หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติใน วันมาฆบูชา

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ ” วันมาฆบูชา “

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ว่า หลักการถือปฏิบัติ ” วันมาฆบูชา ” ในประเทศไทยเรา เกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โดยทรงยึดถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆะบูรณมี พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนา “โอวาทปาติโมกข์” ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา

นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสการประกอบพิธีมาฆะบูชา

ทั้งนี้หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ ได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ หมายถึง หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต อันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา

หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6 ดังต่อไปนี้

 

หลักการ 3

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่ว มี 10 ประการ อันเป็น
– ความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
– ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
– ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง ซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำความดี อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ
– ความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม

– การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคี และพูดจาถูกกาลเทศะ

– การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละ การไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปราถนาดี และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

3. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี 5 ประการ ได้แก่
– ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
– ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)
– ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)
– ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ)
– ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดีความชั่ว ว่ามีผลจริงหรือไม่ วิธีการทำจิตให้ปฏิบัติสมถะผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวง ด้วยการถือศืลและบำเพ็ญกุศล ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

.

อุดมการณ์ 4

1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
2. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8

.

วิธีการ 6

1.ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
2. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎกติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
4. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6.  ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ขอบคุณรูปภาพด้านในจาก Pascal Müller จาก Unsplash.com

Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

หลักธรรม 3 ข้อสำหรับดูแลความรัก

เคล็ดลับอยู่ร่วมกับคนอื่นแบบเป็นสุข 6 หลักธรรมที่ชาวพุทธควรรู้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.