เวลาสวดมนต์มักคิดฟุ้งซ่าน

Dhamma Daily : เวลาสวดมนต์มักคิดฟุ้งซ่าน อย่างนี้จะได้อานิสงส์จากการสวดมนต์หรือเปล่า

เวลาสวดมนต์มักคิดฟุ้งซ่าน จะได้อานิสงส์จากการสวดมนต์ ไหม

ถาม : เวลาสวดมนต์มักคิดฟุ้งซ่าน เราจะได้ อานิสงส์จากการสวดมนต์ ไหมคะ พยายามไม่คิด แต่ใจมันก็เผลอไปเรื่อยเพราะกำลังทุกข์มาก ยิ่งนั่งสมาธิยิ่งฟุ้งซ่านค่ะ พยายามอ่านวิธีการเจริญภาวนา ทำตามแต่ก็ไม่สำเร็จ จนรู้สึกท้อแล้ว

พระมหา ดร.ธนาธิป มหาธมฺมรกฺขิโต ตอบปัญหานี้ไว้ว่า

ตอบ : การที่ท่านสวดมนต์แบบไม่มีสมาธิ มีจิตซัดส่าย ท่านจะได้อานิสงส์น้อย และได้ผลทางอ้อม กล่าวคือ ท่านแค่ได้สวดเพื่อคล่องปากเท่านั้น แต่ไม่ได้อานิสงส์โดยตรงคือการที่จิตเป็นสมาธินั่นเอง เนื่องจากท่านกำลังทุกข์ จิตย่อมไม่เป็นสมาธิ ถ้าต้องการสวดมนต์เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายความทุกข์ ท่านต้องไม่ปล่อยให้จิตเผลอ มิเช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยถ้าท่านทุกข์ ท่านก็ควรพิจารณาให้เห็นความทุกข์ของตัวเองเสียก่อน โดยการตั้งสมมติฐานว่า ความทุกข์ของเรานั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมต้องทุกข์ หาสาเหตุให้เจอแล้วไปแก้ที่ต้นเหตุนั้น ๆ จะดีกว่า

ทั้งนี้ควรทราบว่า จุดประสงค์หลัก ๆ ของการสวดมนต์นั้นมี 3 ประการด้วยกัน คือ

1.สวดมนต์เพื่อต้องการให้จิตเป็นสมาธิ หมายถึง เมื่อเราเปล่งวาจาสาธยายบทสวดมนต์แต่ละครั้ง สิ่งหนึ่งที่เราจะได้รับประโยชน์โดยตรงคือการมีสติ มีใจจดจ่อ ย่อมส่งผลให้จิตเกิดสมาธิ จิตมีความแน่วแน่ มีความนิ่ง สงบและเป็นสุข จิตจะอิ่มเอิบ เรียกว่า สติได้ทำหน้าที่ สมาธิได้ทำงาน ปัญญาได้ความรู้แจ้ง ทั้ง 3 ส่วนได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ จึงได้ชื่อว่าได้อานิสงส์จากการสวดมนต์โดยตรง

2.สวดมนต์เพื่อต้องการจดจำพระพุทธพจน์ เป็นประโยชน์แก่การเข้าใจ จดจำง่าย และสามารถนำไปแนะนำหรือสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ การสวดมนต์ได้ชื่อว่าเป็นหัวใจหลักของการทำให้คำสอนในพระพุทธศาสนาไม่เสื่อมไม่คลาดเคลื่อน หรือถูกทำให้เลอะเลือนได้ง่าย เพราะยังมีคนสามารถรู้ เข้าใจ และขยายผลได้ต่อเนื่องด้วยนั่นเองถือเป็นองค์ความรู้ชนิดหนึ่งได้เช่นกัน ดังนั้น การมีความรู้จำต้องเกิดประโยชน์แก่คนทั้ง 2 ฝ่าย คือ เกิดประโยชน์แก่ผู้รู้ และแก่ผู้อื่น ความรู้นั้นจึงจะมีค่า มีราคา และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

3.สวดมนต์เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา การสวดมนต์นั้นช่วยขยายคำสอนของพระพุทธเจ้าจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ขาดสาย เมื่อคำสอนถ่ายทอดผ่านการจดจำจากผู้คนมากมายจะเกิดประโยชน์ด้วยการนำเอาคำสอนเหล่านั้นมาปฏิบัติตามด้วย ย่อมเป็นอานิสงส์และผลดีแก่ชีวิตของผู้ปฏิบัติโดยตรง ผู้ปฏิบัติจึงได้ชื่อว่าต่ออายุพระพุทธศาสนา

อีกประการหนึ่ง ท่านผู้ถามประสบปัญหาว่า ยิ่งนั่งสมาธิ ยิ่งฟุ้งซ่าน นั่นก็เพราะว่าท่านกำลังจัดการบริหารในการปฏิบัติจิตภาวนาไม่ถูกต้อง ถ้าปฏิบัติถูกต้องจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จึงขอแนะนำท่านให้ไปเริ่มต้นเรียนจากครูสอนกรรมฐาน หรือพระวิปัสสนาจารย์โดยตรงก่อน ความฟุ้งซ่านจะถูกแก้ไขให้ผ่อนคลายลงได้


หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)


บทความที่น่าสนใจ

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ปฏิบัติธรรมจน นิสัยเปลี่ยนไป ทำอย่างไรดี

เทวดากับการสวดมนต์ เรื่องเล่าถึงเทวดาของ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

Dhamma Daily : นั่งสมาธิแล้วจิตคิดฟุ้งซ่าน ควรทำอย่างไรดี

ปาฏิหาริย์จากการสวดมนต์ เติมเต็มความสุขของลมหายใจสุดท้าย

สวดมนต์ในใจกับการ สวดมนต์ออกเสียง แบบไหนได้บุญมากว่ากัน

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.