วัดราชโอรสาราม

วัดราชโอรสาราม ต้นแบบแห่งศิลปกรรมอันสง่างามระหว่างไทยและจีน

วัดราชโอรสาราม ต้นแบบแห่งศิลปกรรมอันสง่างามระหว่างไทยและจีน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) นับเป็นหนึ่งในยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามไว้เป็นจำนวนมากแต่ไม่มีวัดใดสง่างามเสมอ วัดราชโอรสาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระองค์

วัดราชโอรสาราม มีนามเต็มว่า วัดราชโอรสารามราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดจอมทองเป็นวัดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยากระทั่งเดือน 11 ปีมะโรง พ.ศ. 2363 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีข่าวว่าพม่าจะยกเข้ามาตีสยามรัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระอิสริยยศของรัชกาลที่ 3 ในขณะนั้น) เป็นแม่ทัพคุมกำลังพลไปสกัดกั้นพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จยาตราทัพโดยเรือผ่านมาทางคลองบางกอกใหญ่ และประทับแรมที่หน้าวัดจอมทอง ทรงประกอบพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม ครั้งนั้นพระองค์ทรงอธิษฐานขอให้การเสด็จไปราชการทัพคราวนี้ประสบความสำเร็จ เสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ

พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) เจ้าอาวาส วัดราชโอรสาราม กล่าวว่า “เมื่อพิธีเสร็จสิ้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จไปทรงพบเจ้าอาวาสวัดจอมทองเจ้าอาวาสถวายคำพยากรณ์ว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาโดยปลอดภัย พระองค์จึงมีพระดำรัสว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงจะกลับมาสร้างวัดถวายให้ใหม่ ครั้นพระองค์เสด็จไปถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ ทรงตั้งทัพอยู่นานจนถึงฤดูฝนก็ยังไม่มีวี่แววว่าพม่าจะยกทัพมา รัชกาลที่ 2จึงโปรดเกล้าฯให้เลิกทัพและยกทัพกลับพระนคร เมื่อพระองค์เสด็จถึงพระนครจึงทรงสร้างวัดจอมทองใหม่ทั้งหมดตามพระดำรัส ทั้งยังเสด็จมาประทับคุมงานและทรงตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เองโดยตลอด ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 11 ปีเต็มและรัชกาลที่ 2 พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชโอรส หมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา และนับว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3”

การสร้างวัดครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากพระองค์ทรงติดต่อค้าขายกับประเทศจีนสม่ำเสมอจึงโปรดศิลปะแบบจีนเป็นพิเศษ เมื่อครั้งสถาปนาวัดแห่งนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำศิลปกรรมแบบจีนมาผสมผสานกับศิลปกรรมแบบไทยโดย วัดราชโอรสาราม แห่งนี้เป็นวัดแรกที่พระอุโบสถไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์รวมทั้งใช้กระเบื้องเคลือบจากจีนเป็นเครื่องตกแต่ง

การประยุกต์ศิลปกรรมในครั้งนี้เป็นการสร้างสรรค์ได้อย่างกลมกลืนและงดงามหาที่ติมิได้ ดังเช่นที่นายจอห์น ครอว์เฟิร์ด ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 2 เขียนบันทึกยกย่องวัดแห่งนี้ไว้ว่า “เป็นวัดที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดของบางกอก” พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปเดี่ยวไม่มีพระพุทธรูปอื่นหรืออัครสาวกประดิษฐานอยู่ด้วย แสดงถึงความสงบเงียบขณะปฏิบัติสมาธิ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามไว้ว่า “พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร” ภายใต้ฐานประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 3 และมีตราโลหะปิดทองเครื่องหมายรูปปราสาทซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลปิดไว้

พระมหาโพธิวงศาจารย์กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเผยแผ่ธรรมของ วัดราชโอรสาราม ว่า วัดเปิดให้ปฏิบัติธรรมมานานนับสิบปีเริ่มแรกมุ่งหวังเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กนักเรียนโรงเรียน วัดราชโอรสาราม เป็นหลักจากนั้นจึงขยายสู่โรงเรียนอื่น ๆ หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนต่าง ๆ

“จริง ๆ แล้วจุดประสงค์ของการสร้างวัดในประเทศไทยคือเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งบ่มเพาะคุณธรรม ความดีความงาม วัดเป็นสถานที่ที่ทุกคนร่วมกันสร้างทุกคนเป็นเจ้าของ และที่สำคัญทุกคนต้องร่วมกันดูแล วัดไม่ได้เป็นสมบัติของเจ้าอาวาสหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสมบัติของชาวพุทธโดยทั่วไป การที่วัดเสื่อมโทรมลงก็เป็นเพราะทุกคนเข้าใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของไม่ทำนุบำรุงและดูแล หรือบางคนเข้าใจคำว่าเป็นเจ้าของผิด เข้าไปรุกล้ำ จับจอง พักอาศัยจนลิดรอนสิทธิ์ของคนอื่น ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเข้าใจจุดนี้และหันมาร่วมทำหน้าที่ของชาวพุทธ บำรุงวัด บำรุงศาสนาให้ถูกให้ควร”

วัดราชโอรสาราม เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมอันงดงามที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธา ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของคนไทยที่ควรรักษาและทำนุบำรุงสมบัติอันทรงคุณค่านี้ให้อยู่คู่ประเทศสืบไป

ครั้งที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ประทับคุมงานก่อสร้างวัด เล่ากันว่าพระองค์มักประทับอยู่ใต้ต้นพิกุลใหญ่ข้างพระอุโบสถ ซึ่งพระองค์เคยมีรับสั่งว่า “ถ้าฉันตายแล้ว ฉันจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้”ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เคารพและเดินทางมาสักการะพระแท่นอยู่เป็นประจำเมื่อต้นพิกุลเดิมตายลง วัดก็นำเมล็ดของต้นเดิมมาปลูกใหม่ให้เจริญงอกงามดังเดิม


วัดราชโอรสารามราชวรมหาวิหาร เลขที่ 258 ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150


เรื่อง Pitchaya ภาพ วรวุฒิ วิชาธร

บทความที่น่าสนใจ

วัดกำแพงแลง โบราณสถานเปี่ยมศรัทธา เมืองเพชรบุรี

วัดราชาธิวาส วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา

วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ธรรมะ ธรรมชาติ และความเรียบง่าย

ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วัดพระแท่นศิลาอาสน์แห่งเมืองลับแล

คลินิกฟอกไต วัดสุทธาราม – วัดแห่งนี้ไม่ได้เยียวยาเพียงจิตใจ

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.