ผู้ถวายงาน

ร้อยอาลัยจากใจผู้ถวายงานวิจิตรศิลป์ประดับพระเมรุมาศ

ร้อยอาลัยจากใจ ผู้ถวายงาน วิจิตรศิลป์ประดับพระเมรุมาศ

ร้อยอาลัยจากใจ ผู้ถวายงาน วิจิตรศิลป์ประดับพระเมรุมาศ

เบื้องหลังความงดงามอันเกิดจากการรวบรวมศิลปะชั้นสูงทุกแขนงของไทย เต็มไปด้วยความทุ่มเทของผู้ถวายงานด้วยใจภักดิ์ และแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ผู้สถิตในหัวใจของคนไทยทุกคน

ประติมากรรมประณีตศิลป์เพื่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง

อาจารย์ประสพสุข รัตน์ใหม่ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ดูแลงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ เล่าถึงการทำงานครั้งสำคัญในชีวิตว่า

“งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนงาน ทั้งสำนักช่างสิบหมู่ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์คุณสมชาย บุญประเสริฐ ช่างปูนปั้นเมืองเพชรบุรี และอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ที่นี่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยจำนวนมาก ผมก็รับไว้ทั้งหมด เพราะรู้ว่าทุกคนมีจุดมุ่งหมายที่อยากทำงานเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เราจะสอนงานในส่วนที่เขาทำได้ เพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนงานให้สำเร็จ

 

จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม ถ่ายทอดโครงการพระราชดำริ

พระที่นั่งทรงธรรม สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศเป็นอาคารสำหรับพระมหากษัตริย์ประทับทรงธรรมและประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ประดับตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรงดงาม ส่วนหนึ่งถ่ายทอดเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริ ผู้รับผิดชอบคือ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร แม้แบ่งการทำงานกันคนละส่วนแต่ทุกส่วนต้องมาผสมผสานกลมกลืนเพื่อให้มีความงดงามสอดคล้องกัน

อาจารย์วิชัย รักชาติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตรกรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เล่าว่า วิทยาลัยเพาะช่างได้รับมอบหมายให้วาดภาพโครงการพระราชดำริในภาคเหนือและภาคอีสานอาศัยแรงกายแรงใจจากศิษย์ฝีมือดี โดยแบ่งการทำงานตามความสามารถเฉพาะทาง เช่น กลุ่มผู้ถนัดวาดภาพต้นไม้และทัศนียภาพ กลุ่มผู้ถนัดเขียนภาพอาคารสถาปัตยกรรมและกลุ่มผู้ถนัดวาดภาพบุคคล แต่ละกลุ่มเน้นการทำงานตามส่วนที่ตนถนัด แต่ต้องกลมกลืนกับโครงการพระราชดำริในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

 

 

งานจิตรกรรมฉากบังเพลิงสมพระเกียรติพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

ฉากบังเพลิงเป็นส่วนสำคัญของพระเมรุมาศ ประดับด้วยภาพจิตรกรรมที่วิจิตรงดงาม อาจารย์เกียรติศักดิ์สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร หนึ่งในผู้ดูแลงานเขียนจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง อธิบายรายละเอียดของฉากบังเพลิงว่า

“ฉากบังเพลิงเป็นเครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระเมรุมาศ มีลักษณะเป็นฉากพับได้ 8 บานติดตั้งไว้โดยรอบทั้ง 4 ทิศ ฉากแต่ละบานมีภาพทั้งด้านหน้าและหลัง ฉากด้านหน้าแต่ละบานแบ่งภาพเป็น 2 ส่วน ส่วนบนเป็นภาพวาดพระนารายณ์อวตารทั้งหมด 8 ปาง โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ในพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด เปรียบเป็นพระนารายณ์ปางที่ 9 ส่วนล่างของฉากบังเพลิงอัญเชิญเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ24 โครงการ แยกตามหมวดดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งร้อยเรื่องราวให้กับพระนารายณ์อวตารปางต่าง ๆ

“แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระองค์ก็คือมนุษย์ มนุษย์ที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ตลอดพระชนม์ชีพทรงสละเวลาของพระองค์เองเพื่อผู้อื่นแทนที่จะเอาเวลาไปหาความสุขสำราญ กลับทรงเดินตากแดดตากฝนอยู่กับชาวบ้าน ด้วยความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ พระองค์ไม่ได้ตรัสลอย ๆ ไม่ได้ตรัสให้เป็นคำไพเราะเพราะพริ้งแล้วจบไป แต่พระองค์ทรงทำมาตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์70 ปี”

ความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ไม่เว้นแม้แต่นักศึกษาและจิตอาสาที่ทุ่มเททำงานเพื่อให้เสร็จสมบูรณ์สวยงาม ทุกคนล้วนมาทำงานด้วยใจเพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และในช่วงเวลาที่ใกล้กำหนดการเช่นนี้ ทุกคนต่างทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


ข้อมูล : คอลัมน์ Special Story นิตยสาร Secret ฉบับที่ 223 (10 ต.ค. 60)

บทความน่าสนใจ

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ขั้นตอน ข้อควรรู้ ในการเข้าชม พระเมรุมาศ 2-30 พ.ย. 2560

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.