การปฏิบัติธรรม

“ขอเวลานอกให้ชีวิต” การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การหนีปัญหา โดย ปิยสีโลภิกขุ 

“ขอเวลานอกให้ชีวิต” การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การหนีปัญหา โดย ปิยสีโลภิกขุ 

เคยได้ยินคนพูดอยู่บ่อยครั้งว่า การบวชหรือ การปฏิบัติธรรม เป็นการหนีปัญหา ความเห็นเช่นนี้เชื่อได้ว่ามาจากคนที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมและไม่เคยเฝ้ามองจิตใจของตนเองเลย จึงสรุปเอาเองว่า เมื่อหลีกเร้นจากชีวิตปกติย่อมเท่ากับหลีกหนี มิหนำซ้ำสถานที่ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ก็สงบร่มรื่นไม่เบา อย่างนี้เข้าข่ายหนีไปสบายชัด ๆ

น่าแปลกใจว่าคนจำนวนมากเออออตามคำพูดซึ่งขาดประสบการณ์รองรับนี้ไปโดยอัตโนมัติ ทั้งที่ปกติแล้วเราก็มักเลือกฟังแต่ความเห็นของ “ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง” มีใครบ้างไหมที่จะยอมให้นักเรียนแพทย์ผ่าตัดให้ คำตอบในกรณีนี้ย่อมชัดเจนว่าไม่ แล้วทำไมคนส่วนใหญ่จึงยอมเชื่อทัศนะของคนที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมกันอย่างง่ายดายเพียงนั้น

อย่างไรก็ตาม มีคำถามหนึ่งที่สำคัญกว่า แต่ไม่ใคร่มีคนถามคือ การ “หลีกหนี” ที่ว่านั้นส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาหรือไม่

คนที่เคยนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมย่อมรู้ดีว่าเราไม่มีทางหลีกเลี่ยงปัญหาทางใจได้เลย เพราะแม้จะโบยบินไปไกลแค่ไหน ความรู้สึกนึกคิดก็ยังตามมาถึง จนท้ายที่สุดก็ไม่พ้นต้องเผชิญหน้ากันอยู่ดี และในหลาย ๆ กรณี การอยู่ตามลำพังกลับยิ่งทำให้ปัญหาปรากฏชัดขึ้นไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่การปลีกตัวเพื่อหนีปัญหา แต่เป็นการอุทิศเวลาเพื่อพิจารณาสถานการณ์และเผชิญหน้ากับจิตใจตัวเอง ความเดือดร้อนทรมานจากการเผชิญหน้านี้ชี้ให้เราเห็นและยอมรับปัญหานั้น อีกทั้งช่วยเตรียมใจให้กลับมาสะสางเรื่องที่ค้างไว้อย่างมีสติต่อไป

ความเงียบสงบยามปฏิบัติธรรมยังอาจดึงเอาความทรงจำเก่า ๆ กลับมาด้วย เรื่องค้างคาใจที่เคยปล่อยทิ้งเพราะคิดว่าไม่มีผลใด ๆ ต่อชีวิต กลายเป็นสิ่งที่รอเวลาชำระ จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมผลักดันให้พบปัญหาที่แม้ตัวเราเองก็ยังละเลย

ปัญหาที่ต้องเผชิญนั้นไม่ได้น่ากลัวเสมอไป เพราะหากทำใจยอมรับได้ ความสงบก็เกิดตามมา การเรียนรู้ที่จะเฝ้าพิจารณาด้วยใจสงบนำไปสู่การเห็นต้นตอและรายละเอียดของปัญหา ยิ่งเราเข้าใจมันดีขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะพบทางออกก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ระหว่างที่ต้องผจญกับปัญหา เราอาจมีสภาพไม่ต่างจากนักกีฬาที่กำลังหมกมุ่นกับการแข่ง ในยามคับขัน “การขอเวลานอก” เพียงชั่วระยะ ช่วยให้นักกีฬาสามารถรวบรวมสติทบทวนตัวเอง และกลับเข้าสู่สนามอีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นกว่าเดิม ช่วงเวลาสั้น ๆ นี้จึงอาจพลิกสถานการณ์ได้อย่างไม่คาดฝัน

หาก “หลีกหนี” ไปปฏิบัติธรรมแล้วแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นอย่างนี้  ก็น่าลองใช้วิธีขอเวลานอกให้ชีวิตกันมากขึ้นไม่ใช่หรือ

 

ปิยสีโลภิกขุ

จบการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้เลือกวิถีชีวิตนักบวช ปัจจุบันพำนักในวัดป่าเล็กๆ แห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงราย บันทึกชุดนี้เขียนขึ้นระหว่างจำพรรษาที่วัดจิตวิเวก นอกกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

ที่มา : คอลัมน์ MY SECRET นิตยสารซีเคร็ต

เรื่อง  ปิยสีโลภิกขุ

Image by Bessi from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

วิธีสร้าง ความเพียรในการปฏิบัติธรรม คำแนะนำดีๆ จาก ท่านว.วชิรเมธี

วัดคีรีวงศ์ ความสุขทางใจค้นพบได้ด้วยการปฏิบัติธรรม

Dhamma Daily : แนะวิธี การปฏิบัติธรรมฉบับมนุษย์เงินเดือน ที่มีเวลาไม่มาก

พุทธมณฑล ศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม

20 ความอัศจรรย์ที่ค้นพบจากการปฏิบัติธรรม

โอสถธรรมทำให้สุข กิ๊ก- มยุริญ ผ่องผุดพันธ์

เหตุที่จิตไม่สงบ 8 ประการ  ธรรมะจาก หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม

ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ตอบข้อสงสัยโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ฟังธรรม: แนวการปฏิบัติธรรม พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.