สตีฟ จอบส์

Shortcut ทางลัดทำความรู้จักกับสตีฟ จอบส์ ผ่าน 20 เรื่อง

Shortcut ทางลัดทำความรู้จักกับ สตีฟ จอบส์ ผ่าน 20 เรื่อง

 

การเกิดมาร่วมสมัยกับ สตีฟ จอบส์ ทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกมากมาย และแม้ว่าคนรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสใช้ชีวิตในยุคสมัยเดียวกับเขา แต่แน่นอนว่าพวกเขา (และพวกเรา) ยังคงได้ใช้มรดกที่ชายผู้นี้ทิ้งไว้ให้อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้…มรดกที่จะพูดถึงต่อไปนี้ไม่ใช่สินค้าตระกูลไอ ที่เราต้องใช้เงินแลกมา แต่เป็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ทรงคุณค่ายิ่งกว่านั้นมากมายนัก

Shortcut ทางลัดทำความรู้จักกับสตีฟ จอบส์ ผ่าน 20 เรื่อง

1 ชื่อเต็มของสตีฟคือ สตีเวน พอล จอบส์ แต่เขาลงชื่อในอีเมลทุกฉบับเพียงสั้นๆ ว่า “สตีฟ”

2 พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดสตีฟเป็นนักศึกษาที่ไม่พร้อมจะมีลูก จึงได้ยกเขาให้กับพอลและคลารา จอบส์

3 แม้ว่าพอลและคลาราจะมีฐานะและภูมิหลังต่ำกว่าเกณฑ์ที่พ่อแม่แท้ๆ ของสตีฟต้องการ แต่ทั้งคู่กลับเป็นพ่อแม่ที่เสียสละ อบอุ่น และเป็นพ่อแม่ที่เด็กคนไหนๆ ก็อยากมี สตีฟอ่านหนังสือออกก่อนเข้าโรงเรียนเพราะแม่คลาราสอน ส่วนพ่อพอลที่ทำอาชีพช่างเครื่องยนต์ ก็มักจะจับสตีฟมานั่งใกล้ๆ ขณะทำงานเสมอ และทำให้สตีฟรักการประดิษฐ์ตั้งแต่อายุเพียง 5 – 6 ขวบ

4 สตีฟใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงทศวรรษ 1960 พื้นที่ส่วนใหญ่ของซิลิคอนวัลเลย์ซึ่งเป็นถิ่นที่เขาเติบโตยังคงเต็มไปด้วยสวนผลไม้ เช่น แอพริคอต พรุน ฯลฯ สตีฟเรียกซิลิคอนวัลเลย์ในช่วงนั้นว่า สรวงสวรรค์

5 สมัยเด็กสตีฟไปโรงเรียนด้วยเหตุผลสองอย่างคือ ไปเพราะอยากอ่านหนังสือกับวิ่งเล่นจับผีเสื้อ

6 สตีฟเป็นเด็กฉลาด บ้าบิ่น ไม่ชอบกฎระเบียบ ไม่ชอบเรียนหนังสือ และใช้เวลาหมดไปกับการหาวิธีแกล้งคน ซึ่งผู้ที่จุดไฟในการเรียนรู้ของสตีฟให้ลุกโชนอีกครั้งคือครูผู้หญิงคนหนึ่งชื่อว่า มิสซิสฮิลล์ เธอท้าให้สตีฟทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์มาส่งก่อนที่จะเธอจะสอน และบอกว่าหากทำได้ถูกต้องถึงร้อยละ 80 เธอจะให้รางวัล ซึ่งสตีฟทำได้และได้รางวัลเป็นเงิน ขนม และกล้องถ่ายรูปแบบประกอบเอง ซึ่งของขวัญชิ้นนี้เองที่ทำให้สตีฟรู้ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่น่ามหัศจรรย์อย่างกล้องถ่ายรูปก็สำเร็จลงได้ด้วยมือของเด็กเล็กๆ ที่มีอายุแค่ 10 ขวบอย่างเขา

7 สตีฟเจริญมรณานุสติตั้งแต่อายุ 17 ปี โดยเขาจะถามตัวเองหน้ากระจกทุกเช้าว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ฉันยังจะทำสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำในวันนี้หรือไม่” และถ้าคำตอบที่ได้คือ “ไม่” ติดต่อกันหลายๆ วัน เขาก็รู้ว่าเขาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว

8 สตีฟเข้าเรียนที่รีดคอลเลจ (Reed College) เพียงเทอมเดียวก็ลาออก แต่เขายังอยู่ที่นี่ต่ออีกหนึ่งเทอมเพื่อเข้าเรียนวิชาออกแบบตัวอักษร (calligraphy)

9 ตลอดเทอมนั้นทั้งเทอม สตีฟต้องอาศัยเพื่อนร่วมห้องนอนกับพื้นต้องเก็บขวดเปล่าคืนร้านค้าแลกกับเงินขวดละ 5 เซ็นต์ เพื่อนำเงินนั้นมาซื้ออาหาร “ไม่มีใครอยากตาย แม้ว่าคนที่อยากขึ้นสวรรค์ก็ไม่อยากตาย…แต่เราทุกคนไม่มีใครรอดพ้นไปได้ ความตายก็คือตัวเปลี่ยนแปลงชีวิต มันจะกำจัดคนเก่าออกไป เพื่อเปิดทางให้คนใหม่ได้เข้ามา คนใหม่ก็คือพวกคุณ…”

10 ตอนอายุ 21 สตีฟชักชวน สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) เพื่อนที่เป็นอัจฉริยะด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และแฮกเกอร์มือดีมาก่อตั้งบริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ สองปีต่อมาแอปเปิลเปิดตัว Apple II คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของโลกและทำยอดขายถล่มทลาย สตีฟมีสินทรัพย์ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับในทำเนียบมหาเศรษฐีของสหรัฐอเมริกาก่อนอายุ 25 และถูกบีบให้ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งตอนอายุ 30

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

11 สตีฟเคยออกเดินทางเพื่อตามหาจุดมุ่งหมายทางจิตวิญญาณอย่างจริงจังสองครั้ง ครั้งแรกคือหลังออกจากมหาวิทยาลัย สตีฟและเพื่อนสนิทเดินทางไปอินเดียเพื่อทดลองใช้ชีวิตแบบนักบวช และหลังจากการเดินทางครั้งนี้เขาก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ส่วนครั้งที่สองคือหลังลาออกจากแอปเปิล สตีฟได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนานิกายเซนที่ญี่ปุ่น และเกือบจะตัดสินใจออกบวชถ้าไม่ติดว่าเขารักงานที่ทำมากกว่าการเป็นนักบวช

12 สตีฟนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นแอปเปิลไปซื้อแผนกดิจิทัลกราฟิกแอนิเมชั่นของลูคัสฟิล์มสตูดิโอ แล้วก่อตั้งเป็นบริษัท พิกซาร์สตูดิโอ ช่วงห้าปีแรกบริษัทยังไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง สตีฟ จึงต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินอุ้มพิกซาร์เดือนละหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่เขาไม่มีความรู้ด้านภาพยนตร์เลย มีแค่ความรักการดูภาพยนตร์กับความเชื่อมั่นในทีมงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ทอยสตอรี่” ออกฉายในปี ค.ศ. 2003 และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ สตีฟก็กลับมามีฐานะมั่นคงอีกครั้ง

13 นอกจากพิกซาร์ สตีฟได้ก่อตั้งบริษัท เนกซ์ (NeXT) ไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อสานฝันในการสร้างคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง (แต่ผู้บริหารแอปเปิลในขณะนั้นไม่ยอมรับ) ต่อมาแอปเปิลซื้อบริษัทเนกซ์ในปี ค.ศ. 1977 เพราะต้องการระบบปฏิบัติการที่ทันสมัยมาช่วยกอบกู้วิกฤติของบริษัท ไม่นานหลังการรวมตัว สตีฟก็ก้าวขึ้นเป็นซีอีโอและนำพาแอปเปิลซึ่งอยู่ในภาวะใกล้จะล้มละลายให้กลับฟื้นคืนชีพเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในปัจจุบัน

14 นิตยสาร ไทม์ สรุปว่าในชั่วชีวิตของสตีฟ เขาได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม 6 อย่าง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ภาพยนตร์แอนิเมชั่น ดนตรี โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และการพิมพ์ระบบดิจิทัล

15 สตีฟชอบเดินคุยเวลาต้องการถกเรื่องสำคัญจริงๆ

16 สตีฟได้ค่าจ้างจากตำแหน่งซีอีโอของแอปเปิลปีละหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ทางภาษี

17 สตีฟมีวิธีการพูดที่เหนือชั้น การพูดเปิดตัวสินค้าอันทรงพลังของเขาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สตีฟโน้ตส์ (Stevenotes) โดยสตีฟจะยืนพูดบนเวทีโล่งคล้ายการเดี่ยวไมโครโฟน ไม่มีใครรู้ว่าเขาจะพูดอะไร แต่เมื่อเขาพูดจบ คำพูดของเขากลายเป็นสิ่งที่คล้ายๆ “บัญญัติ” หรือ “คำทำนาย” ที่ทำให้ยอดการจองสินค้าในวันรุ่งขึ้นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

18 สตีฟไม่ทำงานการกุศลและสั่งยกเลิกทุกโครงการที่แอปเปิลทำเพื่อการกุศลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 ทว่าภรรยาของเขาคือ ลอรีน จอบส์ ทำงานการกุศลเป็นอาชีพที่สองรองจากการเป็นแม่และภรรยา

19 สตีฟเป็นคนโทรหา วอลเตอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) นักเขียนชื่อดังตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เพื่อทาบทามไอแซคให้เขียนชีวประวัติของเขา ไอแซคมีโอกาสเข้าเยี่ยมและสัมภาษณ์สตีฟในช่วงเวลาสองสามสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่สตีฟจะเสียชีวิต เมื่อเขาถามสตีฟว่า ทั้งๆ ที่ก็สัมภาษณ์กันมาเกือบ 50 ครั้ง กินเวลากว่าสองปี เหตุใดคุณสตีฟจึงยังคงกระตือรือร้นที่จะให้สัมภาษณ์ในเวลาเช่นนี้…สตีฟตอบว่า “ผมอยากให้ลูกๆ รู้จักผม ผมไม่สามารถอยู่กับพวกเขาในวันข้างหน้าได้ ดังนั้นผมจึงต้องการให้ลูกๆ เข้าใจผมและรู้ว่าทำไมผมถึงทำสิ่งนั้นๆ”

20 สตีฟ จอบส์ อาจเป็นได้ตั้งแต่พระเจ้าถึงซาตานของคนทั่วไป แต่สำหรับครอบครัวและเพื่อนฝูง สตีฟ จอบส์ เป็นสามี พ่อ เพื่อนผู้เป็นที่รัก และจะอยู่ในความทรงจำของพวกเขาตลอดไป


56 ปีเป็นเวลาที่สั้นเกินไป ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของใครก็ตาม ทว่าสำหรับสตีฟ 56 ปีของเขาเป็นช่วงเวลาที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองและเปี่ยมความหมายอย่างแท้จริง ถึงแม้วันนี้ร่างกายของเขาจะแตกดับไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาได้ทำไว้ให้แก่โลกใบนี้จะนานอีกกี่ปี…ก็ไม่มีวันตาย

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.