คนทำงาน

10 ข้อคิดที่ คนทำงาน ควรมีเพื่อพัฒนาตนให้ดีกว่าเดิม

10 ข้อคิดที่ คนทำงาน ควรมีเพื่อพัฒนาตนให้ดีกว่าเดิม

 

 วันนี้ซีเคร็ตมีหลักการทำงานดี ๆ มาฝาก เป็น 10 ข้อคิดที่ คนทำงาน ควรมีเพื่อพัฒนาตนให้ดีกว่าเดิม ซึ่งมาจากหลักการนักทำงาน จาก พระราชธรรมวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นธรรมะง่าย ๆ 10 ประการ สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อให้ธรรมกับงานเป็นหนึ่งเดียวกันคือ ทำงานไปก็เหมือนปฏิบัติธรรมไปด้วย การปฏิบัติธรรมในที่นี้ไม่ใช่การภาวนาหรือการทำกรรมฐานในขณะทำงาน แต่เป็นการปฏิบัติตามข้อธรรมะของพระอาจารย์ในขณะทำงาน

 

ทำไมเวลา Work จึงเป็นเวลาธรรม พุทธทาสภิกขุกล่าวว่า งานคือหน้าที่ คนอินเดียโบราณเรียกหน้าที่หรืองานว่า “ธรรม” ดังนั้นงานจึงเป็นธรรม ขณะที่กำลังทำงานกจึงไม่ต่างจากการปฏิบัติธรรม แต่พอพูดถึงงาน บางคนทำสีหน้าเครียดขึ้นมาเลยทันที ทำไมงานที่ว่าเป็นธรรม จึงกลายเป็นความทุกข์เมื่อนึกถึง แล้วทำไมทำแล้วกลายเป็นความทุกข์มากกว่าการมีธรรมะแล้วใจจะผ่องแผ้ว ทำอย่าง

ไรให้ธรรมะกับงานรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีธรรมะใดสามารถผสานให้งานกลายเป็นธรรมได้บ้าง

 

คนทำงาน

 

หลักการของนักทำงาน 10 ประการของพระราชธรรมวาทีมีดังนี้

 

  1. รักจริง

เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือการรักในงานนั้น ๆ เต็มใจทำในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ใช่ทำแบบเสียไม่ได้ หรือสักแต่ว่าทำ… ทำงานที่ไหนก็อย่าคิดว่าอยู่บ้านเช่า ต้องคิดว่าอยู่บ้านเรา เอาจริง เอาจัง ทุ่มเท ดูแลเอาใจใส่ เพราะคนที่อยู่บ้านเช่าจะมีความคิดว่า พังก็ช่าง เพราะไม่ใช่บ้านของเรา เราก็จะขาดความรับผิดชอบ

 

  1. อิงหลัก

การทำงานด้วยอิงหลัก เรียกว่า “ล้มแบบมีที่พิง” คือ หลักเกณฑ์ (มีกติกาว่าอย่างไร เอาอะไรเป็นประมาณ) หลักการ (ทำเพื่ออะไร) หลักฐาน (ทำอะไรแล้วให้มีที่มาที่ไป) หลักธรรม (เป็นอะไรก็ต้องอาศัยหลักธรรมของการเป็นนั้น ๆ)

 

  1. ปักป้าย

ประสบความสำเร็จก็ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ คือบอกกล่าวให้โลกรู้ เรียกว่า “มีดีอวด ไม่ใช่อวดดี”

 

  1. ใช้มือ

ในการทำงานจะต้องประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ฉะนั้นมือทั้ง 10 นิ้วสำคัญมาก จำไว้อย่างเล่าปี่ เพราะอะไรจึงเอาขงเบ้งมาช่วยงานได้ ทั้งที่ขงเบ้งเป็นคนถือตัวมาก ก็เพราะ10นิ้วของเล่าปี่ (การถ่อมตน) ที่คาราวะ งอนง้อจนกระทั่งขงเบ้งเห็นใจ ดังนั้นการทำความเคารพผู้อื่นจึงสำคัญ

 

  1. ถือสี่

หากเป็นหัวหน้าหรือเจ้านายต้องเป็นพรหม คือถือหลักพรหมวิหาร 4 มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความรักใคร่ จิตสงสาร เบิกบานยินดีกับผู้อื่น และมีใจเป็นธรรม ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานต้องมีสังคหวัตถุ 4 คือ ให้ใจ ให้โอกาส ให้เมตตา ให้ของขวัญ (ทาน) พูดจาอ่อนหวาน (ปิยวาจา) มีน้ำใจ (อัตถจริยา) และ ทำตัวเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย (สมานัตตา) สำหรับคนทำงานต้องมีอิทธิบาท 4 คือ รักงาน (ฉันทะ) ขยันทำ (วิริยะ) จำมั่น (จินตะ) และหมั่นตรวจสอบ (วิมังสา)

 

  1. ดีพร้อม

หมายถึงเป็นคนที่ดีครบวงจร ได้แก่ รู้ดี (รอบรู้ในสายของงาน) สามารถดี (สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี) และประพฤติดี (ปฏิบัติตามหลักธรรม ตั้งอยู่บนการทำความดี)

 

  1. ยอมบ้าง

ไม่ประกาศว่าตนเก่ง ตนฉลาดในเวลาที่ไม่สมควร คือพูดเรื่องตนเองให้น้อย แล้วฟังคนอื่นให้มาก มองให้กว้างไกล และไม่อวดฉลาด บางอย่างรู้ก็แกล้งไม่รู้ ทำอย่างนี้ในเวลาที่สมควรก็เป็นเรื่องดีต่อการทำงาน

 

  1. ช่างเขียน

มีความรู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องค้นแสวงหา และบันทึกจดจำ การจดจำก็เป็นผลดีต่อการทำงาน คือบันทึกเรื่องงานและความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานจะเยี่ยมมาก

 

  1. เรียนรู้

ข้อนี้สำคัญ ต้องแสวงหาความรู้ให้เพิ่มพูน วิทยาความรู้นับวันก็มีแต่เรื่องใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ต้องพยายามคว้าไว้ประดับตัว และประสบการณ์ในการทำงานก็เป็นการศึกษาอีกอย่าง คือการศึกษาชีวิต วิชาชีวิต อะไรดีก็ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตน อะไรไม่ดีก็อย่าจำอย่าทำตาม

 

  1. สู้งาน

บางทีงานที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ก็ไม่ต่างจากอุปสรรคที่ถาโถมเข้าใส่เรา ความเพียรเท่านั้นที่จะพาเราฟันฝ่าไปได้ วิริยะ คือบารมีของพระโพธิสัตว์ที่พระมหาชนกทรงยึดจนทำให้พระองค์รอดพ้นจากภัยมาได้

 

หลักของนักทำงานของพระราชธรรมวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน)  เป็นการรวบรวมธรรมะของพระพุทธเจ้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการทำได้เป็นอย่างดี

 

คนทำงาน

 

ข้อมูลจาก ธรรมะกับการทำงาน ผู้แต่ง พระราชธรรมวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน)


บทความน่าสนใจ

ใครอยากได้กำลังใจในการทำงาน ฟังทางนี้ (มีคลิป) โดยขุนเขา สินธุเสน และ ฌอน บูรณะหิรัญ

วิธีรับมือ จัดการ และอยู่ร่วมกับ เพื่อนร่วมงาน นิสัยไม่ดี เพื่อการทำงานที่มีความสุข

วิธีลดความอคติ ปรับตัวให้เข้ากับเจ้านายที่ทำงานไม่เก่ง โดยขุนเขา สินธุเสน (ชมคลิป)

มิตรภาพอบอุ่น ! หนุ่มออฟฟิศใจบุญ สอนหนังสือให้คนเร่ร่อน

9 วิธี เจริญสติในออฟฟิศ…รู้อย่างนี้ทำไปนานแล้ว!

10 วิธีปรับออฟฟิศ เพื่อสร้างความสุขในการทำงาน

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.