบจะจับมือสอนเลย ประสบการณ์ครั้งนั้นจึงเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก

อุบัติเหตุเปลี่ยนชีวิต

หลังจากนั้นผมก็ตระเวนหาประสบการณ์เรื่อยมา ผ่านงานทั้งโรงแรมและร้านอาหารหลายแห่ง ได้ศึกษาและฝึกใช้ภาษาญี่ปุ่นทุกวันจนสื่อสารกับชาวญี่ปุ่นได้ และได้รับการยอมรับจากเชฟชาวญี่ปุ่นท่านอื่น ๆ หน้าที่การงานของผมกำลังไปได้ดี กระทั่งเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในชีวิต

ครั้งนั้นผมขี่มอเตอร์ไซค์หักหลบรถยนต์ที่ขับแซงกันมาจนชนท้ายรถทัวร์ที่จอดอยู่ริมทาง ผมหมดสติทันที รู้ตัวอีกทีที่โรงพยาบาล อาการค่อนข้างสาหัส ขาหักทั้งสองข้าง สะโพกแตก หมอบอกว่าโอกาสที่จะกลับมาเดินได้มีไม่มากนัก ตอนนั้นผมเครียดมาก เพราะถ้าเดินไม่ได้เท่ากับว่าเส้นทางการเป็นเชฟก็ต้องจบลงเช่นกัน

ผมต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ 70 วันระหว่างนั้นผมเครียดมาก ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว มีภรรยา มีลูก 2 คน ยังเล็กทั้งคู่ ไหนจะพ่อแม่อีก ถ้ากลับไปทำงานไม่ได้จะทำอย่างไร แต่โชคยังเข้าข้าง เพราะผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ หมอจึงอนุญาตให้กลับไปทำกายภาพบำบัดต่อเองที่บ้าน

ระหว่างอยู่บ้านผมรู้สึกเบื่อ คนทำงานมาทั้งชีวิตมันอยู่เฉยไม่ได้ จึงเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวที่หน้าห้องเช่า ปรากฏว่าขายดีมากแต่ผมทำไม่ค่อยไหว เพราะขายังไม่หายดีต้องหนีบไม้ค้ำ กะเผลกไปลวกก๋วยเตี๋ยวขาบวมทุกวัน (หัวเราะ) ลูกค้าบางคนสงสารจึงช่วยลวกให้บ้าง ผมขายได้ 3 - 4 เดือนร่างกายก็หายดี จึงกลับไปทำงานต่อ อุบัติเหตุครั้งนั้นเปลี่ยนความคิดผมว่าต้องหาอาชีพสำรอง โดยคิดว่าควรจะเปิดธุรกิจของตัวเองเสียที

เชฟบุญธรรม

ฮอนโมโน กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายวัตถุดิบ “ของจริง”

เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มทำธุรกิจ ผมก็คิดถึงการเป็นซัปพลายเออร์ หรือตัวแทนจัดส่งวัตถุดิบเป็นธุรกิจแรก เพราะผมมีเพื่อนเยอะส่วนใหญ่เริ่มเป็นหัวหน้าเชฟตามร้านอาหารญี่ปุ่นแล้ว น่าจะให้เขาช่วยซื้อของจากเราได้บ้าง ผมจึงชวน เชฟบัณฑูร ชูผลา ซึ่งถือเป็นทั้งอาจารย์และผู้มีพระคุณของผมมาร่วมลงทุน จริง ๆ ผมเคยลงทุนเปิดร้านคาราโอเกะกับแกมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เพราะเราไม่เชี่ยวชาญธุรกิจจึงไปไม่รอด ต้องปิดตัวไป

คราวนี้ผมไปชวนลงทุนใหม่ อาจารย์บัณฑูรบอกว่า “บุญธรรมไปชวนคนอื่นก่อนเถอะ เราเพิ่งเจ๊งด้วยกันมานะ” (หัวเราะ) ผมชวนอยู่หลายคนแต่ไม่มีใครสนใจเลย จึงกลับไปหาอาจารย์อีกครั้ง แกก็บอกว่า “บุญธรรมชวนคนหมดแล้วเหรอ” ผมบอกว่า “อ๋อ ครับผมเหลือแต่อาจารย์นี่แหละครับ” (หัวเราะ)แกจึงตอบตกลง เราจึงได้เริ่มทำธุรกิจ

ผมตั้งชื่อว่า ฮอนโมโน แปลว่า ของจริงแท้แน่นอน เพราะอยากให้เขารู้ว่าสินค้าเราดี มีคุณภาพ และเป็นของแท้ หลังจากดำเนินการจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยก็ถึงเวลาหาออร์เดอร์ ช่วงเบรกบ่าย 2 - 5 โมง แทนที่ผมจะพัก ผมก็ขับรถไปตามร้านอาหารญี่ปุ่นเพื่อเอาสินค้าไปเสนอ สินค้าตัวแรกคือเมล่อนซึ่งปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ ข้อดีคือ มีรสชาติหวานฉ่ำใกล้เคียงกับเมล่อนนำเข้า แต่ราคาถูกกว่ามาก นำไปเสนอที่ไหนใคร ๆ ก็ซื้อ

ตอนแรกการจัดการยังไม่เป็นระบบ ผมก็อาศัยถามข้อมูลจากซัปพลายเออร์ที่มาส่งของที่ร้านว่าต้องทำอะไรบ้าง ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป กิจการเราดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามา อาศัยความซื่อสัตย์ ไม่นานลูกค้าก็มากขึ้น

เริ่มผันตัวมาเปิดร้านอาหารเอง

หลังจากเปิดกิจการสักพัก รายได้ก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเริ่มคิดว่า ตอนนี้เรามีเวลาหาลูกค้าแค่วันละ 3 - 4 ชั่วโมง ยังได้เงินมากขนาดนี้ ถ้ามีเวลาทั้งวัน เราน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ เมื่อคิดได้จึงปรึกษาอาจารย์บัณฑูรว่าจะลาออกจากงานประจำ

อาจารย์ไม่เห็นด้วย ภรรยาก็ไม่สนับสนุนเพราะคิดว่าตอนนี้เราก็ไม่ได้เดือดร้อน ค่อย ๆทำไปอย่างนี้แหละ แต่ผมคิดว่า ขอลุยก่อนแล้วกัน เงินเดือนผมไม่รับ ถ้ารายได้มากขึ้นค่อยตั้งเงินเดือนให้ผม

ก่อนลาออก ผมทยอยบอกลูกค้าที่สนิทกันว่า เดือนนี้ผมจะปั้นซูชิให้กินเป็นเดือนสุดท้ายแล้วนะครับ ปรากฏว่ามีลูกค้าท่านหนึ่งพูดกับผมว่า “ผมกินอาหารฝีมือคุณมาหลายปี ตั้งแต่ผมไม่มีเมีย จนตอนนี้มีลูกแล้วนะ แล้วอย่างนี้ผมจะไปกินที่ไหนทำไมไม่ลองเปิดร้านล่ะ”

เท่านั้นแหละ ผมกลับไปนอนคิดเลยถ้าเปิดร้านจะเอาทุนมาจากไหน จึงไปปรึกษาอาจารย์บัณฑูรเหมือนเดิม (หัวเราะ) ว่าจะเพิ่มหุ้นส่วนเพื่อหาเงินทุนเพิ่ม อาจารย์บอกก็เข้าท่านะ จึงไปชวนเพื่อน ๆ และลูกค้ามาลงทุน เราไปตระเวนหาสถานที่เปิดร้านหลายแห่ง จนมาถูกใจร้านอาหารญี่ปุ่นเก่าที่ซอยทองหล่อ 23 ตอนนั้นซอยมืด ๆ ร้านเก่า ๆคนที่สนใจลงทุนมาดู ไม่มีใครเอาสักคนสุดท้ายผมจึงคิดว่า อย่างนั้นชวนลูกน้องมาลงทุนดีกว่า หลายคนสนใจกลับบ้านไปเอานาเข้า ธกส เพราะเขามั่นใจว่าเราพาไปได้แน่ ๆ

เมื่อรวมเงินได้จนเกือบครบ เหลือหุ้นอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ ผมจำได้ว่าคุณปลาวาฬ(วรสิทธิ์ อิสสระ ผู้บริหารโรงแรมศรีพันวาภูเก็ต) เคยบอกว่า ถ้าผมเปิดร้านอาหารให้ชวนเขาลงทุนด้วย ผมจึงโทร.ไปเชิญ เขาบอกว่า “เอา ๆ ให้ผมถือหุ้นเท่าไหร่” ผมบอก 5 เปอร์เซ็นต์ครับ 150,000 บาท เขาก็บอก “ห๊ะ พี่บุญธรรมทำไมแค่นี้เองล่ะ ”แต่เขาก็ตกลงนะ คิดดู ไปชวนนักธุรกิจหมื่นล้านลงทุนแสนห้า (หัวเราะ)

เดือนแรกที่ยากลำบาก สู่เดือนที่สามกับรายได้วันละแสน

วันแรก ๆ ที่เปิดร้านแทบไม่มีลูกค้าเข้าเลย ผมเครียดมาก เพราะเงินทุนสำรองเหลือไม่มาก สิ้นเดือนต้องจ่ายทั้งค่าแรงลูกน้องค่าวัตถุดิบ และค่าเช่าที่ จนผมกับอาจารย์บัณฑูรต้องสลับกันโทรศัพท์ไปเชิญลูกค้าที่สนิทให้มารับประทานอาหารที่ร้านวันละคนสองคน แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอ ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ สุดท้ายผมต้องโทรศัพท์ไปขอยืมเงินลูกค้าที่สนิทกัน แต่เขาก็ปฏิเสธ ผมเข้าใจเขานะ เพราะว่าตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเราจะไปรอดหรือเปล่า แต่โชคยังเข้าข้าง เพราะเมื่อใกล้สิ้นเดือนลูกค้าเริ่มเข้ามากขึ้น จนถึงสิ้นเดือนมารวมบัญชี ปรากฏว่ารายรับกับรายจ่ายเท่ากันเป๊ะ (หัวเราะ) เดือนนั้นจึงรอดมาได้

จากนั้นลูกค้าเริ่มมากขึ้น พอเข้าเดือนที่ 3 มีอยู่วันหนึ่งปิดยอดได้หลักแสนต้น ๆผมเลิกงานตอนเที่ยงคืนรีบโทรศัพท์หาแม่เลยผมดีใจมากจนน้ำตาไหล ไม่คิดไม่ฝันเลยว่าตัวเองจะทำได้

เมื่อเข้าเดือนที่ 7 เริ่มมีคนมาติดต่อให้ขยายสาขา ผมคิดหนัก เพราะบางคนบอกว่าเปิดหลายสาขาจะควบคุมคุณภาพไม่ได้ จนคุณปลาวาฬมาที่ร้านแล้วแซวผมว่า “พี่บุญธรรมจะทำอยู่แค่ร้านเดียวจริงเหรอ ปั้นข้าวจนอายุ 70 เลยนะพี่” (หัวเราะ) จากนั้นเขาอธิบายให้ฟังว่า ถ้าเราขยายสาขาจะเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องยืนทำตลอด แต่ปล่อยให้ธุรกิจเติบโตเอง

ผมลองเอาข้อดีข้อเสียมาชั่งน้ำหนักดู สุดท้ายจึงตัดสินใจขยายสาขา เพราะมั่นใจว่าธุรกิจน่าจะเดินต่อไปได้ และผมเห็นว่าร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดตามห้างเป็นสิบ ๆ สาขาเขาทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ สุดท้ายจึงคิดว่า ขอลองหน่อยแล้วกัน จนตอนนี้เราเปิดร้านมาแล้ว 7 ปี มีทั้งหมด 6 สาขา

ก้าวสู่ตำแหน่งเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย

หลังจากเราทำงานมานาน เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ช่วงที่เปิดร้านได้ประมาณ 3 ปี รายการ เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ก็ติดต่อมาให้ไปร่วมรายการ ตอนนั้นมีหลายคนค้านว่าอย่าไปเลย เพราะร้านอาหารเรากำลังไปได้สวย ถ้าแพ้มาจะทำอย่างไร แต่ผมคิดว่าการแข่งขันต้องมีแพ้มีชนะเป็นธรรมดา แต่เราได้อยู่บนทีวีทุกสัปดาห์ก็น่าจะดีนะ (หัวเราะ)

เทปแรกที่เข้าร่วมแข่งกดดันมาก เหงื่อแตกพลั่ก ๆ ถึงจะเคยออกทีวีมาบ้าง แต่รายการนี้ไม่เหมือนกัน เพราะกล้องจับเราทุกอิริยาบถ บอกได้เลยว่า เป็นชั่วโมงแรกในชีวิตการทำอาหารที่โคตรเหนื่อย (หัวเราะ)กังวลทุกอย่าง ว่าจะทันเวลาไหม จัดจานอย่างไร จะอร่อยหรือเปล่า เพราะอาหารบางอย่างทำปุ๊บจะให้อร่อยเลยไม่ได้ ต้องอาศัยระยะเวลา แต่วันนั้นทำทันพอดี พอหมดเวลาปุ๊บก็โล่งเลย มาตื่นเต้นอีกทีตอนตัดสินเทปแรกไม่มีใครอยากแพ้หรอก เราก็เต็มที่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี กำชัยชนะมาได้พอเทปถัดไปจัดสรรเวลาได้ จึงผ่อนคลายมากขึ้น

แนวคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ

ตั้งแต่ผมเริ่มทำงาน คำสอนที่ผมยึดไว้เสมอคือพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9ซึ่งพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2516 ความว่า “การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดังคือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึ ต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง”

ผมเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสเข้ามาในชีวิตเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเรากล้าตัดสินใจหรือเปล่าอย่าคิดว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ลงมือทำ และถ้าตัดสินใจทำแล้วต้องตั้งใจ อดทน มุ่งมั่นบางคนอาจโชคดีหน่อย ทำ 2 - 3 ครั้งก็สำเร็จแต่บางคนอาจโชคไม่ดี ทำไป 5 - 6 ครั้งยังล้มเหลว ก็อย่าท้อ เพราะครั้งที่ 7 เราอาจสำเร็จก็ได้

อีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความซื่อสัตย์ ใครทำธุรกิจกับผมจะรู้เลยว่าไม่ต้องเซ็นสัญญาสักใบก็ได้ ผมพูดคำไหนคำนั้นเพราะความซื่อสัตย์นี่แหละทำให้ผมประสบความสำเร็จ มีคนเชื่อถือได้ถึงทุกวันนี้

สุดท้ายคือความอ่อนน้อมถ่อมตนเชื่อไหมว่า จากเด็กบ้านนอก ตั้งตัวได้มีธุรกิจของตัวเอง แต่ผมไม่เคยลืมตัวเลยว่าเราเคยเป็นลูกน้องมาก่อน อยู่ในตำแหน่งต่ำสุดคือเด็กล้างจาน ฉะนั้นจึงเข้าใจความลำบาก ทุกวันนี้ผมใช้เงินวันละไม่ถึง 300 บาทนอกนั้นกระทรวงการคลังเก็บหมด (หัวเราะ)ใช้มากกว่านั้นเฉพาะวันที่เลี้ยงลูกค้าหรือพาครอบครัวไปกินข้าวเท่านั้น

เชฟบุญธรรม

ความสุขของยอดเชฟอาหารญี่ปุ่น

ก่อนที่ผมจะประสบความสำเร็จความสุขของผมคือการทำงาน ได้เรียนรู้เทคนิคการทำอาหารใหม่ ๆ ได้ก่อร่างสร้างตัวแต่ตอนนี้ความสุขของผมคือการได้อยู่กับครอบครัว พูดคุย เล่น สั่งสอนลูก ๆ และได้ส่งเขาเรียนในสิ่งที่เขาต้องการ ที่สำคัญคือผมทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ สร้างบ้านให้เขาอยู่ ดูแลญาติพี่น้องให้มีงานทำ

อีกความสุขหนึ่งคือการให้ ผมคิดว่าเรารับอย่างเดียวไม่ได้ ทุกวันนี้ผมจัดผ้าป่าทุกปี และแจกจักรยานให้เด็กตามชนบทเพราะตอนเด็ก ๆ เราลำบากมาก่อน ตอนนี้เราพอมี ช่วยได้ก็ควรช่วย

จากเด็กต่างจังหวัดที่มีต้นทุนชีวิตเป็นศูนย์ ก้าวขึ้นมาเป็นเชฟที่ได้รับการยอมรับทั่วประเทศ ทั้งหมดไม่ได้มาจากโชคชะตาแต่มาจากสองมือของเขาที่เพียร “ปั้น” ความฝันด้วยความมุ่งมั่น และวันนี้ฝันของเขาก็เป็นจริงแล้ว


Secret BOX

อดทน ขยันอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์

ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ในตัว ความสำเร็จไม่หนีไปไหนแน่นอน

เชฟบุญธรรม ภาคโพธิ์


เรื่อง พิชญา สิทธิโชควงกมลภาพสรยุทธพุ่มภักดีสไตล์ลิสต์ ณัฏฐิตาเกษตระชนม์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.