“พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน” แจง – วราพรรณ หงุ่ยตระกูล (จบ)

“ชีวิตคือความไม่แน่นอน”ในวันนี้คำพูดธรรมดาๆ นี้อาจไม่ลึกซึ้งกินใจแต่ประการใด แต่ในอีกวันหนึ่งคำพูดเดียวกันนี้จะมีความหมายมากมายนักเมื่อเราได้พบกับ “ความไม่แน่นอน” ที่เข้ามาสั่นคลอนจิตใจของเราด้วยตัวเอง

เมื่อสองปีที่แล้ว ดิฉัน (แจง – วราพรรณ หงุ่ยตระกูล) เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการตัดเต้านมข้างซ้ายไปทั้งเต้า และเลาะต่อมน้ำเหลืองออกไปด้วย หลังจากผ่าตัดและรอให้แผลหายราวสามอาทิตย์ คุณหมอก็ให้รับคีโม 4 ครั้ง ตอนนั้นดิฉันได้ผมทรงใหม่เป็นผมสั้น เพราะผมร่วงจากการทำคีโม ช่วงแรกก็ใส่วิกผม ช่วงหลังผมเริ่มงอก กลายเป็นเหมือนผมซอยสั้นติดหนังหัว บางคนที่ไม่รู้ว่าไปทำคีโมมา ก็เข้ามาถามว่าทำผมทรงนี้ตั้งแต่เมื่อไร เท่ดีนะ

เรื่องรูปร่างหน้าตาซึ่งเป็นเรื่องภายนอก ดิฉันไม่ได้สนใจมากนักแต่เรื่องของจิตใจนี่สิที่สำคัญยิ่งกว่า ถ้าเราป่วยแล้วปล่อยให้จิตใจเศร้าหมอง วิตกกังวล อกุศลก็เกิดขึ้นได้ทันที แต่โชคดีที่ในชีวิตดิฉันแวดล้อมด้วยคนดีๆ ที่เป็นกัลยาณมิตรรวมทั้งได้รู้จักธรรมะก่อนที่จะป่วย จึงทำให้พอจะมีที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วดิฉันก็พบว่า ไม่มีที่พึ่งใดดีเท่าตัวเราเอง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ เราคือคนที่ลิขิตชีวิตตัวเอง

สามี…เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก

ดิฉันกับสามีแต่งงานกันมาหลายปี แต่ไม่มีลูก ช่วงหนึ่งเราพยายามพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นผลจึงเลิกล้มความตั้งใจ ยิ่งเมื่อได้มาปฏิบัติธรรมจึงคิดได้ว่า คนที่จะเกิดมาเป็นพ่อ – แม่ – ลูกใช้ชีวิตด้วยกันนั้นต้องทำกรรมร่วมกันมาทำให้ดิฉันคิดได้ว่า “เขาคงไม่มีกรรมร่วมกับเรา”

ยิ่งดิฉันคิดในแง่ดีว่า เราไม่ต้องมี “ห่วง” เหมือนเพื่อนคนอื่นที่เขามีลูกก็ยิ่งสบายใจ เพราะเราเหมือนคนที่มีแต่ห่วงชั้นบน คือพ่อ -แม่ แต่ไม่มีห่วงชั้นล่าง คือลูก การใช้ชีวิตก็ดีไปอีกแบบ มีโอกาสได้ทำบุญทำกุศลโดยไม่ต้องกังวลเรื่องใดๆ

สามีของดิฉัน (วิทยา ทรัพย์ธนะอุดม) เป็นเพื่อนชีวิตและคู่ชีวิตที่ใครเห็นก็ว่าประเสริฐ ทั้งก่อนป่วยและหลังป่วยเขาดูแลดิฉันเป็นอย่างดีมาตลอด เราเป็นเพื่อนร่วมงานที่ต่อสู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกันและมีความคิดความอ่านคล้ายกัน ช่วงที่ป่วยคนอื่นอาจมองว่าดิฉันน่าจะทุกข์มากที่สุด แต่ดิฉันกลับพบว่าคนที่ทุกข์มากกว่าน่าจะเป็นสามี เพราะเขาไม่รู้ว่าคนที่เขารักจะจากเขาไปวันไหนอย่างไรหรือเปล่าส่วนตัวเราเองยังพอทำใจได้

ดิฉันคิดว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเขาเป็นคู่ชีวิต เขาเป็นคนที่รักพ่อแม่ รักครอบครัวมาก มีความเป็นแฟมิลี่แมนสูง บางเรื่องที่ดิฉันต้องอยู่ด่านหน้า เขาจะคอยเป็นฝ่ายสนับสนุนอยู่ด่านหลัง ไปไหนก็ไปด้วยกัน ทุกวันนี้เขาทำอาหารมังสวิรัติให้ดิฉันทาน ซื้อข้าวซื้อน้ำให้กิน เวลาข้ามถนนก็ยังเดินจูงมือ เขาทำเรื่องเหล่านี้เป็นปรกติทุกวันจนทำให้ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่โชคดีจริงๆ

ทำไมต้องปฏิบัติธรรม

เมื่อราวเจ็ดปีก่อน ดิฉันกับสามีมีความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด สงสัยว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน เมื่อมีคำถาม เราจึงพยายามหาคำตอบ เริ่มแรกด้วยการอ่านและฟังเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ หลังจากนั้นก็มีกัลยาณมิตรชักชวนให้ไปปฏิบัติธรรมที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อย้อนคิดถึงเรื่องนี้ ดิฉันคิดว่าตอนนั้นเป็นการเริ่มต้นที่“ธรรมะจัดสรร” ไว้แล้ว คือคงถึงเวลาของเราแล้ว ครั้งแรกไปเข้าคอร์ส7 คืน 8 วันคนเดียว ช่วงแรกคิดถึงบ้านมาก เพราะเป็นคนติดบ้านไม่เคยไปไหนคนเดียว เหงาอย่างรุนแรง อยากกลับบ้านให้ได้ แต่ก็ตั้งใจไว้แล้วว่าอยากไปปฏิบัติคนเดียว จึงไม่ชวนใครไปด้วย จนกระทั่งผ่านไปวันที่ 5 ดิฉันจึงรู้สึกดีขึ้น รับรู้ว่าสิ่งที่พระอาจารย์สอนเป็นสิ่งที่ดีและสามารถนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

ปรกติดิฉันเป็นคนชอบคิดนั่นคิดนี่ มีความสุขที่ได้คิด จนตอนหลังเมื่อได้ปฏิบัติธรรมถึงได้รู้ว่าอาการแบบนี้เขาเรียกว่า “หลง” ไม่มีสติ นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ก็เป็นพวกติดดี ชอบให้ทุกอย่างที่ตัวเองทำสมบูรณ์แบบ อยากทำอะไรให้เต็มร้อย ทำให้วิตกกังวลไปสารพัด แต่พอแก่ตัวอาการเหล่านี้ก็ลดน้อยลง ไม่ตึงเท่าเดิม บวกกับเมื่อได้ปฏิบัติธรรมก็ทำให้เป็นคนใจเย็นขึ้น ความจริงแล้วดิฉันก็ไม่ใช่คนใจร้อน แต่เป็นคนขี้โมโห อะไรไม่พอใจก็จะ“อีกแล้วหรือนี่” จนเมื่อได้ปฏิบัติธรรม พอเริ่มรู้ตัว ตามดูใจได้ทันสติก็เริ่มดีขึ้น ผลดีที่เห็นชัดเจนคือลูกน้องมีความสุขในการทำงานมากขึ้น อยู่กันได้ยาวกว่าเมื่อก่อน

นอกจากนั้นดิฉันเชื่อว่าด้วยนิสัยของตัวเองที่เป็นคนสบายๆ มองโลกในแง่ดี ทำให้สามารถผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมาได้ ตอนที่ป่วยก็คิดว่า “เมื่อเป็นได้ก็หายได้” และเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ว่าร้ายหรือดี มันจะผลักเราไปในทางที่ดีขึ้นเสมอ อย่างความเจ็บป่วย ดิฉันก็เชื่อว่าช่วยผลักดันให้ดิฉันหันกลับมาเอาใจใส่กับสุขภาพของตัวเองมากขึ้น

จากที่แต่ก่อนไม่ได้ดูแลตัวเอง นอนดึก ตื่นสาย ก็หันมาพักผ่อนเป็นเวลามากขึ้น ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ส่วนเหล้าไม่ได้ดื่มมาพักหนึ่งแล้ว เพราะปรกติไม่ใช่คนชอบดื่ม อาจมีบ้างที่ดื่มไวน์เก๋ๆ เวลาเข้าสังคม แต่หลังจากปฏิบัติธรรมแล้วก็หยุดดื่มรู้สึกว่าร่างกายดีขึ้น แข็งแรงกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ

ส่วนเรื่องใจ ดิฉันนำเรื่องการปฏิบัติธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในช่วงที่ป่วย การตามดูให้รู้ว่าใจเป็นอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญเป็นการบ้านที่ดีมาก ช่วงที่รับคีโมนี่ดูจิตกันไปเลยบางวันจิตใจเราอาจป้อแป้ เพราะสภาพร่างกายไม่ปรกติ เราก็พยายามตามดูจิตไป รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ทำเท่าที่ทำได้

นอกจากนั้นดิฉันมองเล่นๆ ในอีกมุมหนึ่งว่า ความเจ็บป่วยก็ทำให้เราได้เห็นอะไรดีๆ โดยเฉพาะได้เห็นว่าคนรอบข้างที่รักและห่วงใยเราดูแลและปฏิบัติกับเราอย่างไร เหมือนกับว่า“ไม่ต้องตายก็ได้เห็น” เพราะปรกติเราไม่รู้หรอกว่าเขารักเราแค่ไหน แต่วันนี้ดิฉันได้เห็นแล้วว่าชีวิตของตัวเองแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรที่น่ารักมากมาย สิ่งนี้ถือเป็นบุญก็ว่าได้

ทุกวันนี้ดิฉันกับสามีวางแผนว่าจะรีไทร์ตัวเองให้เร็วขึ้น เพราะอยากทำงานที่เกี่ยวกับสาธารณกุศลอย่างเต็มที่ ตอนนี้แม้ว่าจะหายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว แต่ดิฉันรู้ว่าเราไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิตอีกต่อไปเวลาที่เหลืออยู่เราต้องเร่งสะสมทำกรรมดี อะไรที่เราทำได้ก็ควรจะทำ ที่ผ่านมาดิฉันช่วยทำรายการ “ทีวีธรรมดา” ทางช่องThai PBS ของศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม โดยนำเสนอแง่มุมธรรมะในประเด็นต่างๆ ที่เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างหอธรรมพระบารมีซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม นอกจากนั้นก็ช่วยเหลืองานของมูลนิธิศุภนิมิตและช่วยเหลืองานการกุศลอื่นๆ เท่าที่กำลังความสามารถของตัวเองจะทำได้

ดิฉันเชื่อว่าคนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุขให้ตัวเองเวลาทุกนาทีที่เราได้หายใจ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นเวลาที่มีค่ามาก
ถ้าวันนี้เรายังหายใจ ก็ลองหายใจเพื่อคนอื่นดูบ้าง ทำประโยชน์ในจุดที่คุณยืนอยู่เท่าที่คุณจะทำได้

แล้ววันหนึ่งคุณจะรู้ว่าคุณมีค่ากับโลกนี้แค่ไหน…

Secret box
คนที่ใช้ชีวิตได้ยาวนานที่สุด ไม่ใช่คนที่อายุยืนที่สุดแต่คือคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีจิตสำนึกที่ดีที่สุดต่างหาก
รุสโซ

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.