เบื่อ

ขอใบสั่งยา รักษาอาการ ” เบื่อ ” กับ ดร.สนอง วรอุไร

ขอใบสั่งยา รักษาอาการ ” เบื่อ ” กับ ดร.สนอง วรอุไร

ว่าด้วยเรื่องของ “ความเบื่อ” ซีเคร็ตจึงมาขอคำปรึกษาและขอใบสั่ง “ยาแก้เบื่อ” จาก อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ผู้เปี่ยมประสบการณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม

อาจารย์คะ ความเบื่อเกิดขึ้นจากอะไร และเป็นความรู้สึกเชิงกุศลหรืออกุศลกันแน่คะ

ความเบื่อ หมายถึงเหนื่อยหน่าย ไม่อยาก ซึ่งมีอยู่สองอย่างคือหนึ่ง เบื่อ แบบที่เป็นกิเลส กับสอง เบื่อแบบที่ไม่ใช่กิเลส

ความเบื่อแบบแรกนั้น คือความเบื่อแบบที่คนส่วนมากมักรู้สึก เป็นความเบื่อที่เกิดจากการถูกกิเลสเข้าครอบงำ จิตนำเอากิเลสมาปรุงเป็นอารมณ์ ทำให้รู้สึกเบื่อ ความเบื่อแบบนี้จึงเป็นอกุศล

ส่วนความเบื่อแบบที่สองเป็นความเบื่อที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งจิตเข้าถึงวิปัสสนาญาณลำดับที่แปดเท่านั้น ซึ่งจะเกิดปัญญาญาณที่เรียกว่า “นิพพิทาญาณ” ขึ้น ทำให้รู้สึกเบื่อรูป เบื่อนาม ด้วยเห็นสัจธรรมของชีวิตว่าทุกอย่างล้วนเกิด – ดับ ๆ ไม่รู้จบ จึงคิดจะไปให้พ้นจากสภาวะนี้ด้วยการเร่งความเพียรในการปฏิบัติธรรมสุด ๆ ความเบื่อแบบนี้จึงเป็นกุศล

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรคะอาจารย์ ว่าเบื่อแบบไหนคือเบื่อแบบดี

ความแตกต่างระหว่างความเบื่อสองแบบนี้ก็คือ ความเบื่อแบบที่เป็นกุศลจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความเพียร คือเมื่อเกิดนิพพิทาญาณขึ้นกับผู้ใด ญาณถัดไปที่จะตามมาในทันทีก็คือ “มุญจิตุกัมยตาญาณ” ซึ่งเป็นญาณที่ทำให้เกิดการเร่งความเพียรในการพัฒนาจิตวิญญาณ เพื่อให้ตนพ้นไปจากการมีรูป – นามคือพ้นไปจากเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ความเบื่อที่เป็นกุศลต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น

แล้วถ้าเรารู้สึกเบื่อความวุ่นวาย ต้องการหาความสงบให้กับชีวิตล่ะคะ

อย่างนี้ก็เป็นอกุศล เพราะความเบื่อแบบนี้เกิดจากจิตมีสติอ่อนจึงรับสิ่งกระทบที่ไม่ดีมาปรุงเป็นอารมณ์ ทำให้รู้สึกเบื่อ ความเบื่อถือว่าเป็นโทสะอย่างอ่อน ๆ ผู้ที่มีความเบื่อแบบนี้ แสดงว่าสติยังอ่อน เพราะผู้ที่ฝึกจิตจนมีสติกล้าแข็งได้แล้ว ไม่ว่าอะไรเข้ากระทบจิต จะไม่รู้สึกเบื่อ เพราะจิตเห็นสรรพสิ่งที่เข้ากระทบเป็นอนัตตา และสามารถปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ได้ จิตจึงเข้าถึงความเป็นอุเบกขา

อาจารย์มีหลักอะไรบ้างคะสำหรับคนที่ต้องการความสงบในชีวิตประจำวัน

ผู้ที่เข้าไม่ถึงปัญญาของพระพุทธะส่วนมากมักจะนึกว่าความสงบคือความสุขที่สุด แต่จริง ๆ แล้วความคิดอย่างนี้ยังไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะตราบใดที่เรายังคาดหวัง ยังต้องการ แสดงว่าจิตของเรายังตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ ดังนั้นวิธีคิดที่ถูกก็คือหยุดคาดหวัง หยุดต้องการ แล้วหันมาสร้างเหตุให้ถูกตรง ด้วยการเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเป็นประจำ เพื่อให้จิตของเราสงบ มีสติกล้าแข็ง และเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วเราจะไม่รู้สึกเบื่ออีกต่อไป

สำหรับคนที่เบื่อหน่ายไปหมดทุกอย่างในชีวิต จนขาดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรดี ๆ ให้ตัวเองล่ะคะ อาจารย์มีคำแนะนำอะไรที่จะทำให้เขาหายเบื่อได้บ้างไหมคะ

ลักษณะแบบนี้เป็นอาการของผู้ที่ถูกโมหะครอบงำ โมหะเป็นกิเลสที่แก้ยากที่สุด มีวิธีเดียวที่จะแก้ได้ก็คือ ต้องกระตุ้นตัวเองให้เร่งความเพียรในการเจริญจิตภาวนาให้เกิดสติสัมปชัญญะสูงสุด ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่สุด เพราะว่าสติคือสิ่งที่ทำให้เราระลึกนึกได้ไม่ลืม ส่วนสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่ทำให้เรารู้ว่าอะไรดีแล้วทำ อะไรไม่ดีแล้วไม่ทำ นี่ละคือแรงกระตุ้นที่สุดยอดที่สุดที่จะทำให้เราผ่านพ้นกิเลสตัวนี้ไปได้

ส่วนวิธีสร้างสติสัมปชัญญะนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก เพียงแค่สวดมนต์เป็นประจำก่อนนอน ต่อด้วยการเจริญอานาปานสติ ลมเข้ากำหนดว่า “พุท” ลมออกกำหนดว่า “โธ” ไปเรื่อย ๆ สัก 15 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง โดยมีความเพียรและสัจจะเป็นแรงสนับสนุนเพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรามีสติมากขึ้น แล้วจิตจะสงบและไม่เบื่อ

คนที่ทำงานมานานและมีความคิดที่จะลาออกจากหน้าที่การงานทางโลก เพื่อให้เวลากับการปฏิบัติธรรม ความคิดนี้เหมาะสมไหมคะอาจารย์

นี่เป็นความเห็นที่ถูก เพราะว่าชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้มีแต่งานภายนอกที่เราต้องทำให้กับสังคมส่วนรวมเท่านั้น แต่ยังมีงานภายในที่เราทุกคนต้องทำเพื่อตัวเอง เพราะเราทุกคนต้องตาย จึงต้องเตรียมปัจจัยในการเดินทาง คือบุญ หรืออริยทรัพย์เอาไว้ให้พร้อม ดังนั้นหากได้ทำงานเพื่อสังคมมามากพอแล้ว การจะลาออกจากงานภายนอกเพื่ออุทิศเวลาให้กับการทำงานภายในเพื่อเตรียมตัวเดินทางสู่ภพหน้าต่อไป จึงถือว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้องเหมาะสม เหมือนคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนให้ผู้ที่อยู่ในวัยบั้นปลายชีวิตปล่อยวางหน้าที่ทางโลกเพื่อไปพัฒนาจิตของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรายังอยู่ในวัยทำงาน หรือยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมอยู่ ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัวด้วย ตราบใดที่เรายังมีครอบครัวให้ดูแล เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ทั้งสองด้าน ในเวลาที่เราต้องทำงานเพื่อส่วนรวม เราต้องทำให้สุดความสามารถ แต่เมื่องานภายนอกของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อนั้นเราจึงควรปลีกตัวเอาเวลาส่วนตัวไปทำงานภายใน เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของเรา

แล้วการที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงละทิ้งครอบครัวเพื่อออกผนวช ทำไมถึงไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ล่ะคะอาจารย์

เพราะพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ และทรงมีพระประสงค์ที่จะช่วยคนทั้งโลก ท่านจึงทรงออกผนวชเพื่อปฏิบัติธรรมจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วจึงนำเอาธรรมะที่ได้มาช่วยชาวโลก แต่คนที่ไม่รู้จริงและมองไม่ยาวไกล มักจะมองว่าการทำเช่นนี้เป็นการละทิ้งหน้าที่ โดยหารู้ไม่ว่าหลังจากที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงแสดงกตัญญูกตเวทีต่อทั้งพระบิดา พระชายา พระโอรส ตลอดจนพระญาติทุกพระองค์ที่ศรัทธา ด้วยการให้ธรรมะจนกระทั่งบุคคลเหล่านั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระโสดาบันอย่างน้อย ไม่เว้นแม้แต่พระมารดาที่สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว ยังทรงเสด็จขึ้นไปโปรดถึงบนสวรรค์ยาวนานถึงสามเดือน เพื่อให้ธรรมะแก่เหล่าเทวดา จนกระทั่งพระมารดา (สิริมหามายาเทพบุตร) สำเร็จเป็นโสดาบัน ถือว่าพระองค์ได้ทำหน้าที่ต่อครอบครัวได้อย่างดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้…

เพราะไม่มีการให้อะไรที่จะยิ่งใหญ่เท่ากับการให้ธรรมะเป็นทานอีกแล้ว เข้าใจนะลูก

ค่ะอาจารย์

 

ที่มา  นิตยสารซีเคร็ต

เรื่อง  ฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนา

Image by Sandy Müller from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

รู้สึกเบื่อมาก เบื่อทุกอย่าง เบื่อโลก ! ถึงเวลาต้องหาคำตอบให้ตัวเอง

บำบัด เครียด ด้วยการเต้น

Dhamma Daily : ถ้ารักงานแต่ เบื่อเจ้านาย เพราะไร้ความยุติธรรม ทำอย่างไรดี ?

เบื่องานทำไงดี เพิ่มพลังง่ายๆภายใน 10 นาที

8 วิธี เปลี่ยนวันจันทร์ที่น่าเบื่อ ให้เป็นวัน “สุข”

6 วิธีวิ่งหนีความจำเจ สุดแสนจะ น่าเบื่อ ในชีวิตของคุณ – นิตยสาร Secret

Dhamma Daily : วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น สำหรับคนคิดมาก ฟุ้งซ่าน ท้อแท้ง่าย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.