ศีลธรรมและกฎหมาย

ศีลธรรมและกฎหมาย ธรรมะเตือนสติโดย ท่านปิยโสภณ (พระราชญาณกวี)

ศีลธรรมและกฎหมาย ธรรมะเตือนสติโดย ท่านปิยโสภณ (พระราชญาณกวี) 

ศีลธรรมเกิดจากจิตสำนึกซึ่งปลูกฝังมายาวนาน ผ่านการอบรมของครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผ่านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของชนชาตินั้น ๆ แต่กฎหมายเกิดจากการบัญญัติ ตั้งกติกาใหม่ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และศีลธรรมในสังคมนั้น ๆ

ถ้าศีลธรรมนำกฎหมาย สังคมจะปลอดภัย แปลว่าศีลธรรมต้องส่งเสริมกฎหมาย และกฎหมายก็ต้องส่งเสริมศีลธรรม จะทำหน้าที่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ศีลธรรมบางอย่างไม่มีกฎหมายรับรอง ไม่มีการลงโทษ แต่สังคมลงโทษ ส่วนกฎหมายหากผิดแล้วมีบทลงโทษชัดเจน หนักเบาตามเหตุปัจจัย

เราจะสร้างจิตสำนึกได้อย่างไร เพราะโลกทุกวันนี้ไม่มีขอบเขต ไม่มีพรมแดน เป็นโลกที่ให้สิทธิเสรีแก่มนุษย์อย่างไร้ขอบเขตในการใช้ความคิด การพูด และการกระทำ บางคนทำตามอำนาจกิเลสที่จี้บังคับให้ทำ บางคนก็ทำตามสติปัญญา อาจมีไม่น้อยที่บางครั้งเราอาจถูกกลั่นแกล้งจากคนอื่นโดยใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใส่ร้ายป้ายสีกันทางสื่ออินเทอร์เน็ตโดยไม่ทราบว่าใครทำ

เทคโนโลยีเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมทำให้ระบบศีลธรรมเริ่มเสื่อมถอย ความลับไม่มีในโลก ความยุติธรรมไม่มีอยู่จริง มนุษย์เริ่มเห็นแก่ตัว กลัวคนอื่นจะดีกว่าตน ปราศจากระบบศีลธรรมที่เข้มแข็ง กฎหมายก็อ่อนกำลัง ทำอะไรไม่ได้

ฉะนั้น การจะให้โลกยุคใหม่มีความสงบสุขปลอดภัยเหมือนโลกยุคก่อนเริ่มจะยากขึ้นทุกวัน เพราะเราปิดกั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทั้งหมด ข้อมูลที่มนุษย์ต้องการถูกนำมาขายอย่างง่ายดายจนกลายเป็นสินค้าผสมยาพิษให้เยาวชนไปโดยไม่รู้ตัว

โลกยุคหน้า ศาสนา ศีลธรรมจะเสื่อมถอยลง ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญเท่าใด ศีลธรรมของมนุษย์ก็จะไร้พรมแดน กลายเป็นศีลธรรมสากล เรื่องเฉพาะกลุ่มหรือเผ่าพันธุ์จะสูญหายไปหากไม่ปลูกฝังกันให้ดี

การศึกษาบางสำนักจึงไม่ยอมเปิดโลกให้กว้างเกินวัยของเยาวชน แต่ให้เรียนรู้ตามวัย ให้รู้เท่าที่เด็กจะรับได้ เพื่อให้เขาสามารถไตร่ตรอง สร้างสำนึกได้ด้วยตนเอง

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.