การปฏิบัติสมาธิ

การปฏิบัติสมาธิ มีหลายแบบหลายแนว เลือกแบบไหนถึงจะดี? พระอาจารย์มีคำตอบ

การปฏิบัติสมาธิ มีหลายแบบหลายแนว เลือกแบบไหนถึงจะดี? พระอาจารย์มีคำตอบ

ผู้อ่าน ถาม:

การปฏิบัติสมาธิ มีหลายแบบหลายแนวไม่เหมือนกันเลย สรุปแล้วจะเชื่อสำนักใดดี เพราะแต่ละสำนักก็ล้วนแต่กล่าวว่าตรงตามทางตถาคตทั้งสิ้น

ดร. พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต ตอบ:

การปฏิบัติธรรมมีหลากหลายวิธี เรียกว่า “กรรมฐาน” คือที่ตั้งแห่งใจ โดยหลัก ๆ แล้วมีการปฏิบัติอยู่ 2 ลักษณะ คือ “สมถกรรมฐาน” หมายถึง การนำใจไปไว้ในที่ตั้งเพื่อให้เกิดการหยุด นิ่ง สงบระงับ มีอารมณ์ถึง 40 ประการได้แก่ กสิณ 10 อนุสติ 10 อสุภะ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปฌาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 (ผู้ใฝ่รู้ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม) ส่วน “วิปัสสนากรรมฐาน” มีอารมณ์เพียง 2 ประการ คือ รูปกับนามพิจารณาความเกิดดับแห่งรูปนาม มีสติสัมปชัญญะในการกำหนดหลักแห่งมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 ที่ทำลายเสียซึ่งอวิชชา

การจะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยว่าถูกต้องหรือไม่นั้นมีเกณฑ์ในการตัดสิน 8 ประการ คือ

1. วิราคะ ความคลายกำหนัด ไม่ติดพัน มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจหรือการเสริมให้ติด

2. วิสังโยค ความหมดเครื่องผูกรัด ความไม่ประกอบทุกข์  มิใช่เพื่อผูกรัดหรือประกอบทุกข์

3. อปจยะ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส

4. อัปปิจฉตา ความมักน้อย มิใช่เพื่อความมักมาก

5. สันตุฏฐี ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ

6. ปวิเวก ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่

7. วิริยารัมภะ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน

8. สุภรตา ความเป็นคนเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

ดังนั้นควรพิจารณาไตร่ตรอง น้อมนำหลักการปฏิบัติให้เหมาะสมกับจริตนิสัยของตน เพื่อพัฒนาจิตให้กล้าแกร่งอาจหาญ ฮึกเหิมในการสร้างแต่กุศลกรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ล่วงพ้นจากความทุกข์ ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพันโดยประการทั้งปวง และมุ่งสู่มรรคผลนิพพาน

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.