กังวลเรื่องความตาย

Dhamma Daily: เพราะเหตุใดคนเราจึงมัก กังวลเรื่องความตาย อยู่ตลอดเวลา

เพราะเหตุใดคนเราจึงมัก กังวลเรื่องความตาย อยู่ตลอดเวลา

ถาม : ทำไมผมจึง กังวลเรื่องความตาย อยู่ตลอดเวลา เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คือสมัย ก่อนเวลาว่างๆ จิตเงียบๆ ผมจะชอบเข้าไปจนถึงความมืดมิด มืดสนิท จนไม่มีแม้ แต่ตัวเรา แต่แทนที่จะได้รับความสงบกลับกลายเป็นความกลัวเสียมากกว่า พอโตขึ้นก็เริ่มผูกโยงความรู้สึกนี้กับความตาย ว่าพอเราตายก็จะไม่มีจิตของเรา หรือจิตรับรู้ดวงนี้ต้องดับไป ทำให้ผมรู้สึกทรมานและกลัวมาก แต่ก่อนเป็นเฉพาะก่อนนอน แต่เดี๋ยวนี้ยิ่งเป็นบ่อยขับรถก็เป็น สอนหนังสืออยู่ก็เป็น ผมควรจะจัดการกับความคิดของตัวเองตรงนี้อย่างไรดีครับ

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ขอไขปัญหาข้อนี้ว่า

ตอบ : ในสมัยพุทธกาลมีสหาย 55 คนบรรลุธรรมเพราะมองเห็นความ “ไม่น่าอภิรมย์”  ของรูปร่างสังขารของคน พระอรรถกถาจารย์ ท่านเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า  เป็นเพราะสหายเหล่านั้นเคยเป็น “สัปเหร่อ” มาก่อน จิตจึงคุ้นชินแต่กับซากศพ สามารถมองทะลุความงามของคนจนเห็นเป็นความ ไม่งาม และในที่สุดก็บรรลุธรรมเพราะสภาพจิตที่เห็นความจริงอยู่แล้วแต่ชาติ ก่อนเป็นปัจจัยเกื้อหนุน

นี่คือตัวอย่างว่าบางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้น กับเราในปัจจุบันชาตินี้อาจมีที่มาจากความคุ้นชินในปางก่อนก็เป็นได้ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้พอๆ กับที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่อาจระลึกชาติได้ จึง ขอให้ฟังไว้พอเป็นเกร็ดชีวิตก็แล้วกันการระลึกถึงความตายนั้นมี 2 แบบ

1.  การระลึกถึงความตายด้วยความรู้เท่าทันสัจธรรมของชีวิตว่า มันเป็นของมัน อย่างนั้นเอง ทุกชีวิตเกิดมาล้วนต้องตาย(สัจธรรม)  แล้วดำรงชีวิตด้วยความ ไม่ประมาท (จริยธรรม) ระหว่างระลึกถึงความตายนี้ไม่มีความกลัวตายเกิดขึ้น  มีแต่ความรู้เท่าทันสัจธรรมล้วนๆ จิตจึงเกิดความสดชื่น รื่นเริง ผ่องใส  เพราะเข้าใจความจริง ดำรงชีวิตอย่างมีสติ เพียรทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด  อาการอย่างนี้ท่านเรียกว่า “การระลึกถึงความตายอย่างมีโยนิโสมนสิการ”  (อย่างแยบคาย อย่างถูกต้อง)

2. การระลึกถึงความตายแล้วเกิดความกลัว ตาย กลัวพลัดพราก หวั่นไหว ประหวั่นพรั่นพรึงต่อความตาย ทำอะไรไม่ถูก อาการ อย่างนี้ท่านเรียกว่า “การระลึกถึงความตายอย่างมีอโยนิโสมนสิการ” (อย่างไม่ แยบคาย อย่างไม่ถูกต้อง)

ในกรณีของคุณนั้นน่าจะเป็นอาการของความเคย ชินของจิต ที่คุณมักป้อนอารมณ์เกี่ยวกับความตายให้จิตบ่อยๆ พลอยทำให้จิต  “เสพคุ้น” จนเคยชิน ซึ่งอาการอย่างนี้หากทิ้งไว้ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก  เพราะธรรมดาว่า เมื่อจิตของเราคุ้นชินกับสิ่งใดพฤติกรรมก็จะโน้มเอียงไปใน ทางนั้น (จิตสั่งกาย เช่น คนที่กลัวว่าจะแพ้ในการแข่งขันทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ แข่ง ในที่สุดก็จะแพ้จริงๆนักมวยที่กลัวว่าจะถูกน็อก ในที่สุดก็จะถูกน็อก จริงๆ) ทางออกก็คือควรพยายามถอนตัวออกมาจากความเคยชินแบบเดิมนั้นให้ได้

วิธีการในทางปฏิบัติก็คือ การพยายามเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เพราะการ เจริญสติจะทำให้ “อยู่กับปัจจุบัน”คือมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอที่นี่และ เดี๋ยวนี้ คนที่อยู่กับปัจจุบันเป็นโอกาสที่จะหลุดเข้าไปในอดีตหรืออนาคต ย่อมจะมีน้อย อาการอย่างที่คุณเล่ามานั้น ในทางปฏิบัติคงต้องเรียกว่า “หลง อารมณ์ที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง” แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณสามารถฝึกตนจนสามารถ อยู่กับปัจจุบันได้และหล่อเลี้ยงอารมณ์ปัจจุบันเอาไว้เสมอ เมื่อชีวิตดำเนิน ไปบนความรู้สึกตัวล้วนๆ อาการหวาดผวาเพราะกลัวตายจะหายไปเองในที่สุด ย้ำอีก ครั้งหนึ่งว่า “อย่าตามอารมณ์ (สิ่งที่จิตคิด) แต่จงรู้อารมณ์ อย่าอยู่ใน อารมณ์แต่จงเห็นอารมณ์ และออกจากอารมณ์”  ทำเพียงเท่านั้นไม่นานจะดีขึ้นเอง

 

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต

ภาพ : www.pexels.com

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ 

ชายหนุ่มใจบุญ แบ่งเงินเยียวยา 5,000 บาทของตัวเองไปตระเวนแจกคนเร่ร่อน

ครูกศน.อำเภองาว ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันดับไฟป่าที่ลุกลามริมถนน

มาตรการการป้องกันโควิด-19 ในพระภิกษุ-สามเณรที่ชาวพุทธควรรู้ โดย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร)

มาดามแป้ง ลงคลองเตย ชวนแฟนท่าเรือ ทำหน้ากากอนามัยและสเปรย์แอลกอฮอล์ใช้เอง

ชีวิตคือความตาย” ธรรมะโดย หลวงพ่อโพธินันทะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.