ความตาย

มอง ความตาย ใน 3 ศาสนา

มอง ความตาย ใน 3 ศาสนา

“ความตาย” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง ชีวิตหลัง ความตาย เป็นดังปริศนาที่ทุกคนหาคำตอบ

คำสอนของแต่ละศาสนามีคำตอบที่แตกต่างกันไป

Secret จะพาคุณไปรู้จักกับ ความตาย ในมุมมองของ 3 ศาสนาและพินิจเรื่องความตายที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน

 

คติความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของชาวไทยพุทธ

คนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธมีคติความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดคำสอนในพุทธศาสนากล่าวว่า  มนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รูป(ร่างกาย) และจิต ร่างกายอาจแตกดับไปตามอายุขัย  แต่จิตยังคงวนเวียนไปตามผลกรรมที่ได้กระทำยามมีชีวิต  หากต้องการให้จิตหลุดพ้นจากวัฏจักรอันเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด  ต้องประกอบกรรมดี  ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง  และมุ่งฝึกพัฒนาจิต ละกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดเหนี่ยวรั้งใจทั้งปวงเพื่อเข้าสู่นิพพาน

คนไทยพุทธจึงเน้นที่การประกอบพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายเพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้วิญญาณผู้ตายไปสู่สุคติภูมิ  การประกอบพิธีกรรมหลายวันเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยประคองความรู้สึกของญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่ให้คลายความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักลงได้บ้าง  และทำให้ได้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงแท้แห่งสังขารอีกด้วย

ตามประเพณีดั้งเดิมนั้น พิธีศพมีขั้นตอนที่ประณีตและซับซ้อนมาก  ต่อมาได้ยกเลิกขั้นตอนบางอย่างลงด้วยปัจจัยด้านเวลาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ประเพณีเกี่ยวกับงานศพของชาวไทยพุทธแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. วันถึงแก่กรรม  2. วันตั้งศพบำเพ็ญกุศล  3. วันฌาปนกิจ (วันเผา) 4. วันหลังฌาปนกิจ (วันเก็บอัฐิ)

แต่ละขั้นตอนของพิธีศพล้วนแฝงคติธรรมเพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงความตายและพิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต เช่นทิศทางการวางศพ  โดยหันศีรษะของศพไปทางทิศตะวันตก  เพราะเชื่อว่าเป็นทิศของคนตาย  ซึ่งแฝงคติธรรมให้พิจารณาว่าการตายคือการเสื่อมสิ้นไป  เหมือนพระอาทิตย์ที่ตกทางทิศตะวันตกเสมอ  นอกจากนี้พิธีกรรมในหลายขั้นตอนยังสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย  เช่น พิธีนำเงินใส่ปากศพ  โดยถือว่าเป็นการมอบทุนทรัพย์ให้ผู้ตายติดตัวไว้ใช้ในการเดินทางสู่โลกหน้า

การตั้งศพบำเพ็ญกุศลอาจกำหนดเป็น 3 วัน  5 วัน  หรือ 7 วัน  แล้วแต่ฐานะของเจ้าภาพ แต่ถ้าเป็นการตายแบบผิดธรรมชาติหรือตายเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น  อาจตั้งศพบำเพ็ญกุศลเพียงหนึ่งคืน  และประกอบพิธีฌาปนกิจให้เร็วที่สุด การนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม แม้จะมองดูว่าเป็นการกระทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ  แต่มีคติธรรมที่แฝงอยู่คือการเตือนสติให้ญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่ได้พิจารณามรณานุสติความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร  ให้มีสติกำกับการใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา  ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต  ทำความดีและสร้างสมบุญกุศลทั้งปวงเพื่อความสุขทั้งยามมีชีวิตและเมื่อละสังขาร

การไปร่วมงานศพและการเคารพศพถือเป็นการแสดงความระลึกถึงผู้ล่วงลับ ขอขมาลาโทษและอโหสิกรรมให้แก่กัน วันที่สำคัญที่สุดของประเพณีงานศพคือวันฌาปนกิจหรือวันเผา  เนื่องจากมีขั้นตอนพิธีกรรมมากมาย  และเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัว  ญาติมิตร  และเพื่อนฝูงจะได้ส่งผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย  ตามประเพณีจะไม่นิยมเผาศพในวันพระและวันศุกร์

วันหลังฌาปนกิจ ลูกหลานและญาติมิตรของผู้ล่วงลับจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบังสุกุลและเก็บกระดูกหรืออัฐิใส่โกศหรือภาชนะมีฝาปิดตามแต่ฐานะของครอบครัวผู้ล่วงลับ เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัด  บางรายอาจแบ่งอัฐิบางส่วนมาเก็บไว้ที่บ้าน  ส่วนเถ้าถ่านที่เผาศพจะรวบรวมและนำห่อผ้าขาวไปลอยที่แม่น้ำลำคลองหรือทะเล

สมัยก่อนงานศพส่วนใหญ่จัดขึ้นที่บ้านของผู้ล่วงลับ  แต่ปัจจุบันนิยมจัดพิธีบำเพ็ญกุศลที่วัด  เพราะสะดวกทั้งเรื่องสถานที่และการทำพิธีกรรม

อาจารย์จุลภัสสร พนมวัน อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมไทย กล่าวถึงคติความเชื่อเรื่อง ความตายของชาวไทยพุทธว่า

คนไทยพุทธเชื่อว่า  เมื่อตายไปแล้วต้องมีโลกหน้าที่เราเดินทางต่อไปเพราะฉะนั้นครอบครัวและญาติจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลต่าง ให้ผู้ตาย  โดยเชื่อว่าเขาจะได้ไปสู่สุคติภูมิ  หรืออาจไปเกิดในที่ดี ไปสวรรค์  แทนที่จะไปเกิดในนรกหรือเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน

คติความเชื่อเรื่องความตายของชาวไทยพุทธมักแฝงคติธรรมเสมอ เช่นการมัดตราสัง  คือการใช้ด้ายสายสิญจน์ทำเป็นบ่วงมัดศพเป็นสามเปลาะที่คอ  มือและเท้า  ในอดีตยังไม่มีการฉีดน้ำยารักษาศพมิให้เน่าพองอืด  การมัดตราสังจึงเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้ศพที่เก็บไว้หลายวันพองอืดขึ้นจนดันโลงแตก  แต่ถ้าพิจารณาแล้วก็เป็นคติธรรมแฝงให้คิดว่า  บ่วงทั้งสามเปรียบได้กับตัณหา 3ประการที่เป็นห่วงผูกรั้งมนุษย์ให้ตกอยู่ในวัฏสงสารดังภาษิตโบราณที่ว่า ‘ตัณหารักลูกเหมือนดังเชือกผูกคอ  ตัณหารักเมียเหมือนดังปอผูกศอก  ตัณหารักข้าวของเหมือนดังตอกรัดตีน’ ผู้ใดสามารถสละได้ก็จะพ้นจากทะเลทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด”

 

การจากไปสู่ชีวิตที่เป็นนิรันดร์ของชาวคริสเตียน

ชาวคริสเตียนนิกายโปรเตสแตนต์เชื่อว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้นเพราะชีวิตหลัง ความตาย คือการกลับไปมี“ชีวิตนิรันดร์”  ซึ่งหมายความว่า  เมื่อตายแล้วมนุษย์จะกลับไปอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าในสวรรค์อันเป็นที่อยู่ถาวร  ซึ่งพระเจ้าได้ทรงเตรียมไว้สำหรับมนุษย์ทุกคนที่เชื่อและวางใจในพระองค์

ตามพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า  แท้จริงแล้วพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์ให้มี ความตาย  แต่มนุษย์คู่แรกทำผิดต่อพระผู้เป็นเจ้า  ดังนั้นพระองค์จึงทำให้มนุษย์ต้องตายเพื่อลงโทษการตายก็คือการขาดจากความสัมพันธ์กับพระเจ้า  แต่ในที่สุดแล้วพระเจ้าก็ทรงส่งพระเยซูคริสต์มาไถ่บาปให้เหล่ามนุษย์  เพื่อให้มนุษย์กลับไปคืนดีกับพระเจ้าอีกครั้ง  การกลับไปคืนดีนี้คือการกลับไปมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าแบบถาวร  ซึ่งไม่มีสิ่งใดแยกได้อีกแม้กระทั่งความตายของร่างกาย  ดังนั้นชีวิตนิรันดร์ได้เริ่มต้นขึ้นในชีวิตนี้แล้วทันทีหลังจากเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า

คติความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายของชาวคริสเตียนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตโดยชาวคริสเตียนเชื่อว่าชีวิตบนโลกนี้เป็นเรื่องชั่วคราว  ชีวิตหลังความตายยิ่งใหญ่กว่ามาก  ดังนั้นชาวคริสเตียนจึงใช้ชีวิต  ความสามารถ และวัตถุที่มีอยู่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมให้ได้มากที่สุด

เมื่อชาวคริสเตียนถึงแก่กรรม  จะมีการจัดพิธีศพอย่างเรียบง่าย  เพราะเชื่อว่าการตายเป็นการจากไปเพียงชั่วคราว  และวันหนึ่งทุกคนจะได้เจอกันอีกครั้งในดินแดนของพระเจ้า  พิธีที่สำคัญคือ  “พิธีนมัสการไว้อาลัย”  ซึ่งอาจจัดขึ้นที่โบสถ์เป็นเวลา 3 - 5 วันโดยประมาณตามแต่สะดวก

ระเบียบพิธีศพโดยทั่วไปคล้ายการเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์  ซึ่งประกอบด้วยการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า  การอธิษฐานเพื่อขอพรและการปลอบประโลมใจแก่ครอบครัวผู้วายชนม์  การอ่านพระคัมภีร์  การเทศนาบรรยายธรรม  ซึ่งเน้นเรื่องความหวังหลังความตาย  และเล่าถึงบทเรียนชีวิตของผู้ล่วงลับ (บางครั้งคริสเตียนใช้คำว่า “ล่วงหลับ”คือการไปหลับอยู่กับผู้ที่จากไปก่อน)  เพื่อระลึกถึงคุณความดีและตัวอย่างที่ดีของผู้ที่จากไป

เมื่อครบกำหนดพิธีกรรมไว้อาลัยแล้วสมัยก่อนนิยมฝังศพที่สุสาน  โดยเคลื่อนศพไปยังสถานที่ฝัง  จากนั้นให้สัปเหร่อยกศพลงหลุมศพที่เตรียมไว้  ระหว่างทำพิธีมีการร้องเพลงที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับความหวังในชีวิตหลังความตาย  จากนั้นผู้ร่วมพิธีจะนำก้อนดินพร้อมดอกไม้ที่เจ้าภาพแจกจ่ายให้ไปวางในหลุมศพ  ปิดฝาหลุมศพ  และอธิษฐานอวยพรญาติพี่น้องที่มาร่วมงาน  เป็นอันจบพิธี

ปัจจุบันชาวคริสเตียนบางท่านอาจทำพิธีเผาที่คริสตจักรที่มีเตาเผาหรือที่วัดไทยหรือไม่ก็บริจาคศพให้แก่โรงพยาบาลเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา  แล้วแต่ความประสงค์ของผู้เสียชีวิตและครอบครัว  เพราะไม่มีกฎเกณฑ์หรือพิธีกรรมบังคับตายตัวใด ๆ

ตามประเพณีของชาวคริสเตียนนั้นจะมีการรำลึกถึงผู้ล่วงลับและเยี่ยมเยียนสุสานในเทศกาลอีสเตอร์  หรือเทศกาลวันฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูเป็นประจำทุกปี

อาจารย์ ภากร มังกรพันธุ์ อดีตผู้ช่วยศิษยาภิบาลแห่งคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์  กล่าวถึงคติหลังความตายของชาวคริสเตียนนิกายโปรเตสแตนต์ว่า

คริสเตียนเชื่อเรื่องการตายแล้วฟื้นดังนั้นการตายจึงเปรียบเหมือนการเปลี่ยน-แปลงที่อยู่จากที่เก่าไปสู่ที่ใหม่  อาจมีความโศกเศร้าคิดถึงผู้จากไปอยู่บ้าง  แต่ลึกในใจแล้วเรารู้ว่าผู้ที่จากไปมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่คือชีวิตนิรันดร์  ซึ่งในวันหนึ่งเราทุกคนจะได้พบกันอีก  ดังนั้นพิธีศพของชาวคริสเตียนจึงมีบรรยากาศค่อนข้างอบอุ่นมีจุดประสงค์เพื่อให้กำลังใจครอบครัวของผู้ตาย  เพราะชีวิตหลังความตายของเรานั้น มีความหวังอันยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหน้าแล้ว”

 

โลกแห่งการรอคอยของชาวมุสลิม

การศรัทธาในโลกหน้า  หรือการฟื้นคืนชีพหลังความตายเพื่อรับการไต่สวนในการกระทำของตน  เป็นหนึ่งในหลักศรัทธาของชาวมุสลิม  ดังที่ได้ปรากฏในบทสวดมนต์ขอพรบทหนึ่งที่สวดประจำวัน  ซึ่งกล่าวว่าขอให้เขาอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข  ขอให้พ้นจากไฟนรก  แสดงให้เห็นว่าชีวิตหลังความตายหรือที่เรียกกันว่า “ชีวิตในหลุมฝังศพ” เป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมตระหนักอยู่เสมอ

“สุสานไทยอิสลาม” ตั้งอยู่ที่ถนนวัดปรก เขตสาทร กรุงเทพฯ

ตามความเชื่อทางศาสนาอิสลามนั้นกายของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือกายหยาบหรือร่างกาย  และกายละเอียดหรือจิตวิญญาณ  ส่วนการตายคือการที่กายละเอียดแยกจากกายหยาบ  นั่นหมายถึงว่ากายละเอียดไม่สามารถควบคุมกายหยาบได้อีกแล้ว

เมื่อความตายมาเยือน  หน้าที่ของชาวมุสลิมคือ  การจัดการดูแลกายหยาบของผู้เสียชีวิตให้เรียบร้อย  โดยมีระเบียบปฏิบัติได้แก่  การอาบน้ำทำความสะอาดศพและห่อด้วยผ้าขาว  การสวดวิงวอนอุทิศแด่ผู้วายชนม์  ตามประเพณีแล้วหน้าที่ในสุสานเป็นของผู้ชาย  ส่วนการดูแลศพในเบื้องต้นเป็นหน้าที่เฉพาะเพศเดียวกัน  แต่ถ้าไม่มีบุคคลเพศเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของลูก  ภรรยา หรือสามี

การประดับตกแต่งโลงศพเป็นไปอย่างเรียบง่าย  โดยมักคลุมด้วยผ้าประดับลวดลายโองการจากพระคัมภีร์  หรือตกแต่งด้วยดอกไม้หรืออาจใช้ใบไม้ที่เป็นพืชตระกูลมินต์  ซึ่งให้น้ำมันหอมระเหย  เช่น  ใบโหระพา  อันเป็นสัญลักษณ์ของพืชแห่งสรวงสวรรค์  ซึ่งในบทสวดมีคำกล่าวถึงพืชนี้อยู่ด้วย

เมื่อชาวมุสลิมได้รับรู้ข่าวการเสียชีวิตเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยเหลือ  ร่วมแสดงความเสียใจและให้กำลังใจแก่ครอบครัวของผู้วายชนม์  ต้องปฏิบัติตัวอย่างให้เกียรติและให้ความเคารพต่อผู้ตาย  ห้ามพูดวิจารณ์ถึงผู้เสียชีวิตในทางเสื่อมเสีย

พิธีศพของชาวมุสลิมใช้วิธีการฝังเพื่อให้ร่างสลายไปตามธรรมชาติเท่านั้น  โดยปกติแล้วต้องฝังให้เร็วที่สุด  ส่วนสถานที่ฝังศพคือสุสาน  หรือที่เรียกกันว่า “กุโบร์”  ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่พำนักรอคอยที่แรกก่อนเข้าสู่การตัดสินในวันแห่งคำพิพากษา  ตามความเชื่อของศาสนาที่ว่าโลกมีการแตกดับ  หลังจากวันสิ้นโลกจะเป็นวันแห่งการพิพากษา  ซึ่งทุกชีวิตจะถูกปลุกฟื้นเพื่อรับการตัดสินจากพระเจ้าตามสิ่งที่ตนได้กระทำไว้

พิธีฝังศพตามหลักของศาสนาอิสลามที่พบในเมืองไทยมี 2 รูปแบบ  คือ  การฝังทั้งหีบและการฝังโดยไม่ใช้หีบ  การฝังศพที่ไม่ใช้หีบจะต้องมีกระดานไม้ปิดเพื่อไม่ให้ถูกดินกดทับ  การนำศพลงสู่หลุมเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่เป็นชาย  ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ลงไปรอรับศพในหลุมที่ขุดเตรียมไว้  การฝังศพจะฝังในท่านอนตะแคงส่วนศีรษะและใบหน้าหันไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารกะบะฮ์ที่ตั้งอยู่ในนครเมกกะนั่นเอง

ชาวมุสลิมไม่มีความเชื่อเรื่องการฝังสิ่งของมีค่าใด ๆ ไปในหลุมศพกับผู้ตาย  สิ่งที่ชาวมุสลิมเชื่อว่าจะติดตัวผู้ตายไปมีเพียง 3อย่างเท่านั้น คือ  หนึ่ง ความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและศาสนกิจที่ตนสั่งสมไว้  สอง วิทยาทานหรือกุศลทาน  และสาม   การมีบุตรที่ดีเพื่อทำหน้าที่ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ตนหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว

คุณธีรนันท์  ช่วงพิชิต  นักวิชาการศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี  อธิบายเรื่องคติความตายของชาวมุสลิมว่า

ตามพระคัมภีร์กล่าวว่า ‘ทุก ชีวิตจะต้องลิ้มรสถึงความตาย’  ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วเป็นอมตะ  หลักศรัทธานี้ทำให้ชาวมุสลิมเรียนรู้สัจธรรมของชีวิตผ่านกรอบความตายเสมอดังนั้นเมื่อความตายมาถึง  พี่น้องชาวมุสลิมจึงมีสติ  โดยไม่ร้องไห้คร่ำครวญ  ในพระคัมภีร์กล่าวว่า  ‘แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า  และยังพระองค์ที่เราจะต้องคืนสู่’  เราไม่ได้มีสิทธิ์ในตัวเราเอง  เพราะเราควบคุมความแก่  ความเสื่อม  ความชราไม่ได้  ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา  เป็นเพียงของฝากจากพระผู้เป็นเจ้า  เป็นเพียงสิ่งที่พระเจ้าฝากไว้ให้เราดูแลให้ดีที่สุด

และเมื่อเราพูดถึงโลกแห่งการรอคอย  เราหมายถึงดวงวิญญาณ  ไม่ใช่ร่างกาย  และไม่ได้หมายถึงนรกหรือสวรรค์  แต่หมายถึงการที่ดวงวิญญาณรอการตัดสินพร้อมกันในวันหลังจากวันสิ้นโลก  เพื่อชีวิตที่บรมสุขอันเป็นนิรันดร์ในโลกหน้า”

คุณทำเนียบ  แสงเงิน  กรรมการมูลนิธิเจ้าพระยาบวรราชนายก(เฉกอะหมัด)  อธิบายถึงหลักศรัทธาเรื่องความตายของศาสนาอิสลามว่า

หนึ่งในหลักศรัทธาของชาวมุสลิมคือ  เชื่อในวันแห่งการตัดสินเรื่องความตายและชีวิตหลังความตาย  พี่น้องมุสลิมจะให้เกียรติต่อสุสาน  ญาติของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะมาเยี่ยมเยียน  เพื่อขอพรให้แก่ผู้ตายพ้นจากความทุกข์ทรมานในหลุมศพ  เมื่อมีชีวิตอยู่เขาได้สวดมนต์ขอพรให้ตัวเอง  แต่หลังเสียชีวิตแล้ว  ลูกหลานจะมาทำหน้าที่ขอพรให้แก่เขา

การเสียชีวิตของคนคนหนึ่งถือเป็นการเตือนคนที่ยังมีชีวิตให้ตระหนักเรื่องความตายอยู่ตลอดเวลา  เมื่อเราเข้ามาในกุโบร์  หรือได้ยินข่าวการเสียชีวิตของพี่น้องมุสลิม  เราก็จะมาร่วมทำพิธี  สวดมนต์ขอพรให้แก่ผู้เสียชีวิตพร้อมปลอบใจและช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิต”

แท้จริงแล้ว “ความตาย” เป็นเหมือนบทเรียนที่สอนให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เตรียมรับมือให้พร้อม  เพราะไม่ช้าไม่นานเราทุกคนก็ต้องเดินทางสู่ความตายเช่นกัน 

 

เรื่อง: เชิญพร คงมา  ภาพ: สรยุทธ พุ่มภักดี

ที่มา: นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.