“ช่วยอ่านหน่อยนะ” : “ดวงตา” ของผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น

เสื้อตัวนี้สีอะไรครับ”

รูปนี้คือรูปอะไรคะ” “ข้อความในจดหมายนี้คืออะไรครับ”

คงไม่ใช่เรื่องยากที่คนตาดีจะตอบคำถามเหล่านี้ แต่ลองจินตนาการว่า

หากเรามองไม่เห็น จะตอบคำถามนี้ได้อย่างไร

แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น มีโปรแกรมอ่านออกเสียงบนหน้าจอ และโปรแกรมขยายตัวอักษรและรูปภาพของผู้ที่มีสายตาเลือนราง อย่างไรก็ตามเนื้อหาอย่างหนึ่งที่ยังไม่มีโปรแกรมใดอ่านได้ คือ “รูปภาพ” ที่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดบรรยายรายละเอียดของภาพได้ ทำให้ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฉลากผลิตภัณฑ์ใบเสร็จค่าใช้จ่าย หรือภาพประกอบในหนังสือ เป็นต้น

ปัญหาที่ว่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่าช่วยอ่านหน่อยนะ”

ช่วยอ่านหน่อยนะ” คืออะไร

“ช่วยอ่านหน่อยนะ” คือกลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook Group) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนดวงตาให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรับรู้ข้อมูลหรือสิ่งของอื่น ๆ ที่ต้องการเพียงแค่ผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพหรือนำภาพมาอัพโหลดในกลุ่มเฟซบุ๊กนี้ สมาชิกอาสาตาดีก็จะพิมพ์ข้อความอธิบายภาพถ่ายดังกล่าวในช่องความคิดเห็น (comment) ส่งกลับไปให้ทันที นับเป็นเครื่องมือช่วยเหลือที่ฉับไวเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนสายตาปกติมากที่สุด

คุณณัฐ
คุณณัฐ - ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์

จุดเริ่มต้นของกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ”เกิดหลังจาก คุณณัฐ - ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ (ซีอีโอ บริษัทโฟคอล อินเทลลิเจนซ์ จำกัด)ผู้ริเริ่มแอพพลิเคชั่น Read for the Blind เพื่อสร้างหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา ได้ทำงานร่วมกับผู้พิการทางสายตาและพบปัญหาการเข้าถึงข้อมูลประเภทรูปภาพและไฟล์ PDF ของเพื่อนกลุ่มนี้ โดยเห็นตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับ คุณอิ๊ก - ชลทิพย์ ยิ้มย่อง ผู้ดูแลระบบข้อมูลข่าวสารสำหรับคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ หรือบริการ 1414 Plus ของมูลนิธิคนตาบอดไทยและแอพพลิเคชั่น Read for the Blind คือ

“ช่วงหนึ่งอิ๊กกำลังหาสถานที่เรียนภาษาอังกฤษให้ลูก เมื่อติดต่อไปยังสถาบันต่าง ๆเพื่อขอรายละเอียด ก็ได้รับเอกสารข้อมูลในรูปแบบของไฟล์ PDF และรูปภาพจำนวนมาก แต่ไฟล์รูปแบบนี้โปรแกรมอ่านหน้าจอไม่สามารถอ่านออกเสียงได้ จึงต้องส่งไฟล์ไปให้คุณณัฐวุฒิช่วยอ่าน ตอนนั้นคุณณัฐวุฒิก็พิมพ์หรืออัดเสียงแล้วส่งมาให้ทางแอพ-พลิเคชั่น WhatsApp”

เมื่อเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น คุณณัฐวุฒิจึงตัดสินใจตั้งกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ในเฟซบุ๊ก โซเชียลเน็ตเวิร์คสุดฮิตในยุคนี้

“ผมคิดว่าถ้าคุณอิ๊กประสบปัญหานี้ผู้พิการทางสายตาคนอื่น ๆ ก็น่าจะเจอปัญหานี้เช่นกัน ผมจึงตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘ช่วยอ่านหน่อยนะ’ ขึ้นมา โดยตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือของผู้พิการทางสายตาสาเหตุที่ตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กเพราะว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่คนทั่วไปใช้งานกัน และที่สำคัญคือผู้พิการทางสายตาใช้กันมาก และใช้ได้คล่องมากด้วย

“ผมและคุณอิ๊กทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกลุ่มโดยคุณอิ๊กเชิญเพื่อน ๆ คนตาบอด ส่วนผมก็เชิญคนตาดีเข้ามา เพราะกลุ่มนี้เราอยู่กันเป็นสังคม ดังนั้นจึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างผู้ที่ช่วยเหลือกับผู้ขอความช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลืออาจต้องมีมากกว่า เพราะเวลาที่มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือหนึ่งคน ต้องใช้พลังของผู้ช่วยเหลือมากพอสมควร”

กลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ” จึงเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 เพียงแค่สัปดาห์แรกที่จัดตั้งกลุ่มก็มีสมาชิกกว่าพันคน และปัจจุบันนี้มีสมาชิกทั้งหมดเจ็ดพันกว่าคนแล้ว

ช่วยอ่านอย่างไร

วิธีการง่าย ๆ ของการเป็นสมาชิกกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ” มีดังนี้

  • สมาชิกผู้พิการทางสายตาและสมาชิกอาสาตาดีเข้าร่วมกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ”ได้ทั้งจากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ด้วยการค้นหาคำว่า “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ในช่องค้นหาของเฟซบุ๊ก หรือเข้าไปที่facebook.com/groups/helpusread  และกดปุ่ม “เข้าร่วม” (หรือ “Join Group”) ที่หน้าจอ แล้วรอให้ผู้ดูแลกลุ่มอนุมัติเข้าร่วมกลุ่ม
  • สมาชิกผู้พิการทางสายตาสามารถโพสต์ข้อความ แปะลิงก์ หรืออัพโหลดรูปภาพที่ต้องการขึ้นในกรุ๊ป เพื่อให้สมาชิกอาสาตาดีช่วยอ่านได้เมื่อมีการโพสต์ของสมาชิก ระบบจะแจ้งเตือนไปยังสมาชิกทุกคนในกลุ่ม หากอาสาตาดีคนใดสะดวกเข้ามาตอบสามารถคลิกเข้าดูโพสต์นั้นได้ทันที
  • สมาชิกอาสาตาดีช่วยกันอ่านได้โดยการ “พิมพ์ข้อความ” เพื่อให้โปรแกรมอ่านหน้าจอของผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านได้

ปัจจุบันนี้มีสมาชิกอาสาตาดีเป็นจำนวนมากที่คอยช่วยเหลือ การอ่านข้อความตอบจึงเป็นไปอย่างฉับไว นอกจากนี้สมาชิกผู้พิการทางสายตาสามารถโพสต์ขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าผู้พิการทางสายตาถ่ายรูปได้อย่างไร คุณชลทิพย์เล่าว่า

การถ่ายรูปจากสมาร์ทโฟนจะมีโปรแกรมสแกนหน้าคนหรือสิ่งของที่อยู่ตรงหน้าอยู่แล้วตัวโปรแกรมอ่านหน้าจอจะอ่านสิ่งที่โปรแกรมสแกนตรวจจับได้ ส่วนเทคนิคในการถ่ายภาพขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน เช่นการวางมือทาบไปบนสิ่งของที่ต้องการถ่ายภาพก่อน แล้วลองกะระยะดูเมื่อจะถ่ายภาพก็เอามือออก หลักการและเทคนิคการถ่ายภาพเหล่านี้ มูลนิธิคนตาบอดไทยและสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยจัดอบรมเป็นระยะและทำสื่อการสอนไว้ด้วย”

 

ช่วยกันอ่านอะไรบ้าง

ข้อมูลข่าวสารที่ผู้พิการทางสายตาเข้ามาโพสต์ในกลุ่มมีหลากหลายประเภท เช่น

  • เอกสารต่าง ๆ ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ป้ายราคา ฉลากยาฉลากสินค้า แผ่นพับโฆษณา เอกสารประกอบการเรียนการสอน เป็นต้น
  • ภาพและไฟล์ภาพต่าง ๆ เช่น ภาพประกอบในหนังสือ ไฟล์ภาพที่อยู่ในเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ภาพอักษรแคปต์ชา (CAPTCHA คือภาพตัวอักษรหรือตัวเลขบิดเบี้ยวที่ให้ผู้ใช้งานพิมพ์รหัสข้อความเหล่านั้นลงในช่องว่างหน้าเว็บไซต์) และภาพที่ถ่ายเองจากโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูป เป็นต้น
  • ไฟล์เอกสารในรูปแบบ PDF เช่น คู่มือการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เอกสารประกอบการเรียน ตารางเรียน ตารางสอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ระดมความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น การพิมพ์เอกสารเป็นเล่ม หรือการอ่านหนังสือเสียงสำหรับนักเรียนนักศึกษาผู้พิการทางสายตาในช่วงใกล้สอบ เป็นต้น

ขอความร่วมมือหน่อยนะ

แม้บรรยากาศการช่วยเหลือกันในกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ” จะเป็นไปอย่างไม่เคร่งเครียด แต่ผู้ดูแลกลุ่มก็ได้ขอความร่วมมือเพื่อให้สมาชิกทุกคนเข้าใจกันและกันมากขึ้น ดังนี้

  • คุยกันอย่างสุภาพ และขอบคุณความช่วยเหลือระหว่างกันเสมอ
  • การโพสต์ขอความช่วยเหลือ ให้พิมพ์ว่า “ขอให้ช่วยอ่าน” เพราะในกรณีที่โพสต์ภาพอย่างเดียว แล้วไม่มีคำอธิบายว่าต้องการอะไร เพื่อนผู้ช่วยเหลืออาจไม่เข้าใจความต้องการของท่าน
  • ในกรณีที่ข้อความที่อ่านเป็นเรื่องแง่ลบหรือไม่สุภาพโดยไม่ตั้งใจ ผู้ดูแลกลุ่มขออนุญาตคัดลอกข้อความที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วเหล่านั้นส่งให้เจ้าของโพสต์ทางกล่องข้อความ แล้วลบโพสต์นั้นออก
  • ขอให้เป็นเรื่องที่ต้องการขอความช่วยเหลือให้อ่านจริง ๆ เพราะเวลาของสมาชิกทุกคนมีค่า เรื่องคุยกันสบาย ๆ มีได้บ้าง แต่ขอให้เหมาะสมพอดี

กรณีนี้ต้องช่วย

คุณล้ง – สิทธิโชค วรอิทธินันท์ หรือรู้จักกันในชื่อของ “นายหมอคอม” ผู้ให้คำปรึกษาด้านไอทีของผู้พิการทางสายตาจากสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ได้ยกตัวอย่างสองเหตุการณ์ที่เคยขอความช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนจากเพื่อน ๆ สมาชิกอาสาตาดี ดังนี้

คุณสิทธิโชค
คุณล้ง – สิทธิโชค วรอิทธินันท์

ครั้งหนึ่งผมต้องการเข้าเว็บไซต์ธนาคารเพื่อขายกองทุน แต่ใส่พาสเวิร์ดเพื่อล็อกอินผิดไปสองครั้ง หน้าเว็บไซต์ก็ขึ้นภาพอักษรแคปต์ชาเพื่อให้ผมพิมพ์อักษรตามภาพนั้น แต่โปรแกรมอ่านหน้าจอไม่สามารถอ่านตัวอักษรในภาพนั้นได้ ผมจึงกดปุ่ม print screen เพื่อถ่ายภาพหน้าจอ และนำภาพนั้นไปโพสต์ในกลุ่ม ‘ช่วยอ่านหน่อยนะ’ ทันที เพราะผมต้องใส่รหัสนั้นภายใน 15 นาทีครับ

หลังจากโพสต์ไปไม่กี่นาที ก็มีเพื่อนอาสาเข้ามาช่วยอธิบายภาพอย่างละเอียดว่าเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวไหนบ้าง พร้อมทั้งระบุว่าแต่ละตัวเป็นตัวพิมพ์เล็กหรือตัวพิมพ์ใหญ่ เพื่อให้ผมพิมพ์เติมลงไปอย่างไม่ผิดพลาดซึ่งมีเพื่อนอาสาหลายคนเข้ามายืนยันว่ารหัสที่คนแรกอ่านให้ถูกต้องแล้ว หรือบางคนก็เข้ามาบอกว่าถ้าเข้าไม่ได้ ให้เข้ามาโพสต์ภาพแคปต์ชาใหม่ได้

อีกครั้งหนึ่งผมอยู่คนเดียวที่บ้านพัดลมไอเย็นที่ใช้อยู่เกิดเสีย ผมจึงกดหาข้อมูลศูนย์บริการจากกูเกิล และโทร.เข้าไปสอบถามรายละเอียด เมื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ได้เขาขอให้ผมช่วยดูชื่อรุ่นให้ แต่ผมไม่รู้ว่าชื่อรุ่นที่ว่านี้อยู่ตรงไหน ผมจึงถ่ายรูปรอบเครื่องแล้วโพสต์ลงในกลุ่ม ไม่นานก็มีสมาชิกเข้ามาตอบให้ ซึ่งถือว่าช่วยผมได้มากจริงๆ ”

ช่วยลดช่องว่างเพิ่มความเข้าใจ

นอกจากกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ”จะทำหน้าที่เป็นเสมือนดวงตาของผู้พิการทางสายตาแล้ว ยังถือเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกเรียนรู้และทำความเข้าใจกันและกันได้

คุณชลทิพย์เล่าถึงประเด็นนี้ว่า  ส่วนตัวแล้วไม่อยากให้คนตาดีมองว่าคนตาบอดน่าสงสารหรือต้องมา ‘ทำบุญ’ ให้คนตาบอด เพราะจริงแล้วมีคนตาบอดกลุ่มหนึ่งที่พยายามดิ้นรนเรียนหนังสือและทำงานด้วยตัวเอง และไม่ชอบคำนี้เพราะเหมือนเป็นการกดเขาให้ไม่เท่าเทียมกับคนทั่วไป

การเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ เราถือว่าทุกคนเป็นสมาชิกเหมือนกันหมด พยายามมองให้ทุกคนกลมกลืน เท่าเทียมกันเพียงแต่คนตาบอดขาดแค่เรื่องการมองเห็น ซึ่งคนตาดีมาเสริมจุดนี้ มาเป็น ‘ดวงตา’ ให้พวกเขาได้แล้วเราก็เป็นเพื่อนกัน อยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสทำให้คนได้แบ่งปัน ได้เห็นสิ่งดีที่เกิดขึ้นในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยความเคร่งเครียด สิ่งดีเหล่านี้จะนำพาความสุขใจมาแก่ทุกคนได้”

ที่สำคัญคือ กลุ่มนี้ทำให้คนตาดีและคนตาบอดเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ดังที่คุณณัฐวุฒิเล่าว่า

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของกลุ่มนี้ที่ผมเห็นชัดมากคือ การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเดียวกันอย่างแท้จริงของคนสองกลุ่ม ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เราได้มาอยู่ร่วมกันเพราะฉะนั้นผมคิดว่าคนตาดีที่อยู่ในกลุ่มนี้จะเข้าใจผู้พิการทางสายตามากขึ้น อย่างแรกที่เราได้เข้าใจจริง คือผู้พิการทางสายตาเล่นสมาร์ทโฟนและโซเชียลเน็ตเวิร์คเก่งมากเขาพิมพ์กันเร็วมาก (ยิ้ม)ผมคิดว่าพื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นการเชื่อมคนสองกลุ่มที่เดิมแยกออกจากกันให้กลายเป็นกลุ่มเดียวกันได้

สมาชิกในกลุ่มนี้จึงอยู่อย่างเกื้อกูลกันผมคิดว่า แม้คนที่มาช่วยอ่านไม่ทันแค่เขากดไลค์ก็ส่งผลดีต่อกลุ่มอย่างมหาศาลแล้วเพราะคนตาบอดที่มาโพสต์ก็อุ่นใจ เพราะรู้ว่ามีคนพร้อมจะช่วยเสมอ ส่วนคนที่มาตอบพอมีคนคลิกไลค์ เขาก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือครั้งนี้”

จากใจอาสาตาดี

คุณจอย – ดวงใจ  แจ่มแป้น หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ”และเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงมากว่า 7 ปีเล่าถึงความประทับใจของกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ว่า

คุณดวงใจ
คุณจอย – ดวงใจ แจ่มแป้น

จอยเป็นสมาชิกกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ’ ตั้งแต่แรก เลยส่วนตัวคิดว่าเป็นกลุ่มที่ดีมาก เพราะสมาชิกจะช่วยเหลือกันอย่างฉับไว จนตัวเราเองก็แทบเข้าไปช่วยโพสต์ตอบไม่ทันเลย (ยิ้ม)ตอนนี้มีสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้นมาเรื่อย รู้สึกดีใจมากที่มีคนมาช่วยเหลือกันมากขึ้น แล้วเราก็ได้เห็นว่าสมาชิกบางคนบรรยายภาพเก่งจังเลย คือบรรยายจนสามารถจินตนาการภาพตามได้อย่างชัดเจน

การเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ทำให้รู้ว่าผู้พิการทางสายตาไฮเทคมาก พวกเขามีศักยภาพในการพัฒนาตนเองหากได้รับโอกาสให้เข้าถึงเทคโนโลยี กลุ่ม ‘ช่วยอ่านหน่อยนะ’ ถือเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างคนตาบอดกับคนตาดีเข้ามาหากัน ทำให้คนสองกลุ่มนี้เข้าใจกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องขอขอบคุณผู้ที่จัดตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า”

จากใจสมาชิกผู้พิการทางสายตา

คุณล้ง – สิทธิโชค วรอิทธินันท์ เล่าถึงความประทับใจของกลุ่ม “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ว่า

กลุ่ม ‘ช่วยอ่านหน่อยนะ’ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือที่รวดเร็วและมีประโยชน์มาก บางครั้งเรื่องในชีวิตประจำวันเช่นห้องนี้เปิดไฟหรือไม่ ยาที่เรากินคือยาอะไรบางครั้งอาจได้ยินว่าขอความร่วมมือให้ใส่เสื้อสีฟ้าในวันแม่ เราก็แค่หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายหนึ่งแชะ แล้วอัพโหลดขึ้นไปถามว่า เสื้อตัวนี้สีอะไรครับ ก็มีคนมาช่วยตอบในทันที

ตอนนี้คนตาบอดยังเข้ามาเป็นสมาชิกในสัดส่วนที่น้อยอยู่ อาจเป็นเพราะมีเพียงคนตาบอดกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้าถึงและใช้งานโซเชียลมีเดียได้เท่านั้น ในอนาคตก็อยากให้มีเพื่อนสมาชิกคนตาบอดเข้าถึงกลุ่มได้มากกว่านี้

ที่สำคัญคือ ในสังคมปัจจุบันนี้คนตาบอดกลุ่มหนึ่งแยกออกมาอยู่คนเดียวกันเยอะและใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่ถ้าอยู่อย่างอิสระแล้วมีคนมาช่วยเหลือในบางโอกาสก็ทำให้เรามีความสุขและอบอุ่นใจขึ้น”

เชื่อเหลือเกินว่าจากจุดเริ่มต้นเล็ก นี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในใจของหลายคนได้ 

 

เรื่อง เชิญพร คงมา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

ผู้ช่วยช่างภาพ กำพล ยอดเมือง

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.