“แม่ลออ วรรณสุคำ” ครูผู้เป็นมารดาของนักกีฬาทีมชาติไทย

ภาพของหญิงชราที่กำลังสอนเด็กๆ นับสิบคนออกกำลังกาย คงเป็นภาพที่แปลกตาสำหรับผู้มาใช้สนามกีฬาเทศบาลของจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก แต่กลับเป็นที่คุ้นชินสำหรับผู้มาใช้สนามนี้อยู่เป็นประจำ

แต่ภาพที่น่าแปลกตาคงไม่น่าแปลกใจเท่าข้อมูลที่ได้สอบถามมาจากหลายชีวิตในสนามว่า หญิงชราผู้มีผมขาวสวยคนนี้มีดีกรีเป็นถึงโค้ชสอนกรีฑาประจำจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วกว่า 50 ปี

“ปกติไปอยู่ที่ไหนแม่ก็เล่นกีฬาอยู่ตลอด พอมาอยู่เป็นครูที่ดาราวิทยาลัย เขาก็บอกให้สอนวิชาสังคมศึกษาและพลศึกษา ที่แม่ได้สอนวิชาพลศึกษา ไม่ใช่เพราะเคยเรียนจบด้านนี้มา แต่เพราะแม่เคยเป็นนักกีฬามาก่อน” ครูลออ วรรณสุคำ หรือที่เหล่าพลพรรคนักกีฬาต่างเรียกกันว่า “แม่ลออ” บอกเล่าที่มาของตัวเองให้ฟัง

“สอนไปสอนมา ปรากฏว่าเด็กโรงเรียนดาราฯไปแข่งขันแล้วได้รางวัลชนะเลิศในงานกีฬาแห่งชาติ ท่านผู้ว่าฯเห็นอย่างนั้นก็เลยให้แม่มาคุมการฝึกซ้อมของนักกีฬากรีฑา จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 แต่ก่อนจะมาคุม ทั้งครูและโค้ชต้องได้รับการฝึกอบรมก่อน…อะไรที่เขาสอน ถ้าเราทำผิดก็ปรับให้ถูกแล้วจำๆ เอามาฝึกเด็กๆ ต่อ”

“พอที่เชียงใหม่ตั้งวิทยาลัยพลศึกษา แม่ก็ซื้อหนังสือของมหาวิทยาลัยมานั่งอ่าน..อะไรที่เราไม่รู้ ก็เติมความรู้เพิ่มเข้าไปให้มากที่สุดแม่คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสอนแต่ละครั้ง คือต้องรู้และสอนทุกอย่างให้ถูกต้องที่สุด เพราะถ้าเราสอนผิด เด็กก็รับไปผิดๆ”

ทุกวันหลังหมดชั่วโมงเรียน “ครูลออ” จะรีบเร่งเดินทางไปยังสนามกีฬาเทศบาลซึ่งเป็นสนามที่เต็มไปด้วยหิน ดิน ทราย ไม่ได้สะดวกสบายดังปัจจุบัน เพื่อไปเป็น “แม่ลออ” ของเหล่านักกีฬาประจำจังหวัด ตั้งแต่เวลาห้าโมงเย็นจนถึงสองทุ่มทุกวันเป็นเวลากว่า 30 ปีเพื่อฝึกซ้อมกรีฑาให้เด็กๆ จากหลากหลายโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อถึงวัยเกษียณอายุ หลายคนเลือกที่จะพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหลังจากใช้งานร่างกายหนักมานานหลายปี แต่สำหรับแม่ลออ เธอกลับเลือกที่จะเป็น “ครู” เพื่อโค้ชกรีฑาให้กับอนาคตของชาติต่อไป…จนถึงบัดนี้ เวลาผ่านมา 20 ปีแล้ว

“หลังจากที่แม่เกษียณอายุแล้ว แม่ก็อยากจะเอาเวลาของแม่ที่มันเหลือน้อยๆ…เวลาที่พระเจ้าให้ ไปทำประโยชน์ให้กับคนอื่นดีกว่าเพราะถ้าเราสอนเขาเล่นกีฬา เขาก็จะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ทำให้มีสมองปลอดโปร่ง และสามารถเรียนหนังสือได้ดี อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘A sound mind in a sound body – จิตใจที่ผ่องใสย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์’ พอเขาเรียนหนังสือได้ดี เขาก็พร้อมจะเป็นกำลังของชาติต่อไป”

หญิงชราวัย 84 ปียังคงออกท่าทางเดิน วิ่ง ยกแขนขึ้น – ลงเหยียดขาเข้า – ออก กระโดดสูง – ต่ำให้เด็กๆ ในสนามกีฬาดูอย่างกระฉับกระเฉง ก่อนจะให้ลูกศิษย์ลองทำตามพร้อมปรบมือให้จังหวะแก่เด็กๆ

“ถ้าเราเห็นว่าเขาทำผิดก็ต้องรีบแก้ไขข้อบกพร่อง…การแก้ไขข้อบกพร่องไม่ใช่ง่ายๆ ถ้าจะให้เขายกเท้าให้สูง เราต้องทำท่าให้เขาดูก่อน ถ้าเราทำได้เขาก็ทำได้…ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป”

ฐานะที่ต่างกันก็เป็นปัญหาของนักกีฬา บางครั้งเด็กเหล่านี้ไม่มีแม้แต่เงินจะทานข้าว แม่ลออจึงต้องนำเงินบำเหน็จบำนาญที่เก็บไว้มาใช้เพื่อช่วยเหลือ “ลูกๆ” อยู่หลายครา

“เด็กๆ ใช่จะมีเงินเหมือนกันหมด บางคนไปยืมเพื่อน พอเพื่อนไม่ให้ก็ไปตีกัน แม่ต้องสอนเขาว่าอย่าทำอย่างนั้น…พ่อแม่ให้มาเท่าไรลูกต้องใช้เท่านั้น ถ้าเหลือต้องเก็บใส่ในออมสินเอาไว้…ที่จริงแม่ก็เข้าใจเขานะ เด็กเขาซ้อมมากก็หิวมาก บางครั้งเราก็ต้องเลี้ยงอาหารเขา แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะแม่รักและเอ็นดูเขา…แม่อดได้ไม่เป็นไร แต่อย่าให้เด็กต้องอดก็พอ

“พ่อแม่หลายคนถามแม่ว่าถ้าอยากให้ลูกมาฝึกด้วยแม่จะเอาเงินเท่าไร…โอ๊ย ไผว่าสักเตื้อ (ใครจะไปเอา) ต้องรีบตอบผู้ปกครองไปว่า เราสอนเด็ก เราก็ได้ประโยชน์ด้วย หนึ่งคือ กำลังกายเราก็จะดี สอง ถ้าเราอยู่บ้านเฉยๆ ทำงานบ้านง็อกๆ แง็กๆ คงจะไม่สบายใจ เพราะจิตใจของแม่นึกถึงเด็กๆ อยู่ตลอดเวลา”

“เงินเดือนแม่ก็บ่ไจ้หาได้ แล้วแม่มายะจะอี๊ แม่จะหาเงินมาจากไหน”

“แม่ไม่รู้จักเหนื่อยเหรอ ทำไมไม่หยุดซะบ้าง แก่แล้วนะ”

แม้จะมีคนมากล่าวประโยคเหล่านี้กับแม่ลออซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่แม่ครูคนนี้ก็ไม่เคยคิดจะเลิกสอนแม้สักครั้ง เพราะรู้ดีว่า เด็กทุกคนนั้น “รักและเคารพ” แม่ลออมากเพียงใด

“แม่ไม่มีเคล็ดลับอะไรในการสอน แต่ที่เด็กเชื่อแม่เพราะเขารู้ว่าเราหวังดีกับเขา แม่เอาสิ่งที่ดีมาสอนเขาตลอด อันไหนที่ไม่ถูกแม่ก็จะตักเตือน ‘ทำแบบนี้ไม่ค่อยเหมาะ…ต้องแก้ไขนะลูกนะ’ ถ้าเด็กแข่งแพ้ แม่ก็จะบอกว่า ‘ลูกจ๋า คราวหน้าเอาใหม่ดีๆ เน้อ…แม่อาจจะสอนลูกน้อยไปหน่อยมั้ง’ แต่ถ้าแม่ทำผิดเอง ก็ยอมรับว่าตัวเองผิด ‘เอ๊อ แม่พูดผิดไปหน่อยนึงละ สุมาเต๊อะ’

“เราอยู่ด้วยกัน ซ้อมกีฬากันด้วยความรัก แม่สอนเขาทุกอย่างที่แม่รู้ เขาได้ยินเราบอก เราคุย เราสอน เขาจะรับสารไปได้แค่ไหนก็ช่างเขา แต่เราเป็นครูก็ต้องพูดบ่อยๆ เตือนบ่อยๆ ในที่สุดเขาก็จะจำได้เอง”

ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งที่เหล่านักกีฬาของคุณแม่ลออลงสนาม ผู้ชมในสนามก็จะเห็นภาพเด็กๆ พนมมือไหว้สนามซ้อมและสนามแข่งทั้งสี่ด้านก่อนเสมอ เพราะ “แม่” สอนว่า…‘ที่ไหนที่ทำการสอน ไม่ว่าจะเป็นที่แคบหรือกว้าง ที่นั้นเป็นห้องเรียนของเราเสมอ อย่างสนามกีฬาที่ลูกมาฝึกกีฬานี้ก็เป็นห้องเรียนของเราเหมือนกัน”

ไม่น่าแปลกใจที่ทุกเทศกาลจะเห็น “ลูกๆ หลานๆ” ของ “แม่ลออ” สับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าตามาเยี่ยมเยือนหญิงชราถึงบ้านอย่างสม่ำเสมอพร้อมของฝากติดมือมาอย่างมากมาย

“ล่าสุดแม่ผ่าตัดซีสต์ ลูกศิษย์ที่แม่เคยสอนแห่กันมาเยี่ยมเต็มไปหมด บางคนโอนเงินไปใส่แบงก์ไว้ให้ พอแม่ปฏิเสธ เขาก็บอกว่า ‘แม่ให้พวกหนูมากกว่านี้อีก…หนูมีวันนี้ได้เพราะแม่’ …ฟังแล้วแม่หายเหนื่อยเลย”

เบื้องหลังความสำเร็จของเซอร์ไอแซค นิวตัน อาจเป็นแอ๊ปเปิ้ลลูกโต ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส อาจเป็นเรือลำใหญ่ แต่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬากรีฑาจังหวัดเชียงใหม่หลายต่อหลายคน คงเป็นใครอื่นใดไปไม่ได้นอกจากโค้ชกรีฑาที่อายุมากที่สุดในประเทศไทยแม่ลออ วรรณสุคำ คนนี้นี่เอง…

 

เรื่อง ณัฐนภ ตระกลธนภาส <www.facebook.com/nutthanop.tr> / ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.