อันซะกิ ผู้บริหารความตาย

อันซะกิ – ผู้บริหารความตาย

อันซะกิ ผู้บริหารความตาย  ขอใช้ช่วงเวลาเหลืออยู่ ให้ดีที่สุด 

อันซะกิ วัย 80 ปี อดีตประธานบริษัทเครื่องจักรโคมัตสุของญี่ปุ่น เชิญแขกมาร่วมงานถึงกว่า 1,000 คน ซึ่งมีทั้งบรรดาเพื่อนฝูงคนสนิทในปัจจุบัน เพื่อนเก่าร่วมชั้นเรียนในวัยเด็ก คู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ รวมทั้งบรรดาพนักงานบริษัทในสังกัดด้วย

และเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แพทย์แจ้งกับนายอันซะกิว่า ตรวจพบมะเร็งถุงน้ำดีระยะสุดท้าย ทำให้เขาตัดสินใจไม่รับการรักษาซึ่งจะมีผลข้างเคียงรุนแรงเพราะ “ต้องการให้ตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่”

ในการแถลงข่าวหลังงานเลี้ยง “ปิดฉากชีวิต” จบลง นายอันซะกิบอกว่า “ผมพอใจแล้วที่ได้กล่าวคำขอบคุณต่อเหล่าผู้คนที่ได้พบในชั่วชีวิตนี้   ผมมีความสุขกับชีวิตมากจริง ๆ ผมว่าความหดหู่สิ้นหวังไม่ใช่นิสัยของผม” นายอันซะกิกล่าว

หากมองในทางพระพุทธศาสนา ท่าน ว. วชิรเมธี ได้กล่าวไว้ว่า จะเรียกว่าเป็นการการฝึกเจริญมรณานุสติ  หรือ “การระลึกถึงความตาย” มรณานุสติอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “มรณัสสติ” ก็ได้ แปลว่า “การระลึกถึงความตาย” เหมือนกัน

ทำไมต้องระลึกถึงความตาย

เพราะความตายเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลาเมื่อระลึกว่าตนจะต้องตายในวันใดวันหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความไม่ประมาทหันกลับมาดำรงชีวิตอย่างมีสติ คนที่มักมากชอบสะสมสมบัติพัสถานกองเป็นภูเขาเลากาก็จะได้ตื่นขึ้นมาฉุกคิดว่า “เมื่อตายไป  ทรัพย์สักนิดก็หาติดตามไปได้ไม่” คนที่คิดได้อย่างนี้ก็จะปล่อยลงปลงได้ สะสมแต่เฉพาะสิ่งที่เป็นแก่นสารต่อการดำรงชีวิตจริง ๆ

คนส่วนใหญ่ไม่อยากระลึกถึงความตายเพราะถือกันว่า ความตายเป็นเรื่องอัปมงคล ใครพูดเรื่องความตายขึ้นมา ก็มักจะถูกมองด้วยหางตาว่า ไม่รู้กาลเทศะ ไม่รู้อะไรควรไม่ควร ผลของการพยายามหลบเลี่ยงความตายดังกล่าวมานี้ จึงเมื่อวันหนึ่ง ตัวเองหรือคนใกล้ตัวกำลังเผชิญความตายขึ้นมาจริง ๆ จึงไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันได้อย่างไร

การที่พระพุทธองค์ทรงถือว่าการเจริญมรณัสสติ เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญสติ อีกรูปแบบหนึ่งนั้น ก็เพราะทรงมีพุทธประสงค์ให้คนส่วนใหญ่ “หายมัวเมาในชีวิต” เพราะในโลกนี้มีคนจำนวนมากใช้ชีวิตดังหนึ่งตัวเองจะไม่แก่ ไม่ตาย กิน ดื่ม เสพเที่ยว หลับ นอน อหังการ บ้ายศ ทรัพย์อำนาจ ลืมตัว ลืมตน จนหลงลืมกุศลผลบุญ หลงลืมสัจธรรมของชีวิต

คนที่เจริญมรณัสสติอยู่เสมอนั้น จะได้รับผลทันตา คือ ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อความตาย จะหันกลับมาใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่า ไม่มีแม้สักวินาทีเดียวที่เขาจะพร่าผลาญเวลาไปอย่างไร้ประโยชน์ เขาจะถือว่าการฆ่าเวลาไปกับกิจกรรมอันไร้แก่นสาร  ในแง่พฤติกรรมระหว่างวัน คนที่หมั่นเจริญมรณัสสติ ก็จะเลือกสรรทำแต่พฤติกรรมเชิงคุณภาพล้วน ๆ

พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราหมั่นระลึกถึงความตาย ไม่ใช่เพื่อจะให้กลัวตายแต่เพื่อที่จะให้เรารู้จักที่จะดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างดีที่สุดหัวใจของการดำรงชีวิตอยู่อย่างดีที่สุดก็คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทไม่ประมาทในอะไรเล่า…

1. ไม่ประมาทในชีวิต           ว่าจะยืนยาว

2. ไม่ประมาทในวัย             ว่ายังหนุ่มสาว

3. ไม่ประมาทในสุขภาพ       ว่ายังแข็งแรง

4. ไม่ประมาทเวลา             ว่ายังมีอีกมาก

5. ไม่ประมาทในธรรม          ว่าเอาไว้ก่อน

วันหลังค่อยสนใจ

ข้อมูลจาก : บีบีซีไทย, นิตยสารSecret 

ภาพจาก : บีบีซีไทย

บทความที่น่าสนใจ

การระลึกถึงความตาย (มรณานุสติภาวนา) ท่าน ว.วชิรเมธี

รู้เท่าทันความตาย มีสติไม่หลงตาย

โบวี่ อัฐมา ไม่กลัวความตายแต่กลัวการเกิด

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.