วัดกำแพงแลง

วัดกำแพงแลง โบราณสถานเปี่ยมศรัทธา เมืองเพชรบุรี

วัดกำแพงแลง โบราณสถานเปี่ยมศรัทธา เมืองเพชรบุรี

ดินแดนสุวรรณภูมิเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมานานนับพันปี พิสูจน์ได้จากโบราณสถานโบราณวัตถุ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ วัดกำแพงแลง คือหนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี

ย้อนยุควัดโบราณ

วัดกำแพงแลงตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี มีสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่น คือ ปราสาทศิลาแลงเก่าแก่ตั้งตามแนวเหนือจรดใต้ 3 องค์มีกำแพงล้อมรอบ ทิศตะวันออกมี “โคปุระ”หรือซุ้มประตูทางเข้าตัวศาสนสถาน เป็นศิลปะแบบบายน ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ช่วงเวลาเดียวกับที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงครองราชย์ (พ.ศ.1724 - 1762) เมื่อทรงเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ทรงแผ่ขยายดินแดนด้วยการสร้างศาสนสถานตามหัวเมืองสำคัญ 23 แห่ง ซึ่งเมืองเพชรบุรีเป็นหนึ่งในนั้น

หลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตปราสาทแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไปนานกว่า 600 ปีกระทั่งในปี พ.ศ. 2488 พระครูสุวรรณมุนี (ผัน สุวณฺโณ สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรีให้พระสงฆ์จากวัดมาปรับปรุงสถานที่แห่งนี้เพื่อใช้เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน และเริ่มสร้างเป็นวัดกำแพงแลงขึ้นในปี พ.ศ. 2497โดยมีท่านเจ้าคุณ พระมงคลวรญาณ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

แม้ต่อมาวัดกำแพงแลงพัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงรักษาปราสาทเก่าแก่ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายในให้ประชาชนเคารพสักการะ ได้แก่ หลวงพ่อนิล หลวงพ่อพุทธเมตตา หลวงพ่อเพชรและพระพุทธไสยาสน์

เคร่งครัดในธรรม

ปัจจุบัน พระอธิการศราวุธ สุทฺธสีโล เป็นเจ้าอาวาส กำหนดให้พระสงฆ์ที่จำพรรษา 6 รูปปฏิบัติตามวินัยสงฆ์เคร่งครัด โดยเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนากรรมฐาน

“วัดแห่งนี้เข้มงวดเรื่องกฎระเบียบ ไม่มีอะไรใหญ่โต เงียบสงบ เรียบง่าย พระสงฆ์ที่นี่ตื่นตีสามครึ่ง ตีสี่ภาวนา ตีห้าก็กวาดพื้นกวาดใบไม้ บ่ายสามโมงก็กวาด เมื่อกวาดตอนเย็นแล้ว ใบไม้ตอนเช้าก็ไม่เยอะ อะไรก็แล้วแต่ที่เราทำบ่อย ๆ มันก็น้อย ปล่อยให้นานแล้วทำทีมันก็เยอะ” เจ้าอาวาสกล่าว

วัดกำแพงแลงไม่มีเตาเผา ไม่เน้นพิธีกรรม ไม่จัดมหรสพ แต่มุ่งหมายให้ศาสนาเป็นที่ขัดเกลาจิตใจ จึงเปิดฝึกสอนการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนากรรมฐานแก่ประชาชนและนักศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หลักสูตร 3 วัน (ศุกร์ - อาทิตย์) มีที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมรองรับได้ประมาณ 200 คน

ท่านใดสนใจปฏิบัติธรรมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-3240-0490 หรืออยากแวะเวียนไปทำบุญถวายสังฆทาน วัดขอเป็นสิ่งของที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม เช่น น้ำปานะ เครื่องเขียน กระดาษ น้ำยาล้างจาน อุปกรณ์ทำความสะอาดห้องน้ำ เป็นต้น

สิ่งใดเกินความจำเป็นของวัด สิ่งของเหล่านั้นจะได้รับการแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลสถานศึกษา หรือบุคคลที่ขาดแคลน

หลวงพ่อสอนธรรม

“เดี๋ยวนี้เราได้ยินคำว่าสะเดาะเคราะห์กรรม ตัดกรรม แต่ศาสนาพุทธไม่มีคำนี้บัญญัติไว้ แม้แต่คำว่าโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่มีในศาสนาพุทธมีแต่เรื่องเหตุและผล คือภาษาพระเรียกว่า อิทัปปัจจยตา สิ่งนั้นเกิดสิ่งนั้นจึงเกิด สิ่งนั้นดับสิ่งนั้นจึงดับ มีเหตุคือเหตุเป็นแรงเกิด ผลมันจึงตามมา

“เพราะฉะนั้นความผิดที่ทำไปแล้วก็คือความผิดสำเร็จรูป ความดีที่ทำไปแล้วก็คือความดีสำเร็จรูป ถ้าทำดีก็ได้ดีทำไม่ดีก็ได้ไม่ดี ควรสำรวจว่าวันนี้เราทำดีแล้วหรือยัง ถ้าไม่ดีแก้ไขให้ดีที่สุดไม่ต้องดีเลิศ ค่อย ๆ ขยับการแก้ไปนี่เป็นสิ่งดีที่ควรสั่งสมไว้ อะไรที่ดีแล้วให้รักษา โลกนี้ไม่มีใครดีที่สุด มีแต่คนที่แก้ไขได้แล้วจึงดี หากผิดแล้วยอมรับความผิดแล้ว แก้ไขแล้ว ทุกคนให้อภัย ไม่ใช่การแก้กรรม แต่เป็นการอโหสิกรรม”

พระอธิการศราวุธ สุทธฺสีโลเจ้าอาวาสวัดกำแพงแลง


วัดกำแพงแลง ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี 76000


เรื่อง อุราณี ทับทอง ชลิตา รักธรรมนูญ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี 


บทความที่น่าสนใจ

สร้างเกราะให้จิตใจด้วยการเจริญสติและปฏิบัติกรรมฐาน ณ วัดอัมพวัน

วัดโปรดเกศเชษฐาราม วัดหนึ่งเดียวในพระประแดง รับเสด็จในหลวงของชาวไทย

วันเดียวเที่ยว อยุธยา เลาะวัง ชมวัด กินอร่อย ตามรอยปิ่นโตเถาเล็ก

วัดราชโอรสาราม ต้นแบบแห่งศิลปกรรมอันสง่างามระหว่างไทยและจีน

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.