คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ

“ทำทานเหมือนการอาบน้ำ” คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ

“ทำทานเหมือนการอาบน้ำ” คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ

คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เปรียบการทำทาน  3  แบบ เหมือนการอาบน้ำ  3  ชนิดว่า

1. คนที่ทำทานด้วยการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น  เช่น  ฆ่าหมู  ฆ่าไก่  เพื่อเอาเนื้อสัตว์ถวายพระ  เหมือนคนอาบน้ำโคลน  ร่างกายไม่มีวันสะอาดไปได้

2. คนที่ทำทานด้วยความยึดติดในบุญอย่างมาก  มุ่งหวังว่าจะได้ขึ้นสวรรค์เหมือนคนอาบน้ำแป้ง  ถึงกลิ่นจะหอมฟุ้ง  แต่ร่างกายก็ไม่สะอาดหมดจดอยู่ดี

3. คนที่ทำทานด้วยใจสงบร่มเย็น  ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นบุญนั้นเป็นตัวเราของเรา  เหมือนคนอาบน้ำบริสุทธิ์  ย่อมชำระกายได้หมดจดเอี่ยมอ่องกว่าใคร

ทำทานครั้งต่อไป  ถ้าอยากให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ก็ลองพิจารณาดูสักนิดว่าการทำทานของคุณเปรียบได้กับการอาบน้ำประเภทใด


อานิสงส์ของทานแบบต่าง ๆ

เจตนารมณ์ ทำทานโดยถวายอาหารที่แปลกใหม่  รสชาติไม่จำเจ

อานิสงส์ของทาน สวย  หล่อแบบเท่ ๆ  เก๋ไม่ซ้ำใคร

 

เจตนารมณ์ ทำทานโดยบริจาคปัจจัยช่วยเหลือผู้ประสบภัย

อานิสงส์ของทาน  ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง  สวย  /  หล่อแบบสุขภาพดี

 

เจตนารมณ์  ทำทานอย่างพิถีพิถัน  สำรวมกายวาจาใจในทุกขณะจิตที่ให้ทาน

อานิสงส์ของทาน เป็นคนน่ารัก  ใครเจอก็ถูกชะตา

 

เจตนารมณ์ ทำทานคุณภาพ  ถวายอาหารมีประโยชน์  ของใช้ทนทาน

อานิสงส์ของทาน เป็นคนอบอุ่นละมุนละไม  เป็นที่รักของคนทั่วไป

 

เจตนารมณ์ ทำทานด้วยใจศรัทธา รับอาสาล้างจาน  เก็บขยะ  ขัดส้วม

อานิสงส์ของทาน กลิ่นกายหอมสะอาด  ไม่หอมฉุนเหมือนคนใส่น้ำหอม

 

ที่มา  :  “อิตถีเพศกับการทำบุญ”   โดย  ร้อยตรี  เจ้าประเวศ    ณ  เชียงใหม่  www.dhammajak.net

 

นี่เป็นเพียงอานิสงส์ตามความเชื่อของคนไทย ซีเคร็ตแนะนำว่า หากเราตั้งใจจะทำทานแล้ว ตั้งจิตบริสุทธิ์และทำทานตามเจตนาของตนเอง ย่อมดีที่สุดค่ะ


ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ไม่ทำบุญแต่ทำทาน จะสามารถอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับได้ไหม

คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ

 

ผู้อ่าน ถาม:

ถ้าไม่ค่อยได้ทำบุญใส่บาตร แต่มักให้ทานแก่ผู้ยากไร้หรือสัตว์สม่ำเสมอ จะสามารถนำบุญที่ได้ อุทิศส่วนกุศล ให้กับญาติที่ล่วงลับได้ไหมคะ

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา ตอบ:

อุทิศให้ได้เช่นเดียวกัน แต่พลานุภาพของบุญไม่เท่ากันเพราะถ้าผู้รับเป็นเนื้อนาบุญ คือผู้ที่มีคุณธรรมสูง เป็นอริยบุคคล ก็เปรียบเสมือนผืนนาที่ดี มีดินดี ปุ๋ยดี น้ำดี ผนวกกับผู้ให้ หรือเรียกว่า “ทายก” มีความตั้งใจในการทำบุญสูง เสมือนเป็นข้าวสายพันธุ์ดี เมื่อปลูกหรือหว่านลงบนเนื้อนาบุญที่ดี ข้าวก็จะเจริญงอกงาม อานิสงส์ผลบุญที่ได้รับจะมหาศาล ไม่มีประมาณ แต่ถ้าผืนนาไม่ดี แต่ทายกดี พลานิสงส์ของบุญยังมีขีดจำกัด ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ว่า

ให้ทานกับมนุษย์ไม่มีศีลเป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับให้ทานมนุษย์ผู้มีศีลเพียงครั้งเดียวไม่ได้

ให้ทานกับมนุษย์ผู้มีศีลเป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับให้ทานพระโสดาบันเพียงครั้งเดียวไม่ได้

ให้ทานกับพระโสดาบันเป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับให้ทานพระสกิทาคามีเพียงครั้งเดียวไม่ได้

ให้ทานกับพระสกิทาคามีเป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับให้ทานพระอนาคามีเพียงครั้งเดียวไม่ได้

ให้ทานกับพนะอนาคามีเป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับให้ทานพระอรหันต์เพียงครั้งเดียวไม่ได้

ให้ทานกับพระอรหันต์เป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับให้ทานพระปัจเจกพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียวไม่ได้

ให้ทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับให้ทานพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียวไม่ได้

ให้ทานกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นร้อยครั้งพันครั้ง เท่ากับถวายทานแด่สงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นพระประธานเพียงครั้งเดียวไม่ได้

 

Image by Sasin Tipchai from Pixabay

Image by luo1ying from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

10 อันดับของใช้จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ (ตัวเลือกในการจัดสังฆทาน)

บำบัดใจด้วยธรรม(ชาติ) ณ วัดสังฆทาน

Dhamma Daily: ฝากของให้คนอื่นไปทำบุญให้พ่อแม่ แบบนี้จะได้บุญไหม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.