เบญจมินทร์

เบญจมินทร์ ฝรั่งหัวใจไทย ผู้ต่อลมหายใจให้การแสดงโขน

เบญจมินทร์ ฝรั่งหัวใจไทย ผู้ต่อลมหายใจให้การแสดงโขน

ถ้าไม่มีโขน…ไม่รู้ผมจะอยู่ได้หรือเปล่า” เบญจมินทร์ ตาดี ฝรั่งหัวใจไทย ผู้มีส่วนช่วยในการต่อลมหายใจของ “โขน” กล่าวขึ้น…

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เบญจมินทร์ หนุ่มชาวแคนาดา มีโอกาสได้มาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากเรียนภาษาที่ไม่คุ้นเคยและอยากท่องเที่ยวไปให้ไกลบ้านที่สุด

สิ่งที่เด็กหนุ่มคนนี้รู้จักเกี่ยวกับประเทศไทยในขณะนั้น ก็มีเพียงคนพูดภาษาแปลก ๆ และคนจำนวนมากนับถือศาสนาพุทธ

เมื่อมาอาศัยอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย  ครูได้แนะนำให้เบญจมินทร์รู้จัก “โขน” เป็นครั้งแรก โดยให้ “เบญ” เข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย

“ครั้งแรกที่ได้เห็นพี่ ๆ น้อง ๆ ซ้อมโขน…ทั้งที่ทุกคนยังไม่ได้แต่งตัว ยังไม่มีเพลง  แต่ก็ทำให้ผมรู้สึกขนลุกขึ้นมา ตอนนั้นจึงตัดสินใจลงเรียนโขนทันที”  เบญจมินทร์ต้องใช้ความพยายามและใจรักเป็นสองเท่าในการฝึกซ้อม  โดยทุกครั้งเขาต้องมีสมุดจดท่ารำที่เขียนเป็นภาษาคาราโอเกะ  ภาษาไทยและภาษาอังกฤษอธิบาย  พร้อมวาดรูปประกอบติดตัวอยู่ตลอด

เวลา 1 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว เบญจมินทร์จำต้องบินกลับแคนาดาเพื่อไปเรียนต่อ  แม้เขาจะพยายามขอพ่อแม่มาเรียนในประเทศไทยก็ตาม  ทว่าทั้งคู่กลับยื่นคำขาดให้เขากลับไปเรียนปริญญาตรีให้จบเสียก่อน  เบญจมินทร์จึงกลับไปศึกษาต่อปริญญาตรี  สาขาศิลปวัฒนธรรมจนจบก่อนตัดสินใจมาเรียนต่อปริญญาโทในประเทศไทย

“ตอนมาเยี่ยมเพื่อนที่ประเทศไทยยังรู้สึกเฉย ๆ  แต่พอมาเห็นโขนก็อยากเรียนใหม่อีก  เสียดายที่เริ่มเรียนช้า…แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เรียน             

“พอบอกพ่อแม่  ตอนแรกเขาก็ห่วงแต่ผมบอกเขาว่า ‘ผมเลือกเองที่จะอยู่ที่นี่เพราะมีความสุข’…ในเมื่อลูกชายมีความสุขพ่อแม่ก็ย่อมมีความสุขตาม  เขาจึงยอมให้ผมเรียน               

“ผมพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สอบปริญญาโทให้ได้  ทั้งเรียนอ่าน  พูด  เขียนเป็นภาษาไทย  เรียนร้องและรำโขน  เพราะถ้าอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโขนก็ต้องอ่านหนังสือไทยออก  หรือถ้าอยากฟังโขนซึ่งเป็นคำโบราณ  มีราชาศัพท์ได้  เราก็ต้องฟังคำไทยออก”

แม้แต่คนไทยเอง  การอ่านร้อยแก้วร้อยกรอง และคำโบราณยังเป็นเรื่องยาก และเข้าไม่ถึง  ทว่าทั้งหมดนี้กลับไม่ยากไปกว่า “ความพยายาม”  ซึ่งเบญจมินทร์ได้พิสูจน์ให้ทุกคน  รวมถึงกรรมการคุมสอบปริญญาโท  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์*เห็นแล้วว่า  ฝรั่งหัวใจสยามอย่างเขาสามารถร้อง รำ  และเล่นโขนได้ไม่ต่างจากคนไทยเช่นกัน

“ครูบอกว่า  ตอนแรกเห็นว่าเป็นฝรั่งไม่เชื่อว่าจะรำโขนได้  แต่ครูเห็นถึงความตั้งใจจริงและเห็นว่าทำได้จริง ๆ จึงให้ผ่าน”เบญจมินทร์จึงเป็นฝรั่งคนแรกและคนเดียวในประเทศไทยที่ได้เข้าเรียนในระดับปริญญาโท ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

“ตอนเด็กผมเล่นยิมนาสติกทำให้ตัวอ่อน  โตมาก็ได้มาเรียนแลกเปลี่ยนเรียนโขน…ผมรู้สึกเหมือนเป็น Destiny…เป็นโชคชะตาที่ทำให้ผมได้เรียนโขน”

เบญจมินทร์มีความฝันว่าอยากแสดงโขนให้เก่งและช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

“โขนสอนให้ผมรู้จักวัฒนธรรมไทยแบบโบราณ อย่างการเดินเข่าเข้าไปหาอาจารย์…ตอนนี้กลายเป็นเรื่องธรรมชาติไปแล้วที่ผมต้องยกมือไหว้ผู้ใหญ่  ต้องเคารพคนแก่กว่าและนั่งต่ำกว่าผู้อาวุโส”  แม้สถานที่ที่เบญจมินทร์จากมาจะไม่มีระบบอาวุโส  แต่เบญจมินทร์ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ผมชอบแบบนี้…ผมถูกใจแล้ว”  

แม้การซ้อมโขนจะหนัก  แต่เบญจมินทร์ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อย ๆเพราะ “โขนไม่มีวันหยุด”

“ผมไม่เคยรู้สึกท้อเลย  อยากตื่นมาซ้อมโขนทุกวัน  ถ้าไม่ซ้อมจะไม่สบายใจและคงไม่มีวันที่จะไม่ไหวหรือไม่เอาอีกแล้ว…ตอนนี้โขนอยู่ในสายเลือดของผมแล้ว” เบญจมินทร์นิ่งไปครู่หนึ่งก่อนพูดต่อ          

“โขนเป็นความฝันของผม เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง…ผมโชคดีที่มีโอกาสได้เลือก  ได้ทำความฝันให้กลายเป็นความจริง…ถ้าไม่มีโขน  ไม่รู้ผมจะอยู่ได้หรือเปล่า…”

เบญจมินทร์อุทิศตัวศึกษาโขนอย่างจริงจัง  ส่วนหนึ่งเพราะใจรัก  อีกส่วนเป็นเพราะ…

“ถ้าชาวต่างชาติมาเรียนโขน  มาเรียนวัฒนธรรมของ ‘เรา’  ผมก็จะสามารถอธิบายได้ว่า โขนเป็นอย่างไร  และอธิบายความรู้สึกให้เขาเข้าใจ  ไม่ใช่แปลอย่างเดียว  แต่ไม่เข้าใจถึงความรู้สึก  และนี่เป็นหน้าที่ของเราซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยให้โขนมีชีวิตอยู่ต่อไป

“หลายครั้งที่พอถอดหัวโขนออก  คนจะตกใจที่ผมเป็นฝรั่ง  ซึ่งผมก็ว่าดี  เพราะถ้าผมเป็นประโยชน์  ได้ช่วยให้คนหันมาสนใจโขนมากขึ้นว่า  ‘เอ๊ะ  ทำไมฝรั่งเล่นได้…ถ้าฝรั่งยังทำได้  ทำไมเราคนไทยจะทำไม่ได้’ ผมก็ยินดี  เพราะผมไม่อยากให้คนไทยลืมรากเหง้าของตัวเองว่ามาจากไหน”     

เป้าหมายสูงสุดในเส้นทางสายนาฏศิลป์ไทยของเบญจมินทร์คือ  การได้แสดงเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เพราะถ้าไม่มีในหลวง  พระราชินี  โขนคงไม่สามารถอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้…นี่จึงเป็นเหตุผลที่เขาตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อจะได้แสดงความสามารถต่อหน้าพระพักตร์…สักครั้งหนึ่งในชีวิต…ในฐานะฝรั่งที่มีใจรักความเป็นไทย

แน่นอนว่า ฝรั่งหัวใจสยามผู้นี้ได้กลายเป็นขวัญใจผู้ชมทุกเพศทุกวัย  ทั้งเด็ก  ผู้ใหญ่  ชาวไทยและต่างชาติไปแล้วโดยเฉพาะพวกเราชาวไทยนั้น  นอกจากชื่นชมในความสามารถของเขาแล้ว  ก็ควรที่จะยกย่องเขาด้วย  เพราะแม้จะเป็นคนต่างชาติ  แต่เขาก็ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย  และพร้อมจะอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่แผ่นดินของเราตลอดไป 


* สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตั้งอยู่บริเวณวังหน้า ในอดีตเคยเป็นสถานที่ประทับของเจ้าฟ้า - เจ้าแผ่นดิน ภายหลังกลายเป็นโรงละครแห่งชาติและวิทยาลัยนาฏศิลป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนาฏศิลปินทุกคน


เรื่อง เบญจมินทร์ ตาดี  เรียบเรียง ณัฐนภ ตระกลธนภาส  ภาพ ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.