วัดพระแก้ว เชียงราย

วัดพระแก้ว เชียงราย พุทธศิลป์ล้านนา ตำนานพระแก้ว

วัดพระแก้ว เชียงราย พุทธศิลป์ล้านนา ตำนานพระแก้ว

“วัดพระแก้ว” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีตั้งอยู่บริเวณถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียงอำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย นอกจากเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงรายมาแต่อดีตกาล วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่ค้นพบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต

เล่าขานตำนาน “พระแก้ว”

แต่เดิมวัดพระแก้วชื่อว่า วัดป่าเยียะ หรือป่าญะ เนื่องจากบริเวณวัดมีไม้เยียะ (ไม้ไผ่พื้นเมืองชนิดหนึ่ง คล้ายไผ่สีสุกชาวบ้านนิยมนำมาทำคันธนูและหน้าไม้) เป็นจำนวนมาก ตามตำนานเล่าว่าเมื่อ พ.ศ.1977 เกิดฟ้าผ่าองค์พระเจดีย์ จึงได้พบพระพุทธรูปที่ทำด้วยแก้วมรกตอันงดงามจนเป็นที่เลื่องลือและเรียกขานวัดแห่งนี้ว่าวัดพระแก้ว

ในเวลานั้นพระเจ้าสามฝั่งแกนผู้ครองอาณาจักรล้านนารับสั่งให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นราชธานี ก่อนอัญเชิญเคลื่อนย้ายไปอีกหลายแห่ง กระทั่งประดิษฐานอย่างถาวร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วในกรุงเทพมหานคร

เวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน วัดพระแก้ว เชียงรายมีการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างเสนาสนะต่าง ๆ แบบศิลปะล้านนา แต่ประชาชนทั่วไปมักไม่ทราบประวัติความเป็นมา ในปี พ.ศ. 2533 เนื่องในโอกาสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา คณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายจึงจัดสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิราบฐานเขียง สร้างด้วยหยกมีขนาดใกล้เคียงกับพระแก้วมรกต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าวัดพระแก้วแห่งนี้เคยเป็นที่ค้นพบพระแก้วมรกตมาก่อน เมื่อสร้างเสร็จในปีถัดมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนามพระพุทธรูปหยกองค์นี้ว่า “พระพุทธรตนากรนวุตติวัสสานุสรณ์มงคล” และนามสามัญว่า“พระหยกเชียงราย” อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนที่ได้มาเยี่ยมเยือนวัดแห่งนี้

3 สิ่งที่ต้องเข้าชมในวัดพระแก้ว

หอพระหยก ชาวบ้านเรียกว่า หอคำอาคารทรงล้านนาโบราณ ประดิษฐานพระหยกเชียงราย บนผนังมีภาพเขียนจิตรกรรมขนาดใหญ่จำนวน 9 ภาพ ทั้งหมดเป็นฝีมือช่างพื้นบ้านของจังหวัดเชียงรายที่ร่วมกันวาดด้วยแรงศรัทธา เล่าเรื่องราวความเป็นมาของการค้นพบพระแก้วมรกตตั้งแต่อดีต

พระอุโบสถ พระวิหารทรงเชียงแสนประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตรสูงจากทับเกษตรถึงยอดพระรัศมี 2.80 เมตรเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละที่ใหญ่และงามที่สุดในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้วอาคารทรงล้านนาประยุกต์ สร้างในปี พ.ศ. 2538เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญ เครื่องประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาตามคตินิยมแบบล้านนารวมทั้งข้าวของเครื่องใช้โบราณ เหมาะแก่การศึกษาเรียนรู้ทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมล้านนา

ภาพจิตรกรรมภายในหอพระหยก ฝีมือจิตรกรท้องถิ่นที่ผสมผสานลายเส้นสมัยโบราณและสมัยใหม่ บอกเล่าความเป็นมาตั้งแต่ค้นพบพระแก้วมรกตในอดีต บางภาพถอดแบบจากภาพถ่ายในพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามเมื่อปี พ.ศ. 2534

พระเจ้าล้านทอง งานพุทธศิลป์แบบ “ศิลปะปาละ” เป็นศิลปะจากทางเหนือของประเทศอินเดีย

ลวดลายอันประณีตของ “สลุง” ภาชนะใส่น้ำของชาวล้านนา ใช้ประกอบพิธีพุทธบูชาหรือการทำบุญ ทำมาจากโลหะเงิน ใช้เทคนิคการตอกหรือดุนลาย

ตุงใย ทำด้วยเส้นด้ายหรือเส้นไหม ผูกกันคล้ายใยแมงมุมนิยมแขวนไว้ในวิหารหน้าพระประธานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ภายในวัดพระแก้วยังเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ร่มรื่นด้วยแมกไม้เป็นศูนย์รวมใจรวมศรัทธาทรงคุณค่าที่น่าไปเยือน


วัดพระแก้ว ตำบลเวียง อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย 57000

โทร. 0-5371-1385, 0-5375-1875


เรื่องและภาพ อุราณี ทับทอง


บทความที่น่าสนใจ

วัดกำแพงแลง โบราณสถานเปี่ยมศรัทธา เมืองเพชรบุรี

สร้างเกราะให้จิตใจด้วยการเจริญสติและปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดอัมพวัน

วัดโปรดเกศเชษฐาราม วัดหนึ่งเดียวในพระประแดง รับเสด็จในหลวงของชาวไทย

วัดราชโอรสาราม ต้นแบบแห่งศิลปกรรมอันสง่างามระหว่างไทยและจีน

พักกาย ผ่อนใจ ณ วัดปัญญานันทาราม

วัชรธรรมสถาน แหล่งปฏิบัติธรรมสายวัดป่าใกล้กรุง

ฝึกสติเชิงประยุกต์ ณ วัดลาดพร้าว

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.