กินยังไงให้ดี

กินยังไงให้ดี ตามวิถีชาวพุทธ – นิตยสาร Secret

กินยังไงให้ดี ตามวิถีชาวพุทธ – นิตยสาร Secret

พระพุทธศาสนากับการกิน มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งคือไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาระบบในร่างกายยังส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจได้ด้วย – กินยังไงให้ดี ตามวิถีชาวพุทธ

กินแบบมีสติ

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า  ชาวพุทธควรมีสติทุกอิริยาบถ  ตั้งแต่นั่ง  ยืน  เดินนอน  หรือแม้กระทั่งขณะกิน        ไบรอัน  เชลลีย์ (Brian Shelley)  ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลสุขภาพเฟิร์สต์ช้อยส์(First Choice Community Healthcare)ในรัฐนิวเม็กซิโก  ประเทศสหรัฐอเมริกานำวิธีกินอาหารอย่างมีสติมาสอนในศูนย์ดูแลสุขภาพ  เขากล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่าการกินอย่างมีสติไม่ใช่การกินที่มัวระวังเรื่องแคลอรีหรือมุ่งไปที่รสชาติอาหาร  แต่คือการมีสติรู้ตัวว่ากำลังกินอาหาร  ซึ่งช่วยให้ตระหนักรู้ว่า  ปริมาณอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างแท้จริงนั้นไม่มากเท่าตอนที่เรารีบร้อนกินด้วยความอยาก การฝึกกินช้า ๆ เพียงวันละ10 นาที  ช่วยเสริมศักยภาพของร่างกายในการจับสัญญาณความอิ่มแบบพอดี ๆ ได้

แนวคิดนี้คล้ายกับ เมเกรตต์  เฟลตเชอร์(Megrette Fletcher)  ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์การกินอย่างมีสติ (The Center forMindful Eating) ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เล่าว่า  คนเราอาจชอบกินขนมหวานเป็นชีวิตจิตใจ  แต่ไม่ใช่ว่าต้องกินขนมหวานทุกครั้งที่เห็น  เมื่อไหร่ที่มีสติ เราสามารถเลือกได้ว่าจะกินหรือไม่กินไม่ใช่กินเพราะเป็นการตอบสนองโดยอัตโนมัติของร่างกาย

มิเชลล์  เมย์ (Michelle May)  ผู้ริเริ่มกิจกรรม “ฉันหิวจริงหรือ” (Am I Hungry?)กิจกรรมเวิร์คชอปเพื่อการกินอย่างมีสติ(Mindful Eating Program) ของศูนย์การกินอย่างมีสติ  แนะนำวิธีการกินอย่างมีสติง่าย ๆ เอาไว้ว่า  ลำดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่า  “ฉันจะกินไปทำไม”  กินเพราะหิวอยาก เหนื่อย  หรือเครียด  จากนั้นเมื่อรู้สึกหิวหรืออยากกินให้ถามตัวเองว่า “ฉันจะกินเมื่อไร”  แล้วถามตัวเองต่อไปว่า “ฉันจะกินอะไร”  กินอาหารที่มีคุณค่า  อาหารอร่อยหรืออาหารที่กินสะดวก  จากนั้นถามต่อว่า“ฉันจะกินอย่างไร”  กินอย่างเร่งรีบ  กินไปคุยกับเพื่อนไป  หรือค่อย ๆ กินอย่างมีสติแล้วถามว่า  “ฉันจะกินมากเท่าไร” ชิ้นเดียวหมดทั้งโหล หรือตามความอิ่ม  สุดท้าย

ให้ถามว่า “พลังงานของอาหารที่กินจะไปอยู่ที่ไหน”  เราจะใช้พลังงานขณะทำงานหรือออกกำลังกายหมดหรือไม่

เมื่อถามตัวเองได้อย่างนี้ทุกครั้ง  จะทำให้เรามีสติรู้ตัวมากขึ้นว่ากำลังทำอะไรและช่วยปรับพฤติกรรมการกินไม่ให้ไหลไปตามความอยากเหมือนเช่นเคย

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น  นิโคลัสนอแมน (Nicholas Nauman)  พ่อครัวชาวอเมริกันที่เคยไปเยือนวัดในประเทศอินเดียเขาสังเกตว่าพระสงฆ์ที่นั่นฉันอาหารเช้าอย่างสงบและมีสติ  ความศรัทธาต่อวิถีการกินของพระสงฆ์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “วันกินเงียบ”ในร้านอาหารออร์แกนิกชื่อ “อีท” (Eat) ที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

นิโคลัสจัดวันกินอาหารในความเงียบเดือนละครั้ง  โดยตั้งกฎห้ามลูกค้า  พ่อครัวบริกร และพนักงานทุกคนในร้านพูดคุยกันในช่วงเวลา 90 นาทีของการกินอาหาร  รวมทั้งต้องปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ลูกค้ามีสติมากที่สุดขณะกำลังละเลียดอาหารตามแบบพระสงฆ์ในอินเดีย  ชาวนิวยอร์กตอบรับแนวความคิดนี้ดีเกินคาด  ถึงขนาดต้องจองโต๊ะล่วงหน้าหลายวัน  จนในที่สุดเจ้าของร้านต้องจัดสัปดาห์ละครั้ง   สิ่งสำคัญที่สุดคือสติที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นขณะกินอาหารสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่การใช้ชีวิตได้อย่างที่เราไม่รู้ตัว

รู้หรือไม่  ในสมัยพุทธกาล  พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระวรกายอ้วนท้วนมาก  เพราะเสวยพระกระยาหารมากเกินไป วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า  “บุคคลผู้มีสติอยู่เสมอ  รู้ประมาณในอาหารที่ได้มา  จะมีเวทนาเบาบาง  แก่ช้ามีอายุยืนนาน” (สุตตันตปิฎก  เล่ม 7  สังยุตตนิกาย  สคาถวรรค  ข้อ 365  หน้า 116) พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงให้พระราชนัดดาของพระองค์คอยว่าคาถานี้ทุกครั้งที่พระองค์กำลังจะเสวยพระกระยาหาร ผลปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสามารถลดน้ำหนักได้สำเร็จในที่สุด

กินแบบละกิเลส

หลายคนกินอาหารมังสวิรัติเพราะเชื่อว่าเป็นวิธีการสร้างบุญกุศล  เพราะไม่ได้กระทำปาณาติบาต  แต่แท้จริงแล้วประโยชน์ของการกินอาหารมังสวิรัติมีมากกว่านั้น   ที่ประเทศญี่ปุ่นมีรูปแบบการกินอาหารมังสวิรัติตามต้นตำรับดั้งเดิมของวัดญี่ปุ่นที่เรียกว่า  โชจิน  เรียวริ (Shojin Ryori)  หรืออาหารมังสวิรัติแบบเซ็นที่พระสงฆ์เป็นผู้ปรุงด้วยตัวเอง  ซึ่งแตกต่างจากอาหารมังสวิรัติที่คนไทยคุ้นเคยตรงที่อาหารเหล่านี้เป็นอาหารเฉพาะสำหรับพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมในวัดญี่ปุ่น  ที่มีกระบวนการปรุงอย่างพิถีพิถันและมีปรัชญาธรรมซุกซ่อนอยู่ด้วย

โชจิน  เรียวริ คืออาหารที่ไม่เน้นรสชาติหรือความอร่อย  เพื่อฝึกการละกิเลส  ลดความยินดีต่อรูปและรสที่ปรุงแต่งขึ้นมา  การปรุงยึดหลักการโกชิกิโกโฮโกมิ (Goshiki Goho Gomi)หรือการเลือกใช้วัตถุดิบ 5 สี  ได้แก่  แดง  ขาว  ดำ  เหลือง และเขียว  จำพวกพืช  ผัก  ถั่วและสาหร่าย  เพื่อให้ได้คุณค่าสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ  แต่ละมื้อต้องมีทั้งอาหารสดและอาหารที่ปรุงด้วยการย่าง  ตุ๋น  ทอด  นึ่ง  และมีรสชาติ 5 รสชาติ ได้แก่  เค็ม  หวานเปรี้ยว  ขม และเผ็ด  กระบวนการเหล่านี้ช่วยให้พระสงฆ์ได้ฝึกสมาธิ  ความอดทน และพิจารณาส่วนประกอบของอาหารไปด้วยในตัว

เมื่ออาหารสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องปรนนิบัติทางร่างกายและจิตใจ  คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครคนหนึ่งจะเข้าถึงธรรมได้บนโต๊ะอาหาร

กินแบบตระหนักรู้

เดิม องค์ทะไลลามะ ไม่ฉันมังสวิรัติท่านตัดสินใจเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหารมาเป็นแบบมังสวิรัติเมื่ออายุ 70 พรรษาเพราะไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของแม่ไก่ในฟาร์มเลี้ยงที่ไม่ได้มาตรฐานแห่งหนึ่ง  ต่อมาไม่นานท่านอาพาธ  แพทย์จึงแนะนำให้ท่านกลับไปฉันอาหารเช่นเดิม  ถึงอย่างนั้นองค์ทะไลลามะก็ได้รณรงค์แนวคิดเรื่องมังสวิรัติให้ผู้คนในอินเดียรับรู้เรื่อยมา  เพราะเห็นว่าการกินมังสวิรัติเป็นการเคารพทุกสรรพสิ่งมีชีวิตบนโลก  ไม่ต้องเบียดเบียนหรือทรมานสัตว์ใด ๆ  สอดคล้องกับแนวทางของพุทธ-ศาสนาเรื่องความเมตตาและอหิงสาหรือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

จนเมื่อปี 2548  องค์ทะไลลามะหันมาฉันอาหารมังสวิรัติอีกครั้ง  คราวนี้ไม่มีแพทย์ท่านใดขัดขวางอีกแล้ว  เพราะปัจจุบันแพทย์ชาวทิเบตตระหนักถึงประโยชน์ของอาหารมังสวิรัติเพิ่มมากขึ้น  รวมไปถึง เท็นซินเซฟาล (Tenzin Tsephal)  ผู้อำนวยการการแพทย์ทิเบต  ซึ่งกล่าวว่า  การที่แพทย์สั่งให้คนไข้กินเนื้อสัตว์เป็นความคิดล้าสมัยไปแล้ว  จึงไม่มีความจำเป็นที่องค์ทะไลลามะต้องฉันเนื้อสัตว์แต่อย่างใด

เมื่อการกินอาหารมีความสัมพันธ์กับทุกชีวิตในสังคมเช่นนี้  จึงอาจกล่าวได้ว่าการกินอาหารไม่ใช่เพียงแค่การบำบัดทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้น  แต่ยังเป็นการบ่มเพาะจิตใจเราและสร้างสังคมให้ดีขึ้นได้ด้วย

รู้หรือไม่  พระทิเบตส่วนใหญ่ต่างจากพระจีนและชาวพุทธที่นับถือพระแม่กวนอิม  ตรงที่ท่านไม่ได้ละเว้นการฉันเนื้อ  แต่มักหลีกเลี่ยงการฉันอาหารทะเล  เพราะเชื่อว่าชีวิตเล็กๆ ของสัตว์ทะเลไม่สามารถทำให้อิ่มท้องได้  ทำให้ต้องเบียดเบียนสัตว์เป็นจำนวนมาก ต่างจากสัตว์ใหญ่อย่างจามรีหนึ่งตัวที่เลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน


เรื่องจาก : นิตยสาร Secret คอลัมน์ open eyes open mind


บทความที่น่าสนใจ

ความประมาท 5 ประการที่ชาวพุทธควรหลีกเลี่ยง บทความดีๆ จากท่าน ว.วชิรเมธี

เคล็ดลับอยู่ร่วมกับคนอื่นแบบเป็นสุข 6 หลักธรรมที่ชาวพุทธควรรู้

“ การสร้างกรรมดี ” กับ “ การชดใช้กรรม ” ความต่างที่ชาวพุทธมักแยกไม่ออก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.