พลังแห่งการเยียวยาและการฟื้นคืน ความสัมพันธ์ ปาฐกถาธรรมจากหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์

พลังแห่งการเยียวยาและการฟื้นคืน ความสัมพันธ์ ปาฐกถาธรรมจากหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์

ในยุคที่ผู้คนแสวงหาความสุขรอบกาย และท้อแท้กับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ง่าย มีผู้คนมากมายคิดทำร้ายตัวเอง ขณะที่หลายต่อหลายคนหันไปทำลาย ความสัมพันธ์ กับผู้คนรอบข้างทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

เราจะปรับใจรับมือกับสภาวะเหล่านี้อย่างไร  ปาฐกถาธรรมจากหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ กระตุ้นเตือนการตระหนักรู้ของพวกเราได้ดี

มีความทุกข์มากมายที่สะสมอยู่ภายในตัวของเรา เป็นความทุกข์ที่ส่งทอดมาจากคุณพ่อของเรา คุณแม่ของเรา บรรพบุรุษของเรา ประเทศชาติของเรา พี่น้องร่วมแผ่นดินของเรา เมื่อเรารู้วิธีกลับสู่บ้านภายใน กลับมาหาความทุกข์ เราจะเริ่มเข้าใจรากและธรรมชาติของความทุกข์นั้น ความเข้าใจนั้นเองจะนำมาซึ่งความกรุณา เป็นพลังแห่งการเยียวยาและการฟื้นคืนความสัมพันธ์

                แต่ในสังคมของเราทุกวันนี้ ผู้คนไม่สนใจที่จะฝึกเพื่อลับมาสัมผัสความทุกข์ภายในตนอีกแล้ว เพราะทุกคนกลัวที่จะพบกับความทุกข์ อยากจะวิ่งหนีตัวเอง เราวิ่งหนีด้วยการบริโภคมากขึ้น เพื่อจะลืมหรือหนีความทุกข์เหล่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุว่าทำไมเราจึงไม่รู้จักกับความทุกข์ของเราเสียที ไม่เข้าใจความทุกข์ของพ่อแม่ บรรพบุรุษ และพี่น้องประชาชน

                ในคำสอนทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์แนะนำให้เรากลับไปทำความรู้จักความทุกข์ในตัวของเรา การรู้จักความทุกข์คืออริยสัจข้อแรก หนทางแรกที่จะขจัดความกลัวของเราคือการรับฟังความทุกข์ด้วยความกรุณา เมื่อเธอหายใจเข้าและหายใจออก เธอสร้างพลังแห่งสติขึ้น ด้วยพลังนั้นทำให้เธอไม่กลัวที่จะสัมผัสกับความทุกข์ที่อยู่ภายในตัวเธอ แต่คนทั่วไปไม่รู้จักวิธีการสร้างพลังนี้ เขาจึงกลัวที่จะกลับไปสู่บ้านภายในตัวเองและสัมผัสความทุกข์ที่อยู่ในนั้น กลัวที่จะต้องรับฟังความทุกข์นั้น ไม่กล้าที่จะโอบรับความทุกข์เหล่านั้น

                ความทุกข์เป็นพลังงานหนึ่งและสติก็เป็นพลังงานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยการฝึกหายใจเธอกำลังสร้างพลังงานแห่งสติ พลังงานแห่งสติรับรู้พลังของความทุกข์ที่มีอยู่และโอบกอดความทุกข์นั้นไว้ด้วยความนุ่มนวล ถ้าเธอทำเช่นนี้ได้สักเพียง 5-8 นาที นับเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะในเวลานั้นเธอกำลังสร้างพลังแห่งสติเพื่อโอบอุ้มพลังแห่งความทุกข์ และขณะนั้นเองกระบวนการแห่งการแปรเปลี่ยนและเยียวยาได้เริ่มขึ้นแล้ว ไม่ต้องกลัวความทุกข์ เพียงแค่สร้างพลังแห่งสติจากการหายใจ จากการเดิน พลังแห่งสติที่สร้างขึ้นก็จะยอมรับความทุกข์ของตัวเราได้ และ โอบอุ้ม โอบกอดความทุกข์ที่มีอยู่

                เหมือนคุณแม่ใจดีเมื่อเธอได้ยินเสียงลูกร้องไห้ เธอก็จะเดินไปที่ห้องนั้น สิ่งแรกที่คุณแม่คนนั้นทำก็คืออุ้มลูกขึ้นมา กอดลูกด้วยความอ่อนโยน ปลอบลูกน้อยให้หยุดร้องไห้ พลังแห่งความรักในตัวของคุณแม่แผ่เข้าหาลูก โอบความทุกข์ของลูกเอาไว้ แม่ไม่รู้ว่าลูกร้องไห้เพราะอะไร เธอเพียงแต่โอบกอดลูกด้วยความอ่อนโยน ด้วยความรักและลูกก็หยุดร้องไห้ สิ่งเหล่านี้เป็นจริงในชีวิตของพวกเราด้วยเช่นกัน เราไม่รู้ว่ารากความทุกข์ของเรามาจากไหน แต่ถ้าเราโอบอุ้มความทุกข์ของเราได้ด้วยพลังสติ ความทุกข์นั้นจะลดลงทันทีในเวลาเพียงไม่กี่นาที จริงๆ แล้วแม่ทำได้ดีกว่านั้นอีก คือเมื่อคุณแม่อุ้มลูกขึ้นมาไม่นาน เธอก็จะรู้ถึงสาเหตุที่ลูกร้องไห้และเธอก็จะแก้ปัญหาของลูกที่ต้นเหตุได้ทันที

                นักฝึกปฏิบัติที่ดี เมื่อเขาโอบรับความทุกข์ของเขาไว้ได้ในอ้อมแขน ด้วยความอ่อนโยน ด้วยพลังสติ เขาจะเข้าใจรากความทุกข์สาเหตุแห่งทุกข์ของตัวเองได้ในเวลาไม่นานนัก และหลังจากนั้นวันหนึ่งเขาจะถอนรากของความทุกข์ได้ นี่ไม่ใช่การสวดอ้อนวอน แต่เป็นการปฏิบัติภาวนา

                เมื่อคณะนักบวชสวดมนต์เอ่ยนามพระโพธิสัตว์แห่งการรับฟังอันลึกซึ้ง ในรอบแรก เขาพยายามรับฟังและสัมผัสความทุกข์ที่อยู่ภายในตนเอง ความทุกข์ที่มาจากพ่อ แม่ บรรพบุรุษ พี่น้องทั้งหลาย เมื่อสัมผัสความทุกข์เหล่านั้นได้ ความทุกข์ในตัวเขาก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงแล้วความกรุณาก็จะบังเกิดขึ้น ความกรุณานี้จะเยียวยาตัวเขาและเยียวยาโลก

                การสวดมนต์ในรอบที่สอง เขารับรู้ความทุกข์ของคนอื่นๆ กลุ่มอื่นๆ ที่อยู่รายรอบ เขาสวดมนต์เพื่อช่วยสร้างพลังสติเพื่อโอบอุ้มความทุกข์เหล่านั้น เมื่อได้เห็นความทุกข์ในคนอื่น กลุ่มอื่นๆ เข้าใจในความทุกข์ที่มีอยู่ในคนเหล่านั้น เขาก็จะไม่โกรธคนผู้นั้นคนกลุ่มนั้นอีกต่อไป ความกรุณาได้เกิดขึ้นแล้วในหัวใจ เมื่อนั้นก็จะมองคนเหล่านั้น คนกลุ่มนั้นได้ และเมื่อเธอมองพวกเขาเหล่านั้นด้วยสายตาเช่นนี้ เธอจะไม่ทุกข์อีกต่อไป และด้วยการมองเช่นนี้ บุคคลผู้นั้นก็จะรู้สึกดีขึ้นด้วยเช่นกัน ความเข้าใจในความทุกข์จึงก่อเป็นความกรุณาได้เช่นนี้ เยียวยาได้เช่นนี้

                การฝึกปฏิบัตินั้นเรียบง่ายมาก เพียงตามลมหายใจเข้าและออก ดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ หายใจเข้า ฉันตระหนักรู้ในร่างกายของฉัน การหายใจเข้าอาจจะใช้เวลาสัก ๒-๓ วินาที ทำให้เราตระหนักรู้ในร่างกาย เธอรู้ว่าเธอมีร่างกายอยู่ และเธอรู้ว่ามีความตึงเครียด ความเจ็บปวดอยู่ในร่างกาย เมื่อหายใจออกเธอเตือนร่างกายให้ปล่อยความตึงในร่างกายเหล่านั้นออกไป ผ่อนคลาย

  หายใจเข้า ตระหนักรู้ความตึงเครียดในร่างกายนี้

 หายใจออก ผ่อนคลายร่างกาย

  เมื่อเธอทำเช่นนี้สัก ๒-๓ นาที เธอจะรู้สึกดีขึ้นในทันที

เมื่อคณะนักบวชสวดมนต์ สร้างพลังสติขึ้นมา พร้อมกันนั้นพลังแห่งความกรุณาก็เกิดขึ้นด้วย พลังสติและความกรุณาที่สะสมร่วมกันของทุกๆ คนในนี้จะช่วยโอบอุ้มความทุกข์ ความตึงเครียดต่างๆ ในตัวของพวกเราให้ลดลงและเธอก็จะรู้สึกดีขึ้นในไม่กี่นาทีหลังจากรับฟังเสียงสวดมนต์

หากเธอมีบางอย่างในหัวใจ อาจเป็นบาดแผล ความทุกข์ ความกลัว ความเศร้าโศก สิ้นหวัง นี่คือเวลาที่เราจะบอกกับตัวเองให้เปิดหัวใจรับพลังแห่งสติ พลังแห่งความกรุณาให้ได้โอบอุ้มเยียวยาความรู้สึกเหล่านั้น และถ้าเรามีใครบางคนที่ใกล้ชิดและรู้ว่าเขากำลังมีความทุกข์ ไม่ค่อยสบาย และเขาไม่ได้อยู่ที่นี่ เราสามารถส่งพลังนี้ไปให้เขาที่บ้าน เขาจะได้รับพลังนี้และรู้สึกดีขึ้นเช่นกัน

ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ตามลมหายใจ รับรู้ความทุกข์ด้านในของตัวเรา ปล่อยให้พลังสติและความกรุณาร่วมที่เกิดขึ้นเข้าไปโอบอุ้ม โอบกอด เธอจะรู้สึกดีขึ้นในทันที


ที่มา :

ปาฐกถาธรรม เส้นทางผู้นำกับการสรรค์สร้างความกรุณาและกล้าหาญ

๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ หอประชุมภูมิพลสังคีต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

www.thaiplumvillage.org

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

10 คำสอนให้ข้อคิด โดยท่าน ติช นัท ฮันห์

ความ(ไม่)กลัว ที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังความเบิกบาน โดย ติช นัท ฮันห์

บทฝึกหัดการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ โดยหลวงปู่ติช นัท ฮันห์

“วิ่งไล่ตามก้อนเมฆ” นิทานของผู้ใหญ่ แต่งโดยหลวงปู่ ติชนัทฮันห์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.