ลุงไกร เกษตรศิลปินแห่งวังน้ำเขียวกับจิตวิญญาณเกษตรเสรี

ลุงไกร เกษตรศิลปินแห่งวังน้ำเขียวกับจิตวิญญาณเกษตรเสรี

ลุงไกร เกษตรศิลปินแห่งวังน้ำเขียวกับจิตวิญญาณเกษตรเสรี

นานมาแล้วที่คำว่า “เกษตรกร” หมายถึง ชาวไร่ชาวนาผู้ก้มหน้าก้มตาปลูกผักดายหญ้า ยิ่งเมื่อเงยหน้าขึ้นจากแปลงเกษตรแล้วพบว่าผลผลิตของตนราคาถูกเหมือนให้เปล่า… เกษตรกรจึงถูกมองว่าเป็นอาชีพแห่งความทุกข์ยากมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

แต่ “เกษตรศิลปินแห่งวังน้ำเขียว” กลับไม่เชื่อเช่นนั้น… ภาพชายชาวไร่นั่งไขว่ห้างเล่นดนตรีดีดกีตาร์ให้ผักฟัง (แน่นอนว่า คนกินผักและคนซื้อผักก็ได้ฟังเพลงเพราะๆ ไปด้วย) กำลังประกาศเป็นนัยให้เกษตรกรทั้งหลายรู้ว่า เกษตรกรรมเป็นการงานแห่งความสุข เสรี และมีเกียรติ…

 

เนื้อร้องของบทเพลงด้านล่างคงจะอธิบายตัวตนเกษตรศิลปินคนนี้ได้เป็นอย่างดี

ลุงไกร”…ชายผู้ใจดี                             รักเสียงดนตรี                        ชอบพืชผักพันธุ์ไม้
แกปลูกผักเอาไว้กิน เอาไว้ขาย             อิ่มกายสบายใจ                     อยู่ในไร่ของตน

ชีวิตเชิงปรัชญา                                     เรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ           จนเห็นผล
เกษตรผู้มีจิตใจอ่อนโยน                       หาความสุขส่วนตน               ร้องเพลงให้ผักฟัง

เป็นความสุขแท้จริงทางใจ                    ของชีวิตลุงไกร                     ผู้พออยู่พอกิน
ลุงไกร…เกษตรศิลปิน                            เขาคือคนของแผ่นดิน          ผู้อยู่กินอย่างพอเพียง…1

 

ก่อนจะมาปลูกผักปักธงชีวิตที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ลุงไกร หรือ ไกร ชมน้อย เคยระหกระเหินไปทำงานต่างแดนอยู่หลายปีดีดัก หลังจากใช้ชีวิตเป็นคนจรอยู่หลายปี ในที่สุดเกษตรกรรมก็นำทางพาชายคนนี้กลับบ้าน บ้านที่หมายถึง…ที่อยู่ของจิตวิญญาณอันเสรี

“ตอนทำงานคุมสโตร์อยู่ต่างประเทศ ได้รู้ได้เห็นอะไรมากมาย สิ่งที่สะดุดใจลุงไกรเป็นพิเศษคือการเกษตร เชื่อไหมว่าสินค้าส่งออกของเบลเยียมคือขี้หมูดีๆ นี่เอง ไม่ว่าดินบ้านเขาจะแห้งแล้งเป็นทรายขนาดไหน ถ้าใส่ขี้หมูลงไป ผักหญ้าของเขาจะงามเขียวขจี

“ลุงไกรเรียนจบด้านช่าง…ก็เลยช่างคิด เห็นการเกษตรบ้านเขาแล้วก็คิดว่า ทำไมดินบ้านเราจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้ เมื่อสบโอกาสได้กลับมาอยู่เมืองไทย ลุงไกรเลยปักใจกับงานเกษตร…ลงเอยด้วยการปลูกผักเมืองหนาวที่วังน้ำเขียว เพราะพอมีที่ทางอยู่บ้างและอากาศก็ไม่ร้อนจนเกินไปนัก”

หลายปีทีเดียวที่ลุงไกร “วัดใจ” กับสภาพดินฟ้าอากาศ แม้จะเคยฝากใจไว้กับสารเคมีอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็เข็ดขยาดในพิษสงของมัน

“แรกๆ ไม่มีอะไรง่ายหรอก กว่าจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกก็เหนื่อยเอาเรื่อง แต่ในที่สุดลุงก็เห็นว่า เรามาอยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องเคารพธรรมชาติ ให้ธรรมชาติเขาจัดการกันเอง สารเคมีไม่เป็นผลดีกับใครไม่ว่ากับคนปลูกผัก คนกินผัก หรือแม้แต่กับสิ่งแวดล้อม”

นอกจากทุนรอนและความรู้ สิ่งที่ลุงไกรใช้ต่อสู้กับอุปสรรคในแปลงผักคือหัวใจที่หนักแน่น ค่อยๆ เรียนรู้ควบคู่ไปกับการสังเกตธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม แมลง แสง สี…ตัวแปรเหล่านี้ถูกนำเข้าสู่สมมุติฐานของอดีตนักเรียนช่าง ก่อนจะสรุปผลออกมาเป็นกอสลัดแก้ว เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก บัตเตอร์เฮด และมะเขือเทศราชินี…ที่สด กรอบสะอาด และปราศจากสารพิษ

“เราปลูกผักปลอดสารพิษให้คนกิน ลุงไกรถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง บุญที่ว่านี้เกิดจากการไม่ใช้สารเคมีทำร้ายพระแม่ธรณีไม่เบียดเบียนเกษตรกรผู้ผลิต คนซื้อผักได้กินของดีก็มีความสุข…ลุงไกรก็พลอยได้บุญไปด้วย”

กอผักนับร้อยนับพันในสวนลุงไกรคือดอกใบแห่งความสำเร็จรูปแบบหนึ่ง แต่จิตวิญญาณของเกษตรกรผู้สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า “ตนเป็นข้าของแผ่นดิน”…ลุงไกรถือว่าตนเองยังมีหน้าที่ต่อแผ่นดินผืนนี้อีกมากมายนัก

“ตั้งแต่จำความได้ ลุงไกรดูสารคดีในทีวีเห็นภาพในหลวงเสด็จฯไปตามอ่างเก็บน้ำบ้าง เสด็จฯไปท้องไร่ท้องนาบ้าง ลุงไกรอยากถามว่า เกษตรกรไทยเห็นภาพเหล่านั้นแล้วคิดบ้างหรือเปล่าว่ารากเหง้าของเราคือเกษตรกรรม ลุงไกรจึงมั่นใจมากว่าเรามาถูกทางแล้ว

“เพียงแต่วันนี้เกษตรกรจะก้มหน้าปลูกผักดายหญ้าเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเงยหน้าขึ้นมาดูว่าโลกไปถึงไหนแล้วต้องคิดหาทางออกตลอดเวลา ถ้าการค้าเสรีเข้ามา เราจะทำอย่างไร ถ้าถูกพ่อค้าคนกลางกดราคามากๆ เราจะสู้ด้วยวิธีไหน… เกษตรกรต้องเติบโตตลอดเวลา

“อย่างที่ลุงไกรทำอยู่ถือเป็นทางออกอย่างหนึ่ง คือเปิดสวนผักเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ นักท่องเที่ยวได้ซื้อผักสดๆ จากแปลงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง รายได้ถึงมือเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย คนปลูกผักกับคนกินผักได้พบปะพูดคุยกัน แถมยังได้ชมคอนเสิร์ตจากลุงไกรอีกด้วย”

ในเมื่อโลกเปลี่ยนไป เกษตรกรไทยก็ต้องเปลี่ยนแปลง… ลุงไกรไม่ได้ต้องการให้ชาวไร่ชาวนาเลิกหว่านไถแล้วหันมาพกโทรศัพท์มือถือ หากแต่ลุงไกรหมายถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เท่าทันชั้นเชิงการตลาดที่มีแต่พ่อค้าเขี้ยวลากดิน

“เกษตรกรผู้ผลิตจะต้องไม่อยู่ลำดับสุดท้ายในระบบ หากเราคิดเป็น วางแผนเป็น มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เกษตรกรจะเข้มแข็งและมีเสรีในการประกอบอาชีพ ชีวิตจะเป็นอิสระจากหนี้ ธกส.หรือหนี้นอกระบบ

“ลุงไกรใส่ใจรายละเอียดถึงขนาดคำนวณไว้เลยว่า ที่ดินนี้สามารถปลูกผักได้กี่แปลง แปลงละกี่กอ ผักแต่ละกอหนักกี่กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละเท่าไร เก็บเกี่ยวแต่ละครั้งขายผักได้กี่กอ คิดเป็นเงินทั้งหมดเท่าไร หักต้นทุนแล้วเหลือเป็นกำไรกี่บาท และ คำถามสุดท้ายคือ ‘คุ้มไหม’…ถ้าไม่คุ้มก็ต้องคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ จะรอฟ้ารอฝนหรือรอนโยบายจากกระทรวงเกษตรคงไม่ทันกิน”

แม้สุ้มเสียงจะเริ่มแหบแห้ง แม้บทเพลงที่แต่งค้างไว้จะยังมีคอร์ดไม่ครบ แต่ทุกครั้งที่มีรถเข้ามาจอดเทียบแปลงผัก ชายร่างเล็กในหมวกสีแดงจะกระฉับกระเฉงชี้ชวนชมแปลงผัก พร้อมบรรยายวิธีปลูกและวิธีขายอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

“ไม่เหนื่อย ไม่เบื่อด้วย เพราะลุงไกรรู้ว่ายังมีเกษตรกรอีกมากนักที่ยังไม่เข้าใจสถานะและบทบาทของตัวเอง ประเทศไทยมีบัณฑิตด้านเกษตรศาสตร์ปีละหลายร้อยคน แต่กลับมีคนทำเกษตรจริงๆแทบนับหัวได้ เพราะอะไร…ก็เพราะเขาไม่รู้สึกว่าเกษตรกรเป็นอาชีพแห่งความภาคภูมิใจ ลุงไกรจึงมีหน้าที่ถ่ายทอดความภาคภูมิใจนี้ไปยังเกษตรกรทุกคน

“คนปลูกผักปลูกข้าวอย่างเราอาจไม่มีเครื่องแบบ ไม่มีคำนำหน้าชื่อยาวๆ แต่เรามีอิสรเสรีและมีความสุข นึกอยากจะหยิบกีตาร์มาร้องเพลงให้ผักฟังตอนไหนก็ได้

“ที่วิเศษสุดคือ เราไม่มีเจ้านาย นี่ถ้าลุงไกรอายุยืนเหมือนปู่เย็นก็ไม่มีวันตกงาน เพราะไม่มีใครไล่ลุงไกรออกจากอาชีพเกษตรกรได้อายุเท่าไรก็ไม่เกษียณ

“ลุงไกรจะเป็นเกษตรกร เป็นข้าแผ่นดิน จะเล่นกีตาร์ร้องเพลงให้ผักฟังไปจนตายนั่นแหละ”

เมื่อไม่นานมานี้ ลุงไกรเพิ่งกลับจากไปดูงานเกษตรกรรมที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลุงไกรเพิ่งขึ้นแสดงคอนเสิร์ตหารายได้ช่วยมูลนิธิเขาแผงม้า

เมื่อต้นปี ลุงไกรเปิดสวนให้บรรดาทหารเกณฑ์จากค่ายนราธิวาสเข้ามาศึกษาวิธีปลูกผัก นั่นหมายความว่า อีกไม่นานลุงไกรอาจต้องเดินทางไป “ตรวจ” แปลงผักเมืองหนาว ณ ดินแดนด้ามขวาน…

ถ้ามีใครถามถึง “เหตุผล” ที่ทำให้ชายวัยห้าสิบกว่าไม่เคยปฏิเสธกิจกรรมอันน่าเหนื่อยล้าเหล่านั้น คำตอบคงไม่มีอะไรมากไปกว่า… ความตั้งใจที่อยากให้ “จิตวิญญาณเกษตรเสรี” สถิตอยู่ในใจเกษตรกรไทย…ทุกคน

1เนื้อเพลง “ลุงไกร” จากอัลบั้ม “คนรักผัก” สนใจติดต่อได้ที่สวนลุงไกร โทร. 08-1274-6961


บทความน่าสนใจ

หัวใจเข้มแข็ง อารมณ์แจ่มใส จิตใจงดงามสไตล์ คุณตุ๊ก – ชนกวนันท์ รักชีพ

Dhamma Daily : เราจะมีวิธีดับจิตที่ชอบขุ่นเคือง ไม่พอใจ อารมร์ร้ายอย่างไรครับ

การพัฒนาจิต 2 วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน บทความธรรมะจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ    

สงบเย็น เป็นประโยชน์ ด้วยวิถีชีวจิต กับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

มีธรรมครองจิต ชีวิตยืนยาว เรื่องราวการดูแลสุขภาพกาย-ใจดีๆ จาก ชรัส เฟื่องอารมย์

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.