วัดโปรดเกศเชษฐาราม

วัดโปรดเกศเชษฐาราม วัดหนึ่งเดียวในพระประแดง รับเสด็จในหลวงของชาวไทย

วัดโปรดเกศเชษฐาราม วัดหนึ่งเดียวในพระประแดง รับเสด็จในหลวงของชาวไทย

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะยังทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จ วัดโปรดเกศเชษฐาราม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

หลังจากเรือพระที่นั่งเข้าคลองลัดหลวง จอดเทียบท่าน้ำที่ศาลาน้ำเขียว ซึ่งเป็นศาลาที่เจ้าจอมมารดาตลับและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สร้างไว้เป็นท่าน้ำริมคลองลัดหลวง  ทั้งสองพระองค์ทรงเปลี่ยนเครื่องทรง ณ ศาลาเปลื้อง แล้วจึงเสด็จไปประทับยืน ณ บริเวณพระมณฑปกลางสระน้ำ วัดโปรดเกศเชษฐาราม ทรงปล่อยนกออกจากกรงก่อนเสด็จเยี่ยมราษฎรประทับ และทอดพระเนตรการแสดงพื้นบ้านของชาวมอญในชุมชน

ภาพครั้งนั้น ไม่เพียงฝังแน่นในใจของชาวพระประแดง แต่ยังเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของวัดแห่งนี้  ซึ่ง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเสร็จในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดปากคลอง”

พระพรหมพจน์ ชยธมฺโม (รัตนพล) รับมอบหมายจาก พระครูวิสิฐธรรมรส เจ้าอาวาสวัดโปรดเกษฯ พาทีมงานซีเคร็ตเยี่ยมชม  และอธิบายถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาก่อน ทั้งเป็นสถานที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ประทับยืนปล่อยนก ก่อนเสด็จชมการละเล่นสะบ้ารามัญของชาวมอญ เกิดเป็นเรื่องเล่าที่กล่าวขานสืบกันมา

“มีพระผู้ใหญ่ท่านเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนที่ยังทรงเป็นพระอนุชา ขณะที่เสด็จไปทอดพระเนตรการเล่นสะบ้าที่หมู่บ้านมอญ เครื่องเสียงของวัดโปรดเกษฯ นั้นพังพอดี รัชกาลที่ 9 ท่านทรงช่วยซ่อมให้จนสามารถใช้ได้ดังเดิม อดีตลูกสาวนายอำเภอพระประแดงในขณะนั้นยังเล่าด้วยว่า ยังจำภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นหนุ่ม ถือกล้องถ่ายรูปชาวบ้านกับหม่อมเจ้าที่ตามเสด็จด้วยพระเกษมสำราญ แต่เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ท่านทรงวางตัวได้เหมาะสมงดงามจริง ๆ เป็นภาพประทับใจของคนเก่าคนแก่ ที่เล่าสืบทอดกันมา”  พระพรหมพจน์กล่าว

ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคต วัดโปรดเกศเชษฐาราม จัดให้มีการบวชถวายอภิธรรม และพิธีบำเพ็ญกุศลทุกวันที่ 13 ของทุกเดือน เพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่กระบาทสมเด็จพระมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และมุ่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับบุคคลทุกกลุ่มวัย ในฐานะสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดสมุทรปราการ แห่งที่ 9 อีกด้วย

พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มุงกระเบื้องมอญโบราณ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถา ประดับเครื่องลายคราม ตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 2  ภายในประดับด้วยภาพวาดศิลปะแบบตะวันตก ฝีมือขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 3-4 ที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในพระประแดง การเข้ามาทำการค้าของชาวต่างชาติ

ภาพจิตรกรรม แตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไป ด้วยเป็นภาพจิตรกรรมสีฝุ่นภายในช่องผนังพระอุโบสถ ซึ่งเดิมถูกอิฐกรุช่องไว้แล้วโบกปูนทับและเกิดรอยร้าว

ภาพจิตรกรรมดังกล่าว เป็นรูปพระพุทธสาวิกานั่งพนมมือ และบนผนังด้านในตรงกับพระประธานเป็นภาพพระอัครสาวกและพระอัครสาวิกายืนพนมมือ เหตุที่มีการฉาบปูนปิดภาพจิตรกรรมนั้น มีข้อสันนิษฐานจากผู้รู้สองประการว่า

หนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าดินแดนสุวรรณภูมิไม่เคยมีพระภิกษุณีเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงได้ให้มีการฉาบปูนปิดภาพของพระภิกษุณีไว้

สองคือ อาจเกิดจากรอยร้าวของตัวอาคารพระอุโบสถเนื่องจากเครื่องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผามีน้ำหนักมาก จึงนำอิฐมาอัดในช่องว่างและฉาบปูนทับ เพื่อช่วยเสริมให้ผนังแข็งแรงขึ้น

พระมณฑปกลางน้ำ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นพระมหามณฑปเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบดอกบัว 9 ชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ทำด้วยศิลาแลง

 

เรื่อง: อุราณี ทับทอง ภาพ: อัครวีร์ มีชัย

ผู้ช่วยช่างภาพ: สรยุทธ พุ่มภักดี

ที่มา : คอลัมน์ Travel in peace  นิตยสาร Secret ฉ.224 (26 ต.ค. 2560)


บทความน่าสนใจ

วัดราชาธิวาส วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา

วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดสุดท้ายในรัชกาลที่ 4

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.