จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย

จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย จากคนไร้บ้านสู่มหาเศรษฐีพันล้าน

จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย จากคนไร้บ้านสู่มหาเศรษฐีพันล้าน

คนส่วนใหญ่เมื่อล้มเหลวมักรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้กำลังใจ และละทิ้งความฝันไว้กลางทางแต่ไม่ใช่ จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย  (John Paul Jones DeJoria) ผู้เปลี่ยนความผิดหวังให้กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่

กว่าจะเป็นมหาเศรษฐี

จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1944 ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่ออายุได้ 2 ปี พ่อกับแม่ก็แยกทางกัน จอห์นเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการขายบัตรอวยพรวันคริสต์มาสและหนังสือพิมพ์เมื่อเขาอายุได้เพียง 9 ปี ต่อมาจอห์นและพี่ชายถูกส่งไปยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะแม่ของพวกเขาไม่สามารถเลี้ยงดูลูกทั้งสองคนได้

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายในปี ค.ศ. 1962 เขาเข้าร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังปลดประจำการ เขาประกอบอาชีพมากมายหลายอย่างตั้งแต่เป็นภารโรงไปจนถึงคนขายประกัน

ต่อมาจอห์นได้ทำงานในบริษัทเรดเคนแลบอราทอรีส์ (Redken Laboratories) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านผลิตภัณฑ์สำหรับร้านทำผมในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เขาถูกไล่ออกเพราะเห็นแย้งกับนโยบายของบริษัท หลังจากนั้นจอห์นจึงมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม อย่างพอลมิทเชลซิสเต็มส์ (Paul Mitchell Systems) ร่วมกับ พอล มิทเชล เพื่อนช่างทำผมของเขา

 

จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย
@nypost.com

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จอห์นหย่าร้างกับภรรยาคนที่ 2 และออกจากบ้านมาอาศัยกินนอนบนรถ จอห์นต้องจำกัดการใช้เงินของตนเองวันละไม่เกิน 2 ดอลลาร์ อีกทั้งยังเก็บขวดและกระป๋องไปขายเพื่อประทังชีวิต อาศัยอาบน้ำในสวนสาธารณะ หลังจากที่จอห์นต้องอยู่อย่างคนไร้บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เขาก็ได้พบกับ โจแอนนา เพ็ทเท็ท นักแสดงชาวอังกฤษ ให้ที่พักกับจอห์นเป็นระยะเวลา 2 เดือน จนกระทั่งเขาเริ่มตั้งตัวได้

จอห์นและมิทเชลมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ทั้งคู่เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อนำสินค้าไปเสนอ พร้อมสาธิตผลิตภัณฑ์ให้เจ้าของร้านดูโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังรับรองกับเจ้าของร้านต่าง ๆ ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถทำเงินได้อย่างแน่นอน ถ้าหากขายไม่ได้ เจ้าของร้านสามารถนำสินค้ามาแลกเงินคืนได้ทั้งหมด วิธีนำเสนอผลิตภัณฑ์เช่นนี้นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการดูแลเส้นผม ทำให้บริษัทพอลมิทเชลซิสเต็มส์กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่เติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้นจอห์นยังถือหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ มากมาย เช่น สโมกกี้เมาน์เทนไบซันฟาร์ม (Smokey Mountain Bison Farm) ทัชสโตนแนเชอรัลแก๊ส (Touchstone Natural Gas) เป็นต้น

“ความสำเร็จที่ไม่แบ่งปัน เท่ากับความล้มเหลว”

จอห์นนับเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีใจบุญที่อุทิศตนเพื่อสังคมผ่านการสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ มากมาย นอกจากนั้นจอห์นยังได้ริเริ่มวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า วัฒนธรรมแห่งการให้ หรือ Culture of Giving ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรภายในองค์กรของเขา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 โรงเรียนเสริมความงามพอลมิทเชลได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อระดมทุนช่วยเหลืองานการกุศลทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โดยรวบรวมเงินบริจาคตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ได้มากกว่า 15,200,000 ล้านดอลลาร์

 

จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย
@prnewswire.com

ด้วยปรัชญาการดำเนินชีวิตของจอห์นที่ว่า “ความสำเร็จที่ไม่แบ่งปันเท่ากับความล้มเหลว” ทำให้เขาได้รับยกย่องให้เป็นมหาเศรษฐีต้นแบบผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการทำงานและการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม 

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

ภาพ  parade.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.