เรไรรายวัน บันทึกประจำวัน

เรไรรายวัน บันทึกประจำวันของเด็กหญิงมากจินตนาการ

เรไรรายวัน บันทึกประจำวัน ของเด็กหญิงมากจินตนาการ

เมื่อคุณแม่เปิดเพจ “ เรไรรายวัน ” ให้น้องต้นหลิว เด็กหญิงเรไรสุวีรานนท์ นำผลงานเขียนบันทึกประจำวันของตนเองมาลงในเพจ 

ไม่มีใครคาดว่าจะมีผู้คนสนใจติดตามเพจ เรไรรายวัน ซึ่งเป็นข้อเขียนของเด็กอายุ 7 ขวบกว่า 8 หมื่นคน (ปัจจุบันมีแฟนเพจ 2 แสนกว่าคน)

อาจกล่าวได้ว่าพรสวรรค์ด้านการเขียนของเรไร ได้มาจากคุณพ่อ (ประชา สุวีรานนท์) ซึ่งเป็นนักเขียน นักออกแบบชื่อดัง และคุณแม่ (ชนิดาสุวีรานนท์) อดีตนักแปลและนักข่าวที่ผันตัวมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว เรไรมักเห็นคุณพ่อเก็บตัวอ่านหนังสืออยู่ในห้องตั้งแต่เธอยังเล็ก และใฝ่ฝันมาตลอดว่าจะได้เข้าไปเล่นในห้องหนังสือของคุณพ่อสักครั้ง

จนกระทั่งเรไรอายุได้ 4 ปี คุณแม่จึงอนุญาตให้ลูกสาวตัวน้อย เข้าไปสำรวจในห้องของคุณพ่อได้ เรไรชอบเครื่องเขียนมากมายที่วางเรียงรายอยู่บนชั้น และอยากมีอย่างคุณพ่อบ้าง จนในที่สุดเธอก็มีมุมเขียนหนังสือเป็นของตัวเองบนโต๊ะเล็ก ๆ ติดหน้าต่าง ทั้งยังมีกล่องเครื่องเขียนที่คุณพ่อทำให้วางไว้ข้าง ๆ อีกด้วย

capture-0191

ในวันหยุด ครอบครัวสุวีรานนท์มักพากันไปเที่ยวในสถานที่ที่เงียบสงบ เช่น ห้องสมุด ร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ หรือสวนสัตว์ ทำให้เรไรเป็นเด็กที่มีความผูกพันกับหนังสือการอ่าน และการเขียนมากกว่าเด็กทั่วไป

บันทึกของเรไรเริ่มต้นจากการเข้าร่วม โครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์” ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเขียน  โดยเด็กหญิงเรไรเริ่มต้นเขียนบันทึกตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่สมุดบันทึกส่งมาถึงบ้านเป็นวันแรก

capture-024

สิ่งที่ดึงดูดเรไรให้เขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ คือ เลขประจำตัวที่อยู่บนปกในของหนังสือ และช่องว่างที่เว้นไว้ให้เธอลงลายมือชื่อ เพื่อสัญญาว่าจะเขียนบันทึกเป็นประจำทุกวัน นับจากนั้นมาเธอก็เขียนบันทึกทุกวันไม่เคยขาด รูปแบบการเขียนบันทึกของเธอแตกต่างจากเด็กทั่วไป ที่มักเขียนบันทึกเรื่องราวตามสิ่งที่พวกเขาเห็น ในขณะที่เรไรมักเชื่อมโยงเนื้อหาโดยการใส่ความรู้สึกของเธอ ที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เข้าไปด้วย ทำให้เนื้อความในบันทึกของเธอ มีความต่อเนื่อง อ่านสนุก

การเขียนบันทึกเป็นประจำทุกวัน ช่วยให้ทักษะด้านภาษาของเด็กหญิงวัย 7 ปีพัฒนาขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเรไรเขียนคำศัพท์ โดยอาศัยหลักการสะกดคำตามเสียงที่อ่าน การเขียนบันทึกจึงเป็นการพัฒนาทักษะการอ่าน และการเขียนของเธอไปในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นเมื่อเจอคำศัพท์ยาก ๆ ที่ไม่สามารถเขียนได้ด้วยตนเอง เรไรก็จะถามคุณแม่ เธอจึงได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การเขียนบันทึกประจำวันยังช่วยพัฒนาความคิดของเธออีกด้วย เพราะทำให้เรไรได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ความคิดจึงค่อย ๆ ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเป็นการฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อนำมาถ่ายทอดลงในบันทึก

คุณแม่ของเด็กหญิงเรไรจึงสร้างเพจ เรไรรายวัน” ขึ้นเพื่อแบ่งปันความประทับใจกับผู้อื่น โดยไม่คาดคิดว่าจะมีคนชื่นชอบและติดตามมากมายถึงเพียงนี้ แฟนเพจมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากหลากหลายสาขาอาชีพ  ผู้ติดตามต่างกล่าวชื่นชมในความสามารถและจินตนาการของเรไร เพราะเธอได้มอบความคิดและมุมมองที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนอาจหลงลืมไปเนื่องจากวัยที่ผ่านเลย ส่วนแฟนคลับของเรไรที่เป็นเด็กในวัยเดียวกัน ต่างก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบันทึกของเรไรมากมาย บ้างก็เข้ามาโชว์ผลงานของตนเอง บ้างก็เข้ามาพูดคุยเพื่อขออนุญาตระบายสีภาพวาดที่เรไรยังไม่ได้ระบาย

แม้ว่าเพจของเรไรจะได้รับความนิยม แต่ครอบครัวก็ไม่ได้เป็นกังวลว่าลูกสาวตัวน้อยจะเหลิงไปกับการมีชื่อเสียงในสังคมออนไลน์ เพราะทุกครั้งคุณแม่จะคอยอธิบายให้ฟังว่า สิ่งที่เห็นเป็นเพียงสิ่งสมมุติ และจะกำหนดระยะเวลาไม่ให้เรไรอยู่กับเทคโนโลยีมากจนเกินไป ทั้งยังคอยดูแลให้คำแนะนำแก่เรไรอย่างใกล้ชิด

capture-026

เมื่อเพจได้รับความนิยมมากขึ้น ก็เริ่มมีคนเรียกร้องให้รวบรวมบันทึกของเรไรเป็นเล่ม เพราะไม่สะดวกอ่านผ่านหน้าจอเครื่องมือสื่อสาร เนื่องจากแฟนเพจของเรไรมีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ คุณแม่ของเรไรจึงตัดสินใจรวบรวมและจัดพิมพ์หนังสือ “เรไรรายวัน” ด้วยทุนของตนเอง เพราะไม่อยากผูกมัดลูกด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

บางครั้งบางคราวเด็กเล็ก คนหนึ่งก็สร้าง “แรงบันดาลใจ” ให้แก่ผู้คนได้อย่างคาดไม่ถึง 

เรื่อง อิศรา ราชตราชู ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

ที่มา: คอลัมน์ Inspiration นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

หนุ่มน้อยใจดี เย็บตุ๊กตาหมี แจกผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล

คุณตาผู้ป่วยวัย 91 ปี ใจดี ถักหมวกแจกฟรีให้คนไร้บ้าน

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.