กษัตริย์นักจิตรกรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเอก กษัตริย์นักจิตรกรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเอก กษัตริย์นักจิตรกรรม

“ความเป็นศิลปิน หมายถึง ความสามารถตามธรรมชาติที่จะเห็นความงามและคิดถึงความงาม เมื่อเกิดความคิดแล้ว ก็ต้องอาศัยวิชาความรู้หรือเทคนิค เช่น วิชาช่าง เป็นต้น จึงจะแสดงออกมาเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม หรือศิลปกรรมในลักษณะอื่นๆ ได้”

 พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2507

การที่พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าพระราชทานไว้ในหนังสือ ในหลวงกับงานช่าง ว่า

“…สมัยที่ท่านอยู่ประถมต้นที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น เขามีวิธีการสอนเด็ก ยกตัวอย่างเช่น การวาดรูปเพื่อให้เข้าใจเรื่องเส้น เรื่องฟอร์มของรูปนั้น มีแบบฝึกหัดอยู่อันหนึ่ง ครูจะวาดรูปทรงกลม ทรงรี หรือรูปต่างๆ บนกระดาษแล้วลบทิ้ง แล้วให้เด็กจำแล้ววาดตาม เริ่มจากง่ายแล้วยากขึ้นๆ ทุกที เวลายากๆ ท่านบอกว่าเพื่อนทั้งชั้นทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เพราะมีนิสัยในด้านนี้…”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษางานศิลปะด้วยพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงศึกษาจากตำราต่างๆ และเมื่อทรงสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงทอดพระเนตรถึงวิธีทำงานจนเข้าพระราชหฤทัย ไม่ว่าจะเป็นวิธีเขียนลายเส้น วิธีการผสมสี ตลอดจนเทคนิคต่างๆ  การไปทอดพระเนตรเพื่อศึกษาวิธีการของเหล่าศิลปิน เพื่อทรงนำวิธีเหล่านั้นมาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นใหม่ ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงเริ่มการเขียนภาพอย่างจริงจัง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เหล่าจิตรกรไทยเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อถวายคำแนะนำในด้านเทคนิคการเขียนภาพเท่านั้น โดยพระองค์ทรงเขียนภาพตามแนวพระราชดำริ และมักทรงมีพระราชดำรัสถามแต่เพียงว่า “พอไปได้ไหม”

สำหรับจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่พระองค์สร้างสรรค์ขึ้นนั้น แบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1.ภาพแบบเสมือนจริง ภาพเหมือนในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ สมเด็จพระราชบิดา  หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงกล่าวไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือน ซึ่งเหมือนจริงและละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่ และทรงค้นคว้าหาทางใหม่ๆ แปลกๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์ โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือน อันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ”

2.ภาพแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ พระองค์ทรงแสดงออกมาด้วยอารมณ์ ความรู้สึก  มิได้ทรงให้เกิดความสวยงามหรือถูกต้องใดๆ มีลักษณะการแสดงออกที่บริสุทธิ์ใจและจริงใจ อีกทั้งยังทรงใช้สีอย่างกล้าหาญและรุนแรง

3.ภาพเขียนแบบนามธรรม เป็นผลงานที่พระองค์ทรงพัฒนาขึ้นมาจากงานเขียนเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ และความรู้สึกอิสระ ปราศจากรูปทรงและเรื่องราว แฝงเร้นอยู่ในผลงานที่แสดงออกมาด้วยการใช้ฝีแปรงหยาบๆ สีสันที่ตัดกันกลมกลืนได้ลงตัว เช่น ภาพดินน้ำลมไฟ

ผลงานฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มเผยแพร่ให้ประชาชนได้เห็นเป็นครั้งแรก ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 14 ปี พ.ศ.2506 หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2508 มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตกรรม

กระทั่งปี พ.ศ.2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้ทรงเขียนภาพอีก เนื่องด้วยพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาประเทศมาก อย่างไรก็ตาม ภาพเขียนของพระองค์ที่ปรากฏให้เห็นและที่ไม่ได้เผยแพร่รวมแล้วกว่า 100 ภาพ ก็แสดงถึงพระปรีชาสามารถด้านจิตรกรรมอย่างแท้จริง

                พระองค์ผู้ทรงเป็นเอกกษัตริย์นักจิตรกรรม ที่สถิตอยู่ในดวงใจของชาวไทยตราบนานเท่านาน

เรื่อง: อุรัชษฎา ขุนขำ

ภาพ:http://oknation.nationtv.tv

ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสืออัครศิลปินแห่งแผ่นดินสยาม เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

สุดทึ่งผลงานเยาวชนไทย “ร้อยเรื่องราว หนึ่งภาพเล่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ของฉัน”

พระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ พระพรหมมุนี

พระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมเรื่อง มรรค ระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

สามเณรกรบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 วันนี้ ณ วัดป่ามณีกาญจน์

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรม ระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฺฒโน)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.