อวิโรธนะ

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ (ความหนักแน่น เที่ยงธรรม)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ (ความหนักแน่น เที่ยงธรรม)

Secret ขอน้อมนำ ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ มาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อ่านได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการครองตนเพื่อความสุขแบบพอเพียง

10. อวิโรธนะ

ความหนักแน่น เที่ยงธรรม

“การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วยเพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียวส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้วเป็นเสมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2520


อวิโรธนะ หมายถึง การวางตนเป็นหลักหนักแน่นในธรรม ไม่เอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำดี ร้าย สาธุ ลาภ สักการะใด ๆดำรงมั่นในธรรม คือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความถูกต้องดีงาม ความสุจริต ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมจากบันทึกการบรรยายปาฐกถาพิเศษของดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เรื่อง “พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอยู่ใต้กฎหมาย ทรงสอนด้านการปกครองด้วยความระมัดระวัง เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติด้านการเมือง พระองค์ทรงเตือนสติให้สงบ แต่ไม่เคยตัดสินถูกผิดให้แก่ผู้ใด

“ผมฟังมากับหูตัวเอง ทรงบอกว่าฉันต้องระวังตัว เพราะว่าอย่าลืมนะว่า ในจังหวะใดก็ตาม ยังมีรัฐบาลอยู่นั้น ฉันไม่มีหน้าที่อะไรต้องออกมา เพราะรัฐบาลนั้นเขาก็ต้องอิงกฎหมาย จะผิดจะถูกนี่ไม่ใช่ประเด็นนะ ถ้ายังมีกฎหมายอยู่ หรือมีรัฐบาลอยู่รัฐบาลก็พึงจะใช้กฎหมายดำเนินการไป ผิดถูกเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ จะให้ฉันไปสอดแทรก จะให้ไปหยุด ฉันบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งหยุดก็หาว่าฉันเข้าข้างรัฐบาล ครั้นฉันจะไปห้ามรัฐบาลให้หยุด ฉันก็จะถูกหาว่าไปเข้าข้างฝ่ายแอนตี้รัฐบาล ฉันทำไม่ได้ไม่ใช่หน้าที่ฉัน”

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวต่างประเทศไว้ตอนหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2550 ว่า “…สำหรับผม พระองค์ท่านทรงยึดตัวบทกฎหมายตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด…ตลอดระยะเวลาที่ผมทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองครั้งนั้นผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯถวายรายงาน ไม่เคยมีรับสั่งใด ๆ แม้แต่ครั้งเดียวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศ”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราโชวาทเตือนสติแก่รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไปให้ตั้งต้นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตยุติธรรมและเที่ยงธรรมอยู่เสมอ อย่าให้มีอคติความลำเอียงหรือความหวั่นไหวด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งมาครอบงำได้ ดังที่ปรากฏในหนังสือธ ร่มเกล้า ชาวสยาม ความว่า

“…การพิจารณาตัดสินอรรถคดีนั้นกระทำตามตัวบทกฎหมาย ตัวบทกฎหมายจึงสำคัญมาก และจะต้องมีบทบัญญัติอันถูกต้องเป็นธรรมปราศจากช่องโหว่…ความไม่เป็นธรรมหากจะเกิดขึ้นในการตัดสินอรรถคดี ไม่ใช่จะอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่อยู่ที่ตัวบุคคล ตราบใดที่ผู้ใช้กฎหมายมีความสุจริตมีจรรยา และมโนธรรมของนักกฎหมายมั่นคงแล้ว ก็ไม่ควรจะเกิดความผิดพลาด

 “…ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนสร้างตนให้เป็นนักกฎหมายที่ดีที่แท้โดยฝึกตนให้มีความกล้าในอาชีพของนักกฎหมาย คือกล้าที่จะปฏิบัติการตามความถูกต้องเที่ยงตรงตามกฎหมายและศีลธรรมไม่ปล่อยให้ภยาคติคือความลำเอียงไปด้วยความหวาดกลัวในอิทธิพลต่าง ๆ เข้าครอบงำสำหรับเป็นกำลังส่งให้ทำงานได้ด้วยความองอาจมั่นใจและมุมานะ…”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการที่ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อปวงชนชาวไทย และพระราชจริยวัตรที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม จึงกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็น “พระราชาผู้ทรงธรรม” โดยแท้จริงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นยิ่งกว่า “กำลังของแผ่นดิน” พระองค์นี้ จะสถิตในดวงใจประชาชนทุกคนตราบนิรันดร์

ข้อมูลจาก นิตยสาร Secret


ทศพิธราชธรรมข้อที่ 1 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ทาน)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 2 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ศีล)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 3 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ปริจจาคะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 4 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (อาชชวะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 5 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (มัททวะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ตบะ (ความเพียร)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 อักโกธะ (ความไม่โกรธ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ขันติ (ความอดทน)

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.