ให้ทานอย่างไร

ให้ทานอย่างไร จึงจะได้ทำบุญอย่างสมบูรณ์

ให้ทานอย่างไร จึงจะได้ทำบุญอย่างสมบูรณ์

การทำบุญ ท่านเรียกว่า บุญกิริยา หรือเรียกยาวว่า บุญกิริยาวัตถุ โดยบุญกิริยาวัตถุมี 3 อย่าง คือ 1.ทาน การให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน 2.ศีล การประพฤติสุจริต มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เบียดเบียนกัน 3.ภาวนา ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ เจริญปัญญา แล้ว ให้ทานอย่างไร จึงจะถือได้ว่าทำบุญอย่างสมบูรณ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวถึงบุญกิริยาว่า

ทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ศีลก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ภาวนาก็เป็นบุญ อย่างหนึ่ง  โดยสูงขึ้นไปตามลำดับด้วยศีลเป็นบุญที่สูงกว่าทาน ภาวนาเป็นบุญที่สูงกว่าศีล แต่เราสามารถทำไปพร้อมกันได้ทั้ง 3 อย่าง เหตุใดจึงเรียกการถวายของแก่พระที่วัดว่าเป็นการทำบุญ แต่ให้แก่ชาวบ้านเรียกว่าเป็นทานเฉยๆ เรื่องนี้อาจจะเกิดจากการที่ว่า เวลาเราไปถวายพระที่วัด เราไม่ใช่ถวายทานอย่างเดียวเท่านั้นคือ ในเวลาที่เราไปถวายสิ่งของเครื่องไทยธรรม หรือทำอะไรที่วัดนั้น นอกจากทานแล้วเราก็รักษาศีลไปด้วย

เราต้องสำรวมกายวาจาอยู่ในระเบียบแบบแผนวัฒนธรรมประเพณี เรื่องมารยาทอากัปกิริยา และการสำรวมวาจาต่างๆ นี้เป็นศีลทั้งสิ้น และเวลานั้นเรางดเว้นความไม่สุจริตทางกายวาจา ความไม่เรียบร้อย การเบียดเบียนทุกอย่างทางกายวาจา เราละเว้นหมด เราอยู่ในกายวาจาที่ดีงาม ที่ประณีต ที่สำรวม ที่ควบคุม นี่คือเป็นศีล

ในด้านจิตใจ จะด้วยบรรยากาศของการทำก็ตาม หรือด้วยจิตใจที่เรามีความเลื่อมใสตั้งใจไปด้วยศรัทธาก็ตาม จิตใจของเราก็ดีงามด้วย เช่น มีความสงบ มีความสดชื่น เบิกบานผ่องใส มีความอิ่มใจ ตอนนี้เราก็ได้ภาวนาไปด้วย ยิ่งถ้าพระได้อธิบายให้เข้าใจในเรื่องการทำทานนั้นว่าทำเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร สัมพันธ์กับบุญหรือการปฏิบัติธรรมอื่นๆ อย่างไร ฯลฯ เรามองเห็นคุณค่าประโยชน์นั้น และมีความรู้ ความเข้าใจธรรม เข้าใจเหตุผลต่างๆ มากขึ้น เราก็ได้ปัญญาด้วย

ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ จึงกลายเป็นว่า เมื่อเราไปที่วัดนั้น แม้จะไปถวายทานอย่างเดียว แต่เราได้หมดทุกอย่าง ทานเราก็ทำ ศีลเราก็พลอยรักษา ภาวนาเราก็ได้ ทั้งภาวนาด้านจิตใจและภาวนาด้านปัญญา เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปที่วัด ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราจึงไม่ได้ถวายทานอย่างเดียว แต่เราได้มาครบ ตอนแรกเราตั้งใจไปถวายทานอย่างเดียว แต่เมื่อไปแล้วเราได้มาครบทั้งสาม ทีนี้เราจะบอกว่า เราไปถวายทานมา เราก็พูดไม่ครบ ก็เลยพูดว่าเราไปทำบุญ เพราะว่าเราได้ทั้งสามอย่าง ที่ว่ามานี้ก็เป็นเหตุให้การถวายทานอย่างเดียวกลายเป็นมีความหมายเป็นทำบุญ (ครบทั้งสามอย่าง)

เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อไป เวลาไปถวายทานที่วัด ก็ต้องทำให้ได้บุญครบทั้ง 3 อย่าง อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ทำบุญที่แท้จริง

 

ขอบคุณข้อมูลจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ติดตามอ่าน “ความสุขอยู่ที่นี่ มัวไปหากันที่ไหน” ฉบับเต็มที่ได้ที่นี่


บทความที่น่าสนใจ

ไข 7 ข้อคาใจเกี่ยวกับการทำบุญ

ยิ่งทำบุญมาก ก็ยิ่งรวยมากจริงไหม? พระไพศาล มีคำตอบ

จัดบ้าน อย่างไรให้ได้ฝึกใจไปพร้อมทำบุญ?

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.