ทาน

10 ทศพิธราชธรรม – ธรรมที่พ่อสอน (ทาน)

10 ทศพิธราชธรรม – ธรรมที่พ่อสอน (ทาน)

Secret ขอน้อมนำ ทศพิธราชธรรม 10 ประการ (ทาน) มาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อ่านได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการครองตนเพื่อความสุขแบบพอเพียง

ทศพิธราชธรรม คือหลักธรรม 10 ประการสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ปรากฏอยู่ในพระสูตรขุททกนิกายชาดก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ อันยังผลให้ปวงชนชาวไทยมีความเป็นอยู่อย่างผาสุกเสมอมา

1. ทาน

การให้ การเสียสละ

“ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นชาวไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้คือให้ความรัก ความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกันให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์และใจจริง”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่31 ธันวาคม พ.ศ. 2545


การให้ทานแบ่งออกเป็น 2 ประการ ประกอบด้วย ธรรมทาน คือการให้ธรรมะเป็นทาน และอามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญธรรมทานอย่างมิได้ขาด โดยพระองค์จะพระราชทานพระบรมราโชวาทที่แฝงด้วยคติธรรมเป็นเครื่องเตือนใจแก่ข้าราชการและประชาชนอยู่เสมอ เช่น

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมากคนเราก็อยู่เป็นสุข”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

ส่วนอามิสทานนั้น ไม่ว่าเสด็จฯไปที่ใดจะทรงถวายทานแด่พระภิกษุ ตลอดจนพระราชทานทรัพย์และวัตถุสิ่งของจำเป็นต่าง ๆแก่พสกนิกรอยู่เสมอ กระทั่งโครงการในพระ-ราชดำริต่าง ๆ ที่ทรงริเริ่มเพื่อความผาสุกของประชาราษฎร์นั้น ในช่วงเริ่มต้นล้วนได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น


พล.ร.อ. ม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุล อดีตสมุหราชองครักษ์ ให้สัมภาษณ์ในหนังสือในหลวงของเรา ว่า

“…พระองค์ท่านไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเอาเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในตอนริเริ่มของโครงการ เพราะถ้าโครงการนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่เก็บมาจากภาษีอากรจากราษฎรเท่านั้น พระองค์ท่านจึงทรงยอมให้เสียเงินส่วนพระองค์เสียเอง  เมื่อโครงการใดประสบผลสำเร็จแล้ว และรัฐเห็นดีด้วย พระองค์ท่านจึงจะทรงมอบให้รัฐบาลไปดำเนินการต่อไป นอกจากนั้นเวลาพระองค์ท่านเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด และทรงพบผู้เจ็บป่วย ก็พระราชทานค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยเหล่านั้นอย่างทั่วถึงบางรายก็ต้องนำมารักษาพยาบาลที่กรุงเทพฯ  โดยที่พระองค์ท่านรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์…”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญทานบารมีเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงหวังเพียงให้ประชาชนของพระองค์อยู่ดีกินดีและมีความสุข ดังพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมพ.ศ. 2534 ความว่า

                “การที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้”

ข้อมูลจาก นิตยสาร Secret


ทศพิธราชธรรมข้อที่ 2 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ศีล)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 3 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ปริจจาคะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 4 10 ทศพิธราชธรรม  ธรรมที่พ่อสอน (อาชชวะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 5 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (มัททวะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ตบะ (ความเพียร)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 อักโกธะ (ความไม่โกรธ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ขันติ (ความอดทน)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ (ความหนักแน่น เที่ยงธรรม)

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.