มิตร ร้าย มิตร รัก

มิตรร้าย มิตรรัก

มิตรร้าย มิตรรัก

มิตรร้าย มิตรรัก

เราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตาในสังคม บางคนแม้เราไม่เลือกคบเป็น มิตร แต่ก็ต้องพบเจอกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะที่บ้านที่ทำงาน พบกันทีไรก็มักทำให้เราร้อนหูร้อนตา และร้อนใจ จากคำพูดที่ใส่ร้าย-ป้ายสี  แสดงกิริยาที่ก้าวร้าว มีใจอิจฉาริษยา  บางคนต่อหน้าทำพูดดี ลับหลังกลับนินทาว่าร้าย เข้าทำนอง“ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ”  มิตรที่กล่าวมาข้างต้นจัดว่าเป็น คนพาลหรือเป็น มิตรร้าย

มิตร ที่ดี ควรเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีเป็นคนมีศีล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัวไม่เอารัดเอาเปรียบเรา พึ่งพาอาศัยกันได้แม้ยามมีทุกข์มีภัยก็ไม่ทอดทิ้ง ให้กำลังใจเรายามเราหลงระเริงมีความประมาทก็คอยเตือนสติด้วยความหวังดี นอกจากนี้ยังชักชวนเราไปในทางที่ดี   หากแต่ยังมี มิตรทั้งสองประเภทนี้แนบสนิทชิดใกล้เราตลอดเวลา คือ อยู่ในใจของเรา นั่นเอง

นั่นหมายถึงว่าในใจของเรามีทั้งชั่ว (มิตร ร้าย) และดี (มิตร รัก) อยู่ร่วมกัน ฝ่ายชั่วก็คือกิเลสซึ่งจะคอยชักนำเราไปในทางที่ไม่ดีมี ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นพื้นฐาน อันจะทำให้เรากระทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ส่วนฝ่ายดีก็จะชักนำเราไปในทางที่ดี เช่น ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา

กิเลสที่อยู่ในใจนั้นชักนำเราไปในทางที่ไม่ดีต่าง ๆ นานา ทำให้เราประพฤติในสิ่งที่ไม่ดีงาม เป็นโทษเป็นภัยทั้งต่อผู้อื่นและต่อตนเอง เช่นเดียวกับคนที่มาทำร้ายเราหรือมาเบียดเบียนเราด้วยประการต่าง ๆ ก็เพราะกิเลสที่อยู่ในใจของเขาสั่งให้เขาทำเช่นนั้น

แต่ มิตรร้ายที่อยู่ในใจเรานั้นจะเอาออกได้อย่างไร หรือจะเปลี่ยนให้เป็นมิตรรักได้อย่างไรมิตรรักคือมิตรที่ดี จะชักนำให้เราทำแต่สิ่งที่ดีงาม อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ทำการใด ๆ อันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น ชักนำเราทำทาน คือมีจิตเสียสละอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อผู้อื่น ด้วยความรักความเมตตา ลดความเห็นแก่ตัวลง รักษาศีล ทั้ง 5 ข้ออันจะไม่ทำการเบียดเบียนผู้อื่น และ เจริญภาวนาด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ช่วยขัดเกลากิเลสตัณหาออกจากจิตให้มีความเห็นถูก กระทำในสิ่งที่ถูก สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนไม่ทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

ด้วยเหตุนี้ ทาน ศีล และภาวนา จึงเปลี่ยน มิตรร้าย ในใจของเราให้เป็น มิตรรักเมื่อไม่มีคนพาลอยู่ในใจแล้ว ก็จะมีบัณฑิตเข้ามาแทนที่วิสัยของบัณฑิตนั้นย่อมยังประโยชน์เกื้อกูลทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เรื่องโดย : พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญโญ

คอลัมน์ you what you do นิตยสาร Secret ฉบับที่ 210

บทความที่น่าสนใจ 

11 วิธี รักษามิตรภาพให้ยาวนาน ในทุกความสัมพันธ์

กิเลส และความทุกข์ 3 ระดับ บทความดี ๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.