ปราภวสูตร

ปราภวสูตร (แปล) สวดภาวนาเพื่อไม่ให้ชีวิตตกต่ำไปสู่ความเสื่อม

ปราภวสูตร (แปล) สวดภาวนาเพื่อไม่ให้ชีวิตตกต่ำไปสู่ความเสื่อม

 ปราภวสูตร เป็นพระสูตรหนึ่งที่ปรากฏใน ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หมวดขุททกนิกาย แห่ง พระสุตตันตปิฎก มีเนื้อหาว่าด้วยมูลเหตุแห่งความเสื่อม หรือหนทางที่จะทำให้คนผู้หนึ่งตกต่ำได้ โดยพระสูตรนี้อาจนับเป็นส่วนต่อขยายจากมงคลสูตร ซึ่งว่าด้วยสิ่งอันเป็นมงคล หรือเหตุที่ทำให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ปราภวสูตรนี้เป็นการย้ำเตือนว่า นอกจากจะต้องปฏิบัติในสิ่งอันเป็นมงคลดังที่ปรากฏในมงคลสูตร ยังต้องหลีกเลี่ยงความเสื่อมดังที่ปรากฏในปราภวสูตรอีกด้วย

สุวิชาโน ภะวัง โหติ

ทุวิชาโน ปะราภะโว

ธัมมะกาโม ภะวัง โหติ

ธัมมเทสสี ปะราภะโว

ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดชังธรรมเป็นผู้เสื่อม

 

อะสันตัสสะ ปิยา โหนติ

 สันเต นะ กุรุเต ปิยัง

อะสะตัง ธัมมัง โรเจติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดทำความรักในคนพาล ไม่ทำความรักในบัณฑิต เขาชอบใจธรรมของคนพาล ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

นิททาสีลี สะภาสีลี

อะนุฎฺฐาตา จะ โย นะโร

อะละโส โกธะปัญญาโณ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดชอบนอน ชอบคุย ไม่หมั่น เกียจคร้าน โกรธง่าย ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

โย มาตะรัง ปิตะรัง วา

ชิณณะกัง คะตะโยพพะนัง

ปะหุ สันโต นะ ภะระติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

คนใดมีความสามารถอยู่ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดา ผู้แก่เฒ่า ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

โย พราหมะณัง สะมะณัง วา

อัญญัง วาปิ วะณิพพะกัง

มุสาวาเทนะ วัญเจติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดหลอกลวงสมณะพราหมณ์ หลอกแม้วณิพกคนขอทานอื่นใด ด้วยมุสาวาจ, ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

ปะหูตะวิตโต ปุริโส

สะหิรัญโญ สะโภชะ โน

เอโก ภุญชะติ สาธูนิ ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดมีทรัพย์สินเงินทองมีของเหลือกินเหลือใช้ เขาบริโภคของที่ดีๆ นั้นแต่ผู้เดียว ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

ชาติถัทโธ ธะนะถัทโธ

โคตตะถัทโธ จะ โย นะโร

สัญญาติมะติมัญเญติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดหยิ่งเพราะชาติกำเนิด หยิ่งเพราะทรัพย์ หยิ่งเพราะโคตร แล้วดูหมิ่นซึ่งญาติของตน ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

อิตถีธุตโต สุราธุตโต

อักขะธุตโต จะ โย นะโร

ลัทธัง ลัทธัง วินาเสติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงเล่นการพนัน เขาได้ทำลายทรัพย์ที่หามาได้ ให้พินาศฉิบหายไป ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

เสหิ ทาเรหิ อะสันตุฏโฐ

เวสิยาสุ ปะทุสสะติ

ทุสสะติ ปะระทาเรสุ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดไม่พอใจรักใคร่ในภรรยาตน กลับไปเที่ยวซุกซนกับหญิงแพศยา และลอบทำชู้กับภรรยาของผู้อื่น ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

อะตีตะโยพพะโน โปโส

อาเนติ ติมพะรุตถะนิง

ตัสสา อิสสา นะ สุปปะติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ชายใดผู้ถึงวัยแก่เฒ่าชราแล้ว ได้นำหญิงสาวแรกรุ่นมาเป็นภรรยา  เขานอนไม่หลับเพราะความหึงหวง และห่วงอาลัยในหญิงนั้น ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

อิตถิง โสณฑิง วิกิริณิง

ปุริสัง วาปิ ตาทิสัง

อิสสะริยัสสะมิง ฐะเปติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ชายใดตั้งหญิงนักเลงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมาเป็นแม่เรือน และหรือหญิงใด ตั้งชายนักเลงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมาเป็นพ่อเรือน ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

อัปปะโภโค มะหาตัณโห

ขัตติเย ชายะเต กุเล

โส จะ รัชชัง ปัตถะยะติ

ตัง ปะราภะวะโต มุขัง

ผู้ใดเกิดในตระกูลกษัตริย์ มีโภคะน้อย แต่มีความอยากใหญ่ ปรารถนาราชสมบัติ ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

 

เอเต ปะราภะเว โลเก

ปัณฑิโต สะมะเวกขิยะ

อะริโย ทัสสะนะสัมปันโน

สะ โลเก ภะชะเต สิวัง

ผู้เป็นบัณฑิตสมบูรณ์ด้วยความเห็นอันประเสริฐ ได้เห็นเหตุแห่งความเสื่อมทั้งหลายเหล่านั้นชัดแล้ว ท่านย่อมเว้นสิ่งเหล่านี้เสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงพบและเสพแต่โลกซึ่งมีแต่ความเจริญ ฝ่ายเดียว

 

อิติ ด้วยประการฉะนี้แล

 

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

เขมาเขมสรณทีปิกคาถา (แปล)

ขันธปริตร (แปล) สวดป้องกันภัยจากสัตว์มีพิษ

อภยปริตร (แปล) สวดแล้วไม่ฝันร้าย  

พระคาถา ชินบัญชร บทสวด พร้อมคำแปล อัญเชิญพระพุทธคุณเป็นปราการกันภัย

ธชัคคปริตร (แปล)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.