สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ธรรมนูญชีวิตของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 

ธรรมนูญชีวิตของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

เมื่อเอ่ยนาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “ป.อ. ปยุตฺโต” คำจำกัดความที่ถูกหยิบยกมาอธิบายนั้นคงหลากหลายกันไป  ไม่ว่าจะเป็น…

- พระสงฆ์ผู้สามารถสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

- พระนักวิชาการ นักคิด  นักเขียนงานทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก  รวมถึงงานชิ้นโบแดงที่ได้รับการยอมรับว่าทรงคุณค่ายิ่งอย่าง“พุทธธรรม” และ “ธรรมนูญชีวิต” จากผลงานจำนวนกว่า 100 เล่ม

- เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน  อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม

- ศาสตราจารย์พิเศษ  ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพจากองค์การยูเนสโก(UNESCO Prize for Peace Education) ฯลฯ

ด้วยข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดก็คงเพียงพอและไม่ถือเป็นการเกินเลยเมื่อสื่อหลายแขนงได้ให้คำจำกัดความที่สามารถสรุปความเป็นตัวท่านได้อย่างตรงจุดและครอบคลุมว่า “ปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนา” ผู้ซึ่งมีวิถีแห่งปราชญ์ที่น่าทึ่งและควรค่าแก่การเคารพยกย่อง…นับตั้งแต่จุดกำเนิดเมื่อกว่า 7 ทศวรรษก่อนหน้านี้

Secret ขอนำแนวคิดและแนวทางคำสอนของท่านเกี่ยวกับเรื่องราวร่วมสมัยที่น่าสนใจมาสรุปสั้น ๆ และเรียบเรียงเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

ชีวิตและการทำงาน

งานนั้นไม่ใช่เป็นตัวเรา  และก็ไม่ใช่เป็นของเราจริง  แต่งานถือเป็นกิจกรรมของชีวิต  เป็นกิจกรรมของสังคม  เป็นสิ่งที่ชีวิตของเราเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้อง  แล้วก็ต้องผ่านกันไปในที่สุด  งานนั้นเราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้แท้จริง  เพราะล้วนขึ้นกับสิ่งอื่น  เช่น  ปัจจัยแวดล้อม กาลเทศะความเปลี่ยนแปลงของสังคม  และเป็นสิ่งที่คนอื่นจะต้องมารับช่วงทำกันต่อไป  ต่างกับชีวิตของเราแต่ละคน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเมื่อเราปฏิบัติต่องานหรือทำงานอย่างถูกต้องมีทีท่าของจิตใจต่องานถูกต้องแล้ว  ชีวิตจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวในแต่ละขณะภาวะที่ชีวิต งาน  และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว แยกได้เป็น 2 ระดับ  คือ

ระดับที่หนึ่ง  การทำงานที่ชีวิตจิตใจกลมกลืนเข้าไปในงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  พร้อมทั้งมีความสุขพร้อมอยู่ในตัว  แต่กระนั้นลึกลงไปในจิตใจก็ยังมีความยึดติดถือมั่นในงานที่ทำ  ถือเป็นการแฝงเอาเชื้อแห่งความทุกข์ซ่อนไว้ลึกภายใน

ส่วนในอีกระดับหนึ่ง  ความประสานกลมกลืนของชีวิตจิตใจกับงานที่ทำ พร้อมไปด้วยความรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิตและการงานที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยโดยไม่ต้องอยาก ไม่ต้องยึดถือสำคัญมั่นหมายให้นอกเหนือหรือเกินไปจากการกระทำตามเหตุผลด้วยความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างจริงจัง  เรียกได้ว่าชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน  แต่เป็นอิสระอยู่เหนืองานนั่นเอง

เรียบเรียงจาก

งานเพื่อความสุขและแก่นสารของชีวิต, บริษัทสหธรรมิก จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 2537, หน้า 66 - 67 และ 68 - 69

คลิกเลข 2 ด้านล่างเพื่ออ่านหน้าถัดไป

การศึกษา

การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นความหมายที่แท้ของการศาสนา…การศึกษานั้นเป็นทั้งตัวการพัฒนาและเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนา  คือเป็นการพัฒนาตัวบุคคลขึ้นไป  โดยพัฒนาตัวคนทั้งคนหรือชีวิตทั้งชีวิต  เมื่อผู้เรียนมีการศึกษาแล้วก็จะเอาคุณสมบัติที่ตัวมีซึ่งเกิดจากการศึกษาไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ

จุดมุ่งหมายของการศึกษาก็เพื่อพัฒนาครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ

1. พัฒนากาย  โดยนอกจากจะพัฒนาร่างกายให้มีสุขภาพดีแล้ว  ในทางพุทธศาสนายังหมายรวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ดีงาม  ด้วยการพัฒนากายที่เรียกว่า  กายภาวนา

2. พัฒนาศีล  หรือพัฒนาการทางสังคม  ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ทางพระว่า  ศีลภาวนา

3. พัฒนาจิต  หรือจิตตภาวนาเพื่อให้พร้อมสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ 3 ด้านคือ  คุณภาพจิต  สมรรถภาพจิต  และสุขภาพจิต

4. พัฒนาปัญญา  เรียกว่า  ปัญญาภาวนา  แบ่งได้เป็น

- ปัญญาขั้นแรก  คือ  ปัญญาที่เป็นความรู้ความเข้าใจในศิลปวิทยาการ

- ปัญญาขั้นสอง  คือ  การรับรู้เรียนรู้อย่างถูกต้อง

- ปัญญาขั้นสาม  คือ  การคิด การวินิจฉัยด้วยการใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ

- ปัญญาขั้นสี่  คือ  ปัญญาที่รู้เข้าใจถึงสาระแห่งความเป็นไปของโลกและชีวิต

- ปัญญาขั้นห้า  คือ  ปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร  คือโลกและชีวิต

เรียบเรียงจาก

- การศึกษาที่สากลบนฐานแห่งภูมิปัญญาไทยโครงการตำราและเอกสารทางวิชาการคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2532, หน้า 70 - 71

- การศึกษา : เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, พิมพ์ครั้งที่ 4 2536, หน้า 95 - 105

ความรัก

ความรักในความหมายที่แท้คือ  การอยากเห็นเขาเป็นสุข  เหมือนอย่างพ่อแม่รักลูก  ก็คืออยากเห็นลูกเป็นสุข  แต่ยังมีความรักอีกแบบหนึ่งคือ  ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเป็นสุข  อย่างนี้ไม่ใช่รักจริงแต่เป็นความรักเทียม  ซึ่งก็คือราคะ  ดังนั้นจึงสามารถแบ่งความรักได้ 2 ประเภท  คือ

1. ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเราเป็นสุข  ความรักแบบนี้อาจจะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์  หรือต้องมีการแย่งชิงกัน

2. ความรักที่อยากเห็นเขามีความสุขพออยากเห็นคนที่เรารักเป็นสุขก็อยากทำให้เขาเป็นสุข  พอทำให้เขาเป็นสุขได้เราก็เป็นสุขด้วย  เหมือนพ่อแม่อยากเห็นลูกมีความสุขพอทำให้ลูกเป็นสุขได้  ตัวเองก็เป็นสุขด้วยจึงเป็นความรักที่พร้อมจะให้และสุขด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้ความรักที่แท้จริงและควรน้อมนำเข้าสู่ชีวิตจึงเป็นความรักประเภทที่สอง  ซึ่งมุ่งเน้นการให้  เป็นความรักที่พร้อมพรั่งด้วยหลักธรรมทั้ง 4 ประการ คือสัจจะ  ทมะ  ขันติ  และจาคะ

เรียบเรียงจาก

- ความจริงเกี่ยวกับความรัก  ความโกรธและความเมตตา  เล่ม 2, สำนักพิมพ์สบายะ, พิมพ์ครั้งที่ 1 2549

- คู่มือชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 14 พฤษภาคม 2550, หน้า 91

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

ประชาธิปไตย

หลักธรรมทุกอย่างในพระพุทธศาสนานั้นถือเป็นหลักประชาธิปไตย  เนื่องจากเป็นเรื่องของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพและให้รู้จักปกครองตนเองได้  แต่จะต้องมองให้ถูกแง่และปฏิบัติตามให้ถูก  หลักธรรมนั้นมีไว้ให้ทุกคนปฏิบัติ  และจะต้องมองหลักธรรมโดยมีความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ใช่เรียกร้องจากผู้อื่น  ด้วยเหตุนี้หลักธรรมจึงทำให้เกิดประชาธิปไตยเช่น  คาระ  แปลว่า  ความเคารพ  หมายถึงการมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่น  รวมถึงความคิดของเขา  อันเป็นหลักสำคัญของประชาธิปไตยนั่นเอง

การปกครองที่ดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อเจ้าของอำนาจสูงสุดมีธรรมาธิปไตยฉะนั้นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดอยู่ในมือประชาชน  ประชาชนจึงต้องมีความรับผิดชอบที่จะทำตนให้เป็นธรรมาธิปไตย  คือถือธรรมเป็นใหญ่  โดยแบ่งได้เป็น 2 ระดับ  คือ  ขั้นต้น  ได้แก่หลักการ กฎเกณฑ์  กติกาต่าง ๆอันชอบธรรมที่ได้ตกลงกันไว้  และขั้นสูงขึ้นไป  รวมถึงความจริงความถูกต้องดีงาม  และประโยชน์สุขที่เหนือกว่าขั้นต้นขึ้นไปจนสุดขีดแห่งปัญญาจะมองเห็นได้

เมื่อประชาชนถือธรรมเป็นใหญ่ ใช้ปัญญา  ไม่เอาแต่ใจหรือตามใจกิเลส ไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ก็จะส่งผลให้สามารถปกครองตนเองได้  และเมื่อบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนหรือใช้อำนาจในนามประชาชน คือผู้แทนและนักการเมืองทั้งหลายเป็นธรรมาธิปไตยด้วยแล้วประชาธิปไตยก็จะสามารถไปได้ดี  สังคมก็จะเป็นปกติสุข ไม่มีการเบียดเบียนข่มเหง เอารัดเอาเปรียบกัน

เรียบเรียงจาก

- พุทธศาสนากับสังคมไทย, มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2526, หน้า 10 - 11

- การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย, ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา, พิมพ์ครั้งที่ 7 2537, หน้า 67 - 69 และ 114 - 115

 

ความสุข

ความสุขในทางพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็น 5 ขั้น  คือ

ขั้นที่ 1  ความสุขจากการเสพวัตถุหรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอกที่นำมาปรนเปรอตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายของเรา

ขั้นที่ 2  ความสุขขั้นนี้เกิดขึ้นได้เมื่อเจริญคุณธรรม  เช่น  มีเมตตากรุณามีศรัทธา

ขั้นที่ 3  ความสุขจากการดำเนินชีวิตได้ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ  ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมุติ

ขั้นที่ 4  ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง  เช่น  ปรุงแต่งความคิด  ทำให้สร้างสิ่งประดิษฐ์  เกิดเป็นเทคโนโลยีต่าง ๆ

ขั้นที่ 5  ความสุขเหนือการปรุงแต่งคืออยู่ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต  การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาที่เห็นแจ้ง  ทำให้วางจิตวางใจ  ลงตัวสนิทสบายกับทุกสิ่งทุกอย่างอย่างผู้เจนจบชีวิต

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า  คนเราสามารถหาความสุขที่ประณีตกว่าการบำเรอตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ท่านเรียกความสุขแบบนั้นว่าเป็นความสุขที่ประณีตขึ้น  มีลักษณะสำคัญคือ เป็นอิสระ  มนุษย์จะมีความสุขได้โดยลำพังในใจและไม่ต้องขึ้นกับวัตถุภายนอก  หมายความว่า  แม้วัตถุภายนอกไม่มีอยู่  เราก็มีความสุขได้ข้อสำคัญคือ  มันเป็นความสุขพื้นฐานที่จะทำให้การแสวงหาหรือการเสพความสุขภายนอกเป็นไปอย่างพอดี  อยู่ในขอบเขตที่สมดุล  ทำให้มีความสุขแท้จริง  และไม่เบียดเบียนกันทางสังคม

คนที่ทำให้จิตใจตัวเองมีความสุขได้ทั้งทางจิตและทางปัญญา จะมีความสงบในใจตนเองและมีความสุขได้อย่างที่เรียกว่ามีสมาธิ  หรือมีความสุขจากการรู้เท่าทันและเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นความสุขทางปัญญาเนื่องจากเห็นแจ้งความจริง  ถือเป็นความสุขภายในของบุคคล  ถ้าคนเรามีความสุขแบบนี้เป็นรากฐานแล้ว  การหาความสุขทางวัตถุมาบำเรอตา  หู  จมูก  ลิ้น กาย  ก็จะมีความรู้จักประมาณหรือมีขอบเขต

คนที่อยู่ในโลกด้วยความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง วางจิตลงตัวพอดี  เรียกได้ว่าเป็นจิตอุเบกขาส่งผลให้มีความสุขอยู่ประจำตัวตลอดเวลาเป็นสุขที่เต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก และเป็นผู้มีชีวิตที่พร้อมจะทำเพื่อผู้อื่นได้อย่างเต็มที่  เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตนและไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป

เรียบเรียงจาก

- คู่มือชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 14 พฤษภาคม 2550, หน้า 140 – 150

- ข้อคิดชีวิตทวนกระแส, ทุนส่งเสริมพุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 4 2536, หน้า 8 – 10


Secret Box

คนเราเรียนรู้ได้มากจากปัญหา ได้ศึกษาจากความทุกข์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


เรื่อง ภัทรภี  พุทธวัณณ  ภาพ รุจิกร ธงชัยขาวสอาด

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.