วิชุดา พินดั้ม

แหม่ม – วิชุดา พินดั้ม “ชีวิตนี้ไม่คิดยืมจมูกคนอื่นหายใจ” (1)

แหม่ม – วิชุดา พินดั้ม “ชีวิตนี้ไม่คิดยืมจมูกคนอื่นหายใจ” (1)

เมื่อสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ เราสัมผัสได้ถึงความโปร่งเบาของร่างกาย เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย แต่หากวันหนึ่งเราไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง เมื่อนั้นความสุขในชีวิตคงหล่นหายไปเช่นกัน

การที่เรายังหายใจได้ด้วยตัวเอง สำหรับ แหม่ม (วิชุดา พินดั้ม) แล้วเปรียบได้กับการที่เรายังพึ่งพาตัวเองได้ รู้จักยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง หรือจะเรียกว่ามีตนเป็นที่พึ่งของตนก็ว่าได้ ตั้งแต่เล็กจนโต แหม่มได้รับการสั่งสอนจากคุณแม่ว่า “เราต้องรู้จักพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน ถึงจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้”

ด้วยความที่เข้ามาอยู่ในวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 13 -14 ปี ทำให้แหม่มเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน ชีวิตส่วนใหญ่ที่ต้องอยู่ตามกองถ่ายละครช่วยสอนให้เข้าใจโลกยิ่งกว่าในห้องเรียนหลายร้อยเท่า ได้เห็นอารมณ์และนิสัยใจคอของผู้คน ได้เห็นความโลภ โกรธ หลงที่จริงเสียยิ่งกว่าในละคร จากเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง แหม่มได้ซึมซับเรื่องราวเหล่านี้ไว้จนกลายเป็นความคิดความอ่านและกลายเป็นมุมมองในการใช้ชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน

20 ปีแล้วที่แหม่มเข้ามายืนอยู่ในวงการบันเทิง ได้รับบทบาทต่างๆ มากมายทั้งในละคร ภาพยนตร์ ละครเวที งานโฆษณา และพิธีกร ปัจจุบันหลายคนรู้จักแหม่มในบทบาทของ “เจ้มิ้นท์” ที่ทั้งเค็ม ทั้งเฮี้ยบ แต่จิตใจดีในละครเรื่อง เป็นต่อ

แม้จะเคยได้รับทั้งบทนางเอกและบทนางร้าย แต่ยังไม่มีบทบาทไหนทำให้แหม่มมีความสุขได้เท่ากับการได้รับบทเป็นผู้ให้ในชีวิตจริง เพราะนอกจากจะเป็นผู้ให้กับครอบครัวแล้ว แหม่มยังเป็นผู้ให้กับสังคมอีกด้วย แต่ก่อนที่จะให้คนอื่นได้นั้น ชีวิตของแหม่มก็มีทั้งสุข เศร้าเคล้าน้ำตามาไม่น้อยเช่นกัน

ความจริง…ที่ได้รู้

แหม่มเพิ่งมารู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกของคุณพ่อคุณแม่ตอนอายุ 17 ปี ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้คิดสงสัยอะไรมากมาย แม้ว่าตอนเด็กๆ จะโดนล้อว่าเป็นเด็กที่ถูกเก็บมาจากถังขยะ แต่แหม่มก็คิดตามประสาเด็กว่า ไม่มีชีวิตของใครเป็นอย่างในหนังเรื่อง ดาวพระศุกร์ หรอก จึงรู้สึกว่าเป็นเรื่อง “ขำๆ” ไม่ได้คิดอะไรมาก จนกระทั่งวันหนึ่งแหม่มและคุณพ่อคุณแม่ได้รับเชิญให้ไปออกรายการ “เที่ยงวันกันเอง” ที่มี พี่แซม – ยุรนันท์ ภมรมนตรี เป็นพิธีกร

รายการนี้เป็นเกมโชว์ที่ถามคำถามเกี่ยวกับครอบครัว ในวันนั้นมีคำถามหนึ่งถามว่า “มีคนชอบล้อว่าแหม่มไม่ใช่ลูกของคุณพ่อคุณแม่ลองพูดให้ลูกชื่นใจหน่อยซิว่า แหม่มเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ใช่หรือเปล่า” คำถามที่ดูเหมือนง่ายนี้ ทุกคนในรายการคาดคิดว่าคำตอบคงเป็นไปอย่างที่เข้าใจว่า “แหม่มเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่” แต่การณ์กลับพลิกผันไปจนทุกคนตกใจ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตอบด้วยคำพูดเรียบๆ ว่า “ไม่ใช่”

ดังนั้นจากที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของคุณพ่อคุณแม่ก็ได้รู้โดยบังเอิญ วันนั้นหากคุณพ่อคุณแม่จะปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับก็ได้ แต่ด้วยความที่ท่านทั้งสองเป็นคนต่างจังหวัด ทำให้คิดว่าการพูดโกหกคนอื่นผ่านสื่อ หากวันหลังโดนจับได้จะเป็นเรื่องใหญ่

หลังตอบคำถามนั้นเสร็จแล้ว ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ร้องไห้อย่างหนัก พูดไปก็ร้องไห้ไป เหมือนเรื่องราวในอดีตคงทำให้ท่านเจ็บปวดมาก แหม่มเห็นทั้งคู่ร้องไห้ก็พลอยร้องตามไปด้วย แต่ด้วยความที่เป็นคนเข้มแข็งมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเห็นคุณพ่อคุณแม่ร้องไห้มากๆ แหม่มก็หยุดร้องไห้ และปลอบท่านว่า “ไม่เป็นไร พอแค่นี้ดีกว่า นี่เป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัวของเราแล้วค่ะ” หลังจากนั้นก็อัดรายการนี้ต่อไปตามปกติ นับตั้งแต่นั้นมาแหม่มก็ไม่เคยถามท่านอีกเลยว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร แม้ว่าจะมีหลายคนเข้ามาถามแหม่มถึงเรื่องนี้ แต่แหม่มก็ตอบได้เพียงว่า แหม่มก็ไม่ทราบรายละเอียดจริงๆ และที่ไม่เคยคิดจะถามเพราะคิดว่า

หนึ่ง การที่คุณพ่อคุณแม่พูดออกไป ท่านไม่ได้เต็มใจจะพูดหรือเต็มใจจะเล่า แต่เป็นเพราะสถานการณ์บังคับ สองคือท่านทั้งสองร้องไห้หนักขนาดนี้ แสดงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สะเทือนใจท่านเป็นอย่างมาก แหม่มจึงไม่อยากจะรื้อฟื้นให้ท่านต้องทุกข์ใจอีก

แหม่มคิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่แหม่มจะต้องไปรู้ความจริงบนความทุกข์ของคนที่มีบุญคุณกับแหม่ม แหม่มคิดว่าถ้าวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่จะเล่าก็คงเล่าให้ฟังเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวแหม่มรู้สึกอึดอัดใจ คือการที่มีคนเดินเข้ามาถามคุณพ่อคุณแม่ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร ลำพังแหม่มคนเดียว แหม่มยังเข้มแข็งพอที่จะบอกว่า “แหม่มก็ไม่ทราบอะไรมาก เรื่องมันคงซับซ้อนมั้ง”

แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้วแหม่มไม่อยากให้ใครถามท่านถึงเรื่องนี้ หรือถามเราต่อหน้าท่าน เพราะแหม่มห่วงความรู้สึกของท่าน แหม่มขอรับรู้ว่าท่านทั้งสองมีพระคุณกับแหม่มก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข เรื่องไหนที่เป็นอดีตก็ปล่อยให้เป็นอดีตไป

 

ชีวินี้ต้องยืนด้วยขาตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ของแหม่มเป็นคนต่างจังหวัดที่มาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ คุณพ่อเป็นคนนครสวรรค์ ส่วนคุณแม่เป็นคนเชียงราย สมัยก่อนคุณพ่อเป็นนักมวยใช้ชื่อว่า “เจนศึก สกุลไทย” คนรุ่นก่อนๆ จะรู้จักและจำได้ว่าคุณพ่อเป็นแชมป์มวยไทย ซึ่งมีโอกาสไปต่อยมวยที่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ สมัยก่อนตอนเด็กๆ เวลาขึ้นแท็กซี่ คนขับแท็กซี่จำคุณพ่อได้ เขาก็จะชื่นชมเหมือนคุณพ่อเป็นดาราหรือฮีโร่ ทำให้แหม่มพลอยภูมิใจในตัวท่านไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้คุณพ่อจะเป็นนักมวย แต่ก็ไม่เคยสอนเรื่องเตะต่อยให้แหม่มเลย เพราะท่านมีความรู้สึกว่าแหม่มเป็นลูกผู้หญิง อยากให้เรียนรู้เรื่องอื่นมากกว่า ส่วนสิ่งที่ท่านสอนคือเรื่องของความเข้มแข็งอดทน สอนให้อดทนด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาในชีวิตให้ได้

สำหรับตัวท่านเองเป็นแบบอย่างในเรื่องการช่วยเหลือคนอื่น ท่านมีน้ำใจกับคนรอบข้างเสมอ แม้ว่าตัวเองจะต้องลำบาก แต่ก็ต้องช่วยเหลือคนอื่นให้ได้ ด้วยเหตุนี้คุณพ่อจึงเป็นที่รักของคนรอบข้าง แม้ว่าฐานะของครอบครัวเราจะค่อนข้างลำบาก เรียกได้ว่าหาเช้ากินค่ำ แต่คำสอนหนึ่งของคุณแม่ที่ยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้คือ “ให้อดตายก็ห้ามยืมเงินใคร”

จำได้ว่าตอนเด็กๆ เรียนอยู่ ป. 1 เคยยืมเงินเพื่อนแล้วเพื่อนมาทวงที่บ้าน คุณแม่รู้เข้าก็โดนลงโทษและสอนด้วย คำพูดประโยคนี้ แหม่มจดจำคำสอนนี้มาจนโต ในชีวิตไม่เคยเอ่ยปากยืมเงินใคร และในชีวิตก็ไม่เคยถึงจุดอับจน ไม่มีความคิดว่าต้องพึ่งคนอื่น มีแต่ความคิดว่าเราต้องยืนด้วยลำแข้งของเราให้ได้ แหม่มเชื่อว่า ถ้าเรามานั่งคิดว่าเดี๋ยวไม่มีเงินก็ขอยืมคนนั้นคนนี้ได้ ถ้าคิดแบบนี้ก็ต้องพึ่งคนอื่น ยืมจมูกคนอื่นหายใจไปเรื่อยๆ สมมุติยืมคนนี้เสร็จ ยืมได้ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองเขาก็ไม่มีให้เราแล้ว เราก็ต้องไปยืมคนโน้นคนนี้ต่อไปอีก แต่ถ้าเราไม่เคยหยิบยืมเงินใคร เมื่อเราเดือดร้อนจริงๆ ก็จะมีคนยื่นมือมาช่วยเราเอง เพราะเขารู้ว่าเราไม่เคยเรียกร้อง แต่ที่สำคัญเราต้องรู้จักช่วยเหลือคนอื่นด้วย ไม่ใช่เห็นแก่ตัวไม่เคยช่วยเหลือใคร แล้วใครที่ไหนจะมาช่วยเหลือเรา

แหม่มคิดว่าการช่วยเหลือกันของคนในสังคม ไม่ว่าจะเพื่อนช่วยเพื่อนหรือการช่วยคนที่ไม่รู้จักเป็นบุญอย่างหนึ่งเพราะทำให้จิตใจเรามีความสุข เช่นเดียวกับที่แหม่มเริ่มต้นช่วยคนอื่นด้วยการ “ถักไหมพรม” หรือถักนิตติ้ง

ความจริงแล้วความคิดในการทำบุญของแหม่มมาจากการที่เห็นคุณพ่อป่วย ท่านป่วยเป็นอัมพฤกษ์เดินไม่ได้ ด้วยความเป็นลูก แหม่มก็อยากให้ท่านหายเป็นปกติ จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้อาการของท่านดีขึ้น นอกจากรักษาทางการแพทย์แล้ว แหม่มพยายามทำบุญมากขึ้น ทั้งปล่อยนกปล่อยปลา ทำบุญใส่บาตร ไปวัดปฏิบัติธรรม นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำบุญในรูปแบบอื่นๆ ตามมา

ตอนแรกแหม่มถักนิตติ้งไม่เป็นเลยแม้แต่นิดเดียว จนวันหนึ่งคิดอยากถักขึ้นมาเฉยๆ จึงไปซื้อไหมพรมที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีบริการสอนถักนิตติ้งด้วย แรกๆ เรียนไปเหมือนจะจำได้ แต่พอกลับถึงบ้านก็ลืม แหม่มจึงใช้วิธีเปิดอินเทอร์เน็ตเพื่อศึกษาด้วยตัวเอง สมัยนั้นเว็บไซต์ที่สอนถักนิตติ้งมีแต่ภาษาอังกฤษ แม้แหม่มจะหน้าตาเป็นฝรั่ง แต่ความรู้ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดีมากนัก แต่เมื่อตัดสินใจว่าต้องทำให้ได้แหม่มก็ตะลุยแปลศัพท์ภาษาอังกฤษ พร้อมๆ กับหัดถักนิตติ้งไปด้วย แทบไม่น่าเชื่อ เช้าของอีกวัน ด้วยความพยายามและเอาจริงเอาจัง แหม่มก็ถักนิตติ้งเป็นจนได้

เมื่อถักเป็นแล้ว คราวนี้เริ่มนำไปถักระหว่างพักในกองถ่ายละครหลายคนเห็นเข้าก็สนใจ แหม่มจึงช่วยสอนด้วยวิธีง่ายๆ ในแบบของแหม่ม เมื่อสอนคนอื่นมากๆ เข้า แหม่มเกิดความคิดว่า เราน่าจะสอนคนรอบข้างเราให้ไปสอนคนอื่นๆ ได้ด้วยคงจะดี เพราะบางคนที่ตกงานก็น่าจะทำเป็นอาชีพได้

และแล้วหลังจากนั้น การถักไหมพรมเล่นๆ ของแหม่มก็กลายเป็นงานบุญขึ้นมา งานบุญที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงชีวิตแหม่มไปมากมาย…

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

Secret Box

“ถ้าไม่ทำความดี ชีวิตอยู่ร้อยปีก็ไม่มีค่า”

วิชุดา พินดั้ม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.