ไปวัด

7 เรื่องที่ควรรู้ อิ่มทั้งบุญ อิ่มทั้งใจเมื่อ ไปวัด

7 เรื่องที่ควรรู้ เพื่อความอิ่มเอมใจเมื่อ ไปวัด

เชื่อว่าชาว Secret หลายท่านเข้าวัดทำบุญ ชอบ ไปวัด เป็นประจำ แต่หลายท่านอาจยังไม่รู้ว่าวัตถุและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามเท่านั้น หากแต่มีความหมายแฝงฝังอยู่ด้วย…มาเสาะหาคุณค่าและค้นหาความหมายของสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในวัดกันค่ะ

1.เขตพุทธาวาส คือบริเวณสำคัญที่สุดของวัด เป็นสัญลักษณ์แทนที่ประทับของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีอาคารสำคัญ เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์และมณฑป ซึ่งล้วนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพระบรมสารีริกธาตุ จึงมักตั้งอยู่ทางด้านหน้าของวัดเสมอ

ด้วยเหตุนี้นายช่างโบราณจึงมักวางรูปแบบของเขตพุทธาวาสไว้อย่างสลับซับซ้อน เพื่อให้ผู้มาเยือนต้องเดินทางผ่านสิ่งก่อสร้างรองอื่นๆ อีกหลายชั้น กว่าจะเข้าถึงอาคารประธานของวัด เพื่อสร้างบรรยากาศเสมือนเดินทางผ่านดินแดนและภพภูมิต่างๆ เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั่นเอง

2.การวางผังวัดไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ช่างไทยถ่ายทอดแนวคิดเรื่องจักรวาลลงไปในการสร้างวัด โดยเน้นความสำคัญของสิ่งก่อสร้างที่เป็นประธาน เช่น เจดีย์ โบสถ์หรือวิหาร ให้เทียบเท่าเขาพระสุเมร และออกแบบอาคารเหล่านี้อย่างสลับซับซ้อนและงดงาม เพื่อสื่อความหมายโยงใยไปถึง “พระเจดีย์จุฬามณี” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหนือเขาพระสุเมร ซึ่งพระอินทร์ทรงสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระเกศาและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า สิ่งก่อสร้างที่เป็นประธานนี้จึงเปรียบเสมือนที่ประทับของพระพุทธองค์

ส่วนพระพุทธรูปหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานภายในอาคารนั้น เชื่อว่าหมายถึงพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่เหนือศูนย์กลางจักรวาล ในฐานะผู้ตรัสรู้แล้วทุกสิ่ง จึงเป็นผู้อยู่เหนือจักรวาลอันเต็มไปด้วยกิเลสและการเวียนว่ายตายเกิด

3.หอระฆัง คนไทยสมัยก่อนนิยมสร้างหอระฆังหรือนำระฆังใบเล็กไปถวายวัด พระนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อวัดแล้ว ยังเชื่อกันว่าเสียงที่ดังกังวานของระฆังสื่อถึงความเด่นดังอีกด้วย

วัดไหนที่มีพระบรมสารีริกธาตุให้กราบไหว้ วัดนั้นจะมีระฆังนับร้อยใบอยู่รายรอบบริเวณระเบียงคด เมื่อเราไหว้พระธาตุเสร็จแล้ว ก็จะต้องออกมาตีระฆังที่ระเบียงคดก่อนกลับ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีเหตุผลเพื่อ

  • ป่าวประกาศให้เทวดาอารักษ์ เจ้าที่เจ้าทางทราบ เพื่อยืนยันว่าได้มานมัสการพระบรมสารีริกธาตุแล้วและเพื่อให้ผู้อื่นร่วมอนุโมทนาบุญกุศล
  • การเคาะระฆังถือว่าเป็นการถวายพุทธบูชา เพราะเสียงของระฆังที่ดังกังวาลเปรียบได้กับพระคุณของพระรัตนตรัยที่แผ่ไพศาลออกไป
  • ชาวเหนือเชื่อกันว่า หากได้เคาะระฆังหลังไหว้พระบรมธาตุดอยสุเทพแล้ว จะทำให้ได้กลับไปเยือนดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง

4. ใบเสมา สมัยแรกๆ ใบเสมามีลักษณะเป็นศิลาขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมียอดเป็นสามเหลี่ยม ต่อมาช่างได้ตัดแต่ง สลักเสลาให้งดงามยิ่งขึ้น ด้วยการนำกายวิภาคของมนุษย์เข้าไปผสมผสาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เรามีสัญชาตญาณรักและเข้าข้างตัวเองอยู่เป็นนิจ จึงอดไม่ได้ที่จะใส่ลักษณะของมนุษย์เข้าไปในงานศิลปะ

5.ลูกนิมิต วัดหนึ่งๆ สามารถจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิตได้เพียงครั้งเดียว จึงมีความเชื่อตามมาว่า หากใครปิดทองฝังลูกนิมิตได้ครบ 7 วัด ตายไปไม่ต้องกลัวตกนรก จะว่าไปก็เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล เพระหากได้เข้าวัดเพื่อทำบุญใหญ่ถึงเจ็ดครั้ง จิตใจย่อมเป็นกุศลอย่างแน่นอน

6.ธรณีประตู มีหน้าที่ช่วยค้ำยันวงกบไม่ให้ยุบตัว ดังนั้นหากมีคนเหยียบหรือเตะธรณีประตูบ่อบๆ ก็อาจทำให้ประตูโยกคลอนหรือทำให้พื้นไม้โค้งงอจนเป็นแอ่ง เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกโดยสัตว์เลื้อยคลาน ด้วยเหตุนี้ชาวไทยโบราณจึงมีกุศโลบายว่า ธรณีประตูเป็นสิ่งที่สิงสถิตของแม่พระธรณีหรือเจ้าแม่ของแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อเดินเข้าพระวิหารหรือพระอุโบสถ ผู้ใหญ่จึงมักบอกเราว่า “ห้ามเหยียบธรณีประตู” ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาธรณีประตูแล้ว อีกนัยหนึ่งยังเป็นการเตือนให้เราหยุดเพื่อสำรวมกาย วาจา ใจ ก่อนก้าวเข้าไปสู่ความสงบเบื้องหน้าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

7.จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมรามเกียรติ์ ที่ผนังระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องยาวที่สุดในประเทศไทย คือยาวถึง 178 ห้อง อดีตพระพุทธเจ้า 27 พระองค์และภาพไตรภูมิ ที่พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม นับว่าครบถ้วนสมบูรณ์และมีปริมาณมากที่สุด เพราะใช้แทบทุกพื้นที่ รวมถึงเสาทุกต้น ชาดก 550 ชาติ ที่พระอุโบสถวัดเครือวัลย์ ได้รับการถ่ายทอดลงบนผนังอย่างครบถ้วน โดยแบ่งการเล่าเรื่องแยกออกจากกันในกรอบสี่เหลี่ยมสูงจากพื้นล่างจรดเพดาน

เที่ยววัดอย่างเข้าใจ…ได้อะไรมากกว่าแค่ทำบุญแน่นอนค่ะ


บทความน่าสนใจ

คนเราเข้าวัดเพื่ออะไร? เรื่องน่าคิดจากพระไพศาล วิสาโล

ย้อนรอย อยุธยา ชมโบสถ์พุทธกลิ่นอายฝรั่ง ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ

บันทึกของ “คนไกลวัด”

5 ดาราพาลูกเข้าวัด หัดสร้างบุญแต่เล็กแต่น้อย – SECRET

ความสำเร็จของการปฏิบัติธรรมวัดจากอะไร โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.